เหตุการณ์พรานป่า ฆ่าเลียงผา ในพื้นที่แก่งกระจาน กำลังบอกอะไรกับเรา ?
หากพูดถึงพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ก็คงจะหนีไม่พ้นข่าวพรานล่าสัตว์ชำแหละชิ้นส่วน “เลียงผา” ซึ่งได้ลักลอบเข้าไปล่าสัตว์และเก็บหาของป่าในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติฯ
ขณะนี้ผู้ต้องหาทั้ง 2 ได้ติดต่อขอมอบตัวที่หน่วยพิทักษ์อุทยาน ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ภายหลังที่ตำรวจ สภ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ยื่นขออำนาจศาลจังหวัดเพชรบุรี ออกหมายจับนายแฮซะ จีบ้ง อายุ 53 ปี และนายนพดล จีบ้ง อายุ 24 ปี ชาวบ้านในตำบลห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
ทั้ง 2 ถูกดำเนินคดีใน 4 ข้อหาคือ ยิงปืนในเขตอุทยานแห่งชาติ, ครอบครองอาวุธปืนและเครื่องกระสุน, ร่วมกันครอบครองสัตว์ และซากสัตว์ป่าคุ้มครอง และร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง
ในอดีตการล่าสัตว์ป่าเป็นไปเพื่อการดำรงชีวิตคือล่าสัตว์เพื่อนำไปประกอบอาหารแบ่งกันกินในครอบครัวญาติพี่น้องหรือแจกจ่ายกับคนในชุมชนปัจจุบันการละเมิดกฎหมายด้านการคุ้มครองสัตว์ป่ายังคงปรากฏให้เห็นอยู่เรื่อยๆสังเกตได้จากการนำเสนอข่าวในหลายๆสำนักทั้งการยิงล่าสัตว์การลักลอบเพื่อการค้าการครอบครองอย่างผิดกฎหมายรวมไปถึงการล่าเพื่อประดับบารมี
เปิดสถิติ 8 ปี ย้อนหลัง สัตว์ป่าถูกลักลอบไล่ล่าร่วมแสนกว่าตัว
จากสถิติสำนักป้องกัน ปราบปรามและควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตั้งแต่ปี 2552-2559 มีคดีล่าสัตว์ป่าทั้งประเทศรวม 4,665 คดี พบผู้กระทำผิด 5,428 คน ยึดสัตว์ป่าของกลางได้ทั้งหมด 106,988 ตัว ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่าในระยะ 8 ปีที่ผ่านมา สัตว์ป่าเหล่านี้ถูกลักลอบฆ่าทิ้งไปแล้วแสนกว่าตัว และดูเหมือนว่าการลักลอบล่าสัตว์ป่าจะยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับสถิติที่ทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้มีการเปิดเผยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา พบว่าคดีลักลอบล่าสัตว์ป่าในปี 2561 ในระยะ 2 เดือนแรก เจ้าหน้าที่สามารถตรวจยึดสัตว์ป่าของกลางทั้งหมด 1,990 ตัว และพบผู้กระทำผิด 90 คน
พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 บทลงโทษเบาไปหรือไม่ ?
อ้างอิงข้อมูลจากการออกมาโพสต์ข้อมูลบนเฟซบุ้กของ ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ได้ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับ คดีของนายเปรมชัย CEO บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นต์ จำกัด (มหาชน) ชี้ให้เห็นถึงช่องว่างของ พ.ร.บ. ชุดนี้ในข้อที่ 2 ของโพสต์ ที่ได้พูดถึงปัญหาอัตราโทษกำหนดไว้ไม่เหมาะสม ซึ่งในเนื้อหาระบุว่า
“อัตราโทษที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ส่วนใหญ่แล้วเป็นอัตราโทษที่กำหนดไว้ดั้งเดิมตั้งแต่เมื่อพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าใช้บังคับในปี พ.ศ. 2535 จึงทำให้อัตราโทษจำคุกและโทษปรับที่กำหนดไว้ไม่เหมาะสมในบางฐานความผิด เมื่อได้พิจารณาถึงการบุกรุกทำอันตรายชีวิตสัตว์ป่าที่รุนแรงและมีมากขึ้นในสภาวะปัจจุบัน
โดยการกระทำความผิดฐานล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง มีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี โทษปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท ความผิดฐานล่าสัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี โทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท ความผิดฐานครอบครองสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน และซากของสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี โทษปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท เป็นต้น โดยอัตราโทษจำคุกและโทษปรับสูงสุดที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 คือโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท”
นอกจากนี้ในโพสต์ของดร.ธนกฤต ยังระบุอีกว่า พ.ร.บ ป่าสงวนแห่งชาติ ได้มีการแก้ไขอัตราโทษให้สูงขึ้น ทั้งโทษจำคุกและโทษปรับในหลายฐานความผิด โดยมีการแก้ไขครั้งล่าสุดเมื่อปี 2559 โดยกำหนดโทษจำคุกไว้สูงสุดถึง 20 ปี และโทษปรับไว้สูงสุดถึง 2 ล้านบาท
การทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า
มีความพร้อมสำหรับการป้องกันการกระทำผิดมากน้อยเพียงใด
กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ประกอบไปด้วย 3 อุทยานแห่งชาติ และ 1 เขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าคืออุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอุทยานแห่งชาติไทยประจันอุทยานแห่งชาติกุยบุรีและเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชีซึ่งการทำงานในแต่ละภาคส่วนนั้นมีการแบ่งพื้นที่อย่างชัดเจนเช่นการจัดการดูแลผืนป่าการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมการลาดตระเวนเป็นต้น
นายนริศ บ้านเนิน ผู้จัดการโครงการพัฒนาระบบงานอนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ให้สัมภาษณ์ว่า เดิมทีพื้นที่อุทยานได้มีการลาดตระเวนอยู่แล้ว แต่เป็นการทำงานแบบต่างคนต่างทำ ทำให้ปัญหาที่มีอยู่ถูกเก็บไว้แค่ในพื้นที่ ไม่มีการแชร์ข้อมูลร่วมกัน ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นจะเป็นบริเวณชายตะเข็บระหว่างพื้นที่ทำการอนุรักษ์ นายนริศมองว่า สิ่งสำคัญในการรักษาป่าใหญ่ต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและมีแผนการทำงานร่วมกัน
ด้วยเหตุนี้จึงเกิดโครงการพัฒนาระบบงานอนุรักษ์โดยการลาดตระเวนร่วมของกลุ่มป่าแก่งกระจาน ซึ่งเป็นแนวคิดที่ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียร พยายามที่จะขยายการจัดการป่าตะวันตกไปสู่กลุ่มป่าอื่นๆ โครงการนี้เป็นการรวม 3 อุทยานแห่งชาติ 1 เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า และพื้นที่ทหาร เข้ามาลาดตระเวนร่วมกัน ปัจจุบันโครงการได้มีการพูดคุยทิศทางการทำงานร่วมกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยแบ่งพื้นที่การลาดตระเวนเป็น 2 โซน โซนที่หนึ่งคือ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติไทยประจัน และเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ส่วนโซนที่สอง คือ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และพื้นที่ทหาร ซึ่งในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาได้มีการลาดตระเวนร่วมกันในโซนที่หนึ่งเป็นที่เรียบร้อยแล้วความคาดหวังของโครงการนี้ นายนริศมองว่าถ้าเราสามารถนับจุดเสี่ยงได้ทั้งหมดเช่นประตูทางเข้าป่าหรือช่องทางในอดีตที่เคยเกิดเหตุก็สามารถที่จะจัดการป่าได้