ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์ป่า และสถานภาพของสัตว์ป่าในปัจจุบัน
"คนและสัตว์ป่ามีความสัมพันธ์กันมาตั้งแต่อดีตกาล นับตั้งแต่สมัยหินเก่าประมาณ 2.5 ล้านปีมาแล้ว โดยเริ่มแรกคนต้องพึ่งธรรมชาติอย่างเดียว ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการล่าสัตว์และหาผลไม้รากไม้ใบไม้ป่า ยังไม่รู้จักเลี้ยงสัตว์ ไม่รู้จักการเพาะปลูก เร่ร่อนหาอาหารไปเรื่อยๆ ไม่อยู่เป็นหลักแหล่ง ต่อมาคนเริ่มผลิตอาหารเองโดยการปลูกพืชที่ใช้เป็นอาหาร และเริ่มเลี้ยงสัตว์ป่าไว้เป็นอาหารและใช้เป็นพาหนะ"
ถึงแม้ว่าคนในสมัยหินเก่าจะทำการล่าสัตว์ ก็ไม่ได้ล่าสัตว์ทุกชนิด คงล่าแต่สัตว์ป่าที่มีขนาดใหญ่บางชนิดเท่านั้น อย่าง หมี ช้าง แรด ม้า และวัวป่า เป็นต้น เพราะเมื่อล่าสัตว์ใหญ่ได้ตัวหนึ่ง ก็ได้เนื้อมากกว่าสัตว์เล็กหลายเท่า ต่อมาในสมัยหินเก่าตอนปลาย สมัยหินกลางและสมัยหินใหม่ คนเกิดความคิดว่าควรจะคัดเลือกสัตว์ป่ามาเลี้ยงเพื่อกินเนื้อหรือนมเป็นอาหาร เอากระดูกมาทำเครื่องมือ เอาหนังมาใช้ประโยชน์ในการทำเครื่องนุ่งห่มหรือทำเป็นกระโจม จึงได้มีการนำสัตว์ป่ามาเลี้ยงให้เชื่อง
แม้คนจะนำสัตว์ป่ามาเลี้ยงไว้แล้วก็ตาม การล่าสัตว์ป่าก็ยังคงทำกันต่อมา อีกเหตุที่ต้องฆ่าสัตว์อีกก็เพราะยังต้องการกินเนื้อสัตว์ เอากระดูกมาทำเครื่องมือและใบหอก นอกจากนี้ ยังฆ่าสัตว์ที่มารบกวนสัตว์เลี้ยงของตน เช่น หมาใน พังพอน เสือโคร่ง และแมวดาว ฯลฯ หรือฆ่าสัตว์ที่จะมาทำร้ายตน เช่น หมีควาย แรด ฯลฯ
การที่คนนำสัตว์ป่ามาใช้ประโยชน์ บางครั้งก็เป็นการทำลาย อาทิเช่น ที่ผู้นำหนูสีน้ำตาลที่มีกำเนิดอยู่ในทวีปเอเชียไปยังทวีปอื่น ทำให้หนูชนิดนี้แพร่ขยายไปทั่วโลก และกลายเป็นสัตว์ที่นำความเดือดร้อนมาให้คน ทั้งยังเป็นต้นเหตุให้นกที่บินไม่ได้ในทวีปและประเทศนิวซีแลนด์สูญพันธุ์ไป อย่างน้อย 20 ชนิด
เมื่อคนทำปืนไฟได้ นกและสัตว์ก็ถูกฆ่าเป็นจำนวนมาก คนบางพวกล่าสัตว์เพื่อการค้า สัตว์ที่เกือบจะสูญพันธุ์เพราะการล่าเพื่อการค้าก็มีลิงอุรังอุตัง ซึ่งมักจะถูกจับไปไว้ในสวนสัตว์ ปัจจุบันมีเหลืออยู่ประมาณ 5,000 ตัว เท่าที่ได้กล่าวมาแล้วจะเห็นว่า คนนำสัตว์ป่ามาใช้ทั้งในทางที่เหมาะสมและในทางที่เป็นการทำลายสัตว์ที่เป็น ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ
ในประเทศไทยก็มีสัตว์หลายชนิดถูกทำลายจนบางชนิดสูญพันธุ์ไปแล้วได้แก่ สมัน ที่มีอยู่เฉพาะในบริเวณที่ลุ่มตามลำน้ำเจ้าพระยาแห่งเดียวในโลก สูญพันธุ์ไปเพราะการถูกล่าและถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมถูกทำลายไปจนสิ้น หรือบางชนิดน่าจะสูญพันธุ์ไปเช่นเดียวกัน เพราะไม่มีข่าวการพบที่ใดอีกเลยในประเทศไทย ได้แก่ แรด กระซู่ กูปรี (ยังพอมีเหลืออยู่บ้างในประเทศเขมร) อีกหลายชนิดถูกทำลายเกือบจะสูญพันธุ์ อย่างเช่น ควายป่า ละองหรือละมั่ง เนื้อทราย กวางผา และเลียงผา เป็นต้น ถึงแม้รัฐบาลจะเห็นความสำคัญของทรัพยากรสัตว์ป่าโดยการประกาศพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2504 ก็ตาม สัตว์ป่าก็ยังถูกล่าทำลายทั้งโดยทางตรง คือ ล่าเพื่อเอาเนื้อมาเป็นอาหาร ล่าเพื่อเอาชิ้นส่วนของสัตว์ป่ามาใช้เป็นยาตามความเชื่อถือแบบเล่าต่อกันมา โดยไม่มีการพิสูจน์ว่าจริงเท็จหรือไม่ ล่าเพื่อเอาลูกมาขายให้แก่คนที่อยากจะเลี้ยงลูกของสัตว์ป่า ทั้งๆ ที่รู้ว่าการได้มานั้นแม่มันต้องถูกฆ่าตาย
สัตว์ป่าจำนวนมากต้องเสียชีวิตไปเพราะความอยากของคนที่ไม่เห็นคุณค่าความสำคัญของการมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ในป่าธรรมชาติอันเป็นถิ่นกำเนิดของมัน
สัตว์ป่าอีกหลายชนิดถูกล่าเพื่อการค้าสัตว์เป็นหรือซากของมันไปยังต่างประเทศ ถึงแม้จะมีข้อกำหนดทางกฎหมายทั้งในการล่าและการค้า แต่ในทางปฏิบัติแล้วยังไม่ได้รับการควบคุมให้เป็นไปอย่างถูกต้องและรัดกุม สัตว์ป่าจำนวนมากถูกส่งออกไปยังต่างประเทศโดยวิธีที่ถูกต้องตามกฎหมาย จากสถิติการส่งสัตว์ป่าเป็นสินค้าออกในปี 2528 เพียงปีเดียว (เฉพาะที่ผ่านด่านตรวจสัตว์ป่าที่ท่าอากาศยานกรุงเทพฯเท่านั้น) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 2,454 ตัว นก 16,932 ตัว สัตว์เลื้อยคลาน 247,743 ตัว สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 18,543 ตัว ส่วนที่เป็นซากสัตว์ป่า รวมทั้งสิ้น 190,334 กิโลกรัม และผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากซากของสัตว์ป่า รวม 303,049 ชิ้น รวมกันแล้วคิดเป็นมูลค่าทั้งหมดประมาณ 335 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีการซุกซ่อนส่งสัตว์ป่าออกนอกประเทศ โดยเลี่ยงกฎหมายและเจ้าหน้าที่อีกด้วย ทำให้สัตว์ป่าต้องได้รับการทรมานและเสียชีวิตไปในระหว่างการเดินทางอีกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากถูกบังคับให้อยู่ในภาชนะแคบๆ หรือไม่ก็ฉีดยานอนหลับหรือยาระงับประสาทให้สงบนิ่งอยู่เป็นเวลานานๆ หรือไม่ก็ทำการปลอมแปลงเอกสารการส่งออก โดยอาศัยความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่บางคนที่เห็นแก่อามิสสินจ้าง และขาดความรับผิดชอบต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรของประเทศ
แม้แต่ในบ้านของเราเองจะเห็นได้ว่า การค้าสัตว์ป่าเป็นธุรกิจที่ตั้งอยู่บนการทรมานสัตว์ อันเนื่องมาจากการเอาเปรียบและเห็นแก่ได้ของคนบางคน บนความเดือดร้อนลำเค็ญของบรรดาสัตว์ป่านานาชนิดที่ถูกนำมาขายทอดตลาด สัตว์ป่าที่ถูกนำมาวางขายต้องถูกขังกรงขาดอิสรภาพ ถูกบังคับให้กินอาหาร ต้องทนทุกข์ทรมานกับอากาศร้อนและอบอ้าว จนบางตัวเสียชีวิตไปก่อนถึงเวลาอันสมควร ลูกสัตว์หรือสัตว์เล็กๆ บางชนิดอาจจะดูน่ารักและน่าซื้อไปเลี้ยงสำหรับคนบางคน แต่ความรักและความปรารถนาดีนั้นมักจะไม่ยั่งยืน และแล้วมันก็จะถูกผูกมัดหรือขังให้ทรมานอยู่ในกรงโดยขาดการเอาใจใส่ดูแล เมื่อมันโตขึ้นและแสดงความเป็นสัตว์ป่าออกมาให้เห็น
สัตว์ที่นำมาขายส่วนมากจะเป็นลูกสัตว์และสัตว์โตที่อยู่ในสภาพของสัตว์ป่วยเสียเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากการพรากลูกพรากแม่หรือไม่ก็เพื่อจะถูกส่งมาจากคนที่รับจ้างจับมันมาจากป่า มีชีวิตอยู่เพื่อรอวันตายในอีกไม่ช้า
หลักฐานก็คือถังขยะหลังร้านค้าสัตว์กลายเป็นที่ฝังศพของสัตว์ป่าที่ไม่สามารถทนมีชีวิตอยู่ต่อไปในสภาพที่ถูกบังคับเช่นนั้นได้ สัตว์ป่าหวงห้ามอีกหลายชนิดถูกลักลอบค้าโดยการซุกซ่อน และพรางว่ามีไว้ในครอบครอง ไม่ได้เอามาขาย แต่สัตว์เหล่านั้นถูกเปลี่ยนหน้านำมาเดินในตลาดนัดไม่เว้นแต่ละวัน
ในเมื่อห้ามล่าและห้ามค้าแล้วก็สมควรห้ามการมีไว้ครอบครอง โดยไม่ต้องขออนุญาตเสียด้วย เพราะไม่เช่นนั้นแล้วสัตว์ป่าเหล่านั้นก็จะต้องจบชีวิตลงอย่างน่าอนาถ เพราะความเอาเปรียบของคนที่อาศัยช่องโหว่ของกฎหมายมาเอารัดเอาเปรียบสัตว์ป่าที่น่าจะมีคุณค่าต่อป่าและธรรมชาติที่มันอาศัยอยู่ คงจะไม่มีสัตว์ป่าตัวใดต้องการสละสิทธิ์ความมีอิสรภาพของมันเพื่อแลกกับเงินหรือความอยากของบางคนเป็นแน่
ในแต่ละปี สถิติการจับกุมผู้ต้องหาที่ละเมิดพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่ามีอยู่น้อยมากเพียงไม่กี่ราย ทั้งๆ ที่มีการลักลอบล่าสัตว์ป่าและค้าสัตว์ป่ากันอย่างโจ่งแจ้ง แม้แต่ในเขตสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเองก็ตาม ร้านค้าอาหารมีรายการเนื้อสัตว์ป่าให้ลิ้มรสไม่เว้นแต่ละวัน และสามารถหากินได้ง่ายเหมือนเนื้อหมู เนื้อวัวจากโรงฆ่าสัตว์ เพราะมันมีราคาดีและมีคนอยากกิน โดยไม่มีความรู้สึกว่าตัวเองได้มีส่วนช่วยในการทำลายให้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยหมดสิ้นไปโดยเร็ว และเมื่อมันสูญสิ้นไปแล้ว ก็ไม่มีวันที่จะหวนคืนกลับมาอีก โครงการเพื่อรณรงค์เพื่อรักษาที่ทำอยู่ในปัจจุบัน แม้แต่การปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติดั้งเดิม ต้องลงทุนเป็นร้อยเป็นพันล้านบาท ก็ยังหาได้ประสบผลสำเร็จไม่ ฉะนั้นถ้าไม่รู้คุณค่าและร่วมมือกันในการใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องแล้ว เราจะเหลือทรัพยากรใดไว้สำหรับพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองของประเทศได้อีกในวันข้างหน้า
นอกจากสัตว์ป่าจะถูกล่าโดยทางตรงแล้ว สาเหตุที่ทำให้สัตว์ป่าลดจำนวนลงจนบางชนิดสูญพันธุ์ไปจากถิ่นกำเนิดดั้งเดิม เพราะป่าไม้ซึ่งเป็นเสมือนบ้านที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารถูกทำลายลงด้วยการให้สัมปทานป่าไม้ การบุกรุกขยายพื้นที่ทำกินของราษฎรที่เพิ่มจำนวนประชากรมากขึ้นทุกๆ วัน การพัฒนาพลังงานไฟฟ้าด้วยการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ การเปลี่ยนสภาพป่าดั้งเดิมตามธรรมชาติให้เป็นแปลงปลูกต้นไม้โตเร็ว เป็นต้น
สาเหตุเหล่านี้ทำให้ป่าไม้ธรรมชาติซึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งหลบภัย สำหรับสัตว์ป่าเหลืออยู่น้อยเต็มที พื้นที่ป่าตันน้ำลำธารสำคัญๆ ของประเทศเหลืออยู่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนพื้นที่ป่าธรรมชาติที่เหลืออยู่กระจัดกระจายเป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อยทั่วประเทศในรูปของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และอุทยานแห่งชาติมีอยู่ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ
ในปี 2528 องค์การ เอฟ.เอ.โอได้สำรวจพบและรายงานไปทั่วโลกกว่า ประเทศไทยมีการทำลายป่าสูงสุดเป็นอันดับสองของโลก รองจากประเทศเพื่อนบ้าน คือ อินโดนิเซีย อัตราการทำลายป่าสูงถึงปีละประมาณ 3.5 ล้านไร่ โดยไม่รวมไปถึงการทำลายทุ่งหญ้าชายป่าและหนองบึงขนาดใหญ่ สภาพพื้นที่แต่ละแห่งย่อมมีความสำคัญต่อสัตว์ป่าแตกต่างไปตามชนิดของมัน สัตว์ป่าขนาดใหญ่อย่างเช่น ช้างป่า มีพื้นที่หากินตามฤดูกาลกว้างขวางมากกว่า 165 ตารางกิโลเมตรต่อโขลงต่อปี มันต้องการทั้งสภาพที่เป็นป่าดงดิบในฤดูแล้งที่สภาพพื้นที่ไม่ชื้นแฉะมากนัก และป่าโปร่งหรือทุ่งหญ้าในฤดูฝนที่มีหญ้าระบัด หรือสมเสร็จชอบอาศัยอยู่ในป่าดงดิบชื้นที่มีแหล่งน้ำ หรือกวาง วัวแดง เก้ง ชอบอาศัยอยู่ตามป่าโปร่งจำพวกป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณที่มีทุ่งหญ้าอยู่ตามพื้นที่ป่า นกบางชนิดชอบอาศัยอยู่เฉพาะในป่าดงดิบ แต่บางชนิดเป็นนกที่ปรับตัวอยู่ได้เฉพาะในบริเวณป่าในที่ลุ่มต่ำเท่านั้น เหล่านี้เป็นต้น แสดงว่าการป้องกันมิให้ป่าไม้ถูกทำลายไปแม้เพียงอย่างเดียวก็ยังไม่พอเพียง จะต้องมีป่าชนิดต่างๆ หรือแม้แต่ทุ่งหญ้า หนองน้ำ ป่าโปร่ง และที่ลุ่มต่ำไว้อย่างพอเพียง ต่อการรักษาพันธุ์ของสัตว์ป่านานาชนิดที่มีความต้องการแตกต่างกันไป
แต่สิ่งที่จะขาดไม่ได้คือความสัมพันธ์ของสัตว์ป่าแต่ละชนิดและป่าไม้แต่ละประเภท ที่ต้องอาศัยพึ่งพาซึ่งกันและกัน เมื่อตัวใดตัวหนึ่งขาดหายไป ย่อมจะมีผลกระทบต่อวงจรชีวิตที่ได้ปรับตัวกันอย่างเคยตามธรรมชาติมาเป็นเวลานับร้อยนับพันปีมาแล้ว เช่นเดียวกับเครื่องยนต์ที่ประกอบไปด้วยส่วนต่างๆ มากมาย แม้จะมีขนาดเล็กและดูอ่อนแอ แต่ถ้าขาดไปหรือไม่สามารถทำหน้าที่ของมันได้เต็มที่ ย่อมทำให้เครื่องยนต์ทั้งเครื่องไม่สามรถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ และถ้าสิ่งที่ขาดหรือชำรุดไปเป็นส่วนสำคัญของเครื่องแล้ว การจะแก้ไขให้คืนสู่สภาพเดิมได้อีกย่อมทำได้ยาก และในที่สุดเมื่อหมดหนทางที่จะซ่อมแซม เพราะไม่สามารถหาส่วนอื่นใดมาทดแทนได้อีกต่อไปอีก เครื่องยนต์เครื่องนั้นย่อมถึงวันอวสานแห่งการดับสูญและไม่สามารถทำหน้าที่ของมันต่อไปได้อีก
นอกจากป่าไม้ แหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหารและสถานที่หลบภัยของสัตว์ป่าจะถูกทำลายลงไปแล้ว การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการผลิตให้ได้ผลผลิตเป็นปริมาณมากโดยใช้พื้นที่น้อย หรือการใช้เครื่องจักรกลเข้ามาแทนแรงงานคนและสัตว์เลี้ยง ซึ่งเคยเป็นเสมือนมือเหมือนเท้าของคน 80 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ทำให้เกิดการสูญเปล่าของแรงงานและเกิดมลภาวะต่างๆ ติดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวอย่างเช่น การใช้สารเคมีและปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ทำให้เกิดสารตกค้างที่สะสมอยู่ในห่วงโซ่อาหารมาจนถึงมนุษย์ที่เป็นผู้บริโภคคนสุดท้ายของห่วงโซ่นั้น
สารเคมีบางอย่าง เช่น ดีดีที ถูกห้ามใช้แล้วในประเทศที่รู้พิษภัยของมัน แต่ประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยยังคงกลายเป็นพื้นที่รองรับสารพิษ สิ่งที่ไม่ต้องการของประเทศเจริญทั้งหลายทางเศรษฐกิจ และเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ที่คนส่วนใหญ่ยังคงอดอยากและขายแรงงานแลกเศษเงินที่นักลงทุนชาวต่างชาติ และคนบางคนที่ไม่เคยเห็นคุณค่าของแผ่นดินที่ตนเกิด และได้อาศัยชีวิตอยู่จนปัจจุบันเอามาเป็นเครื่องบังหน้า เหมือนเช่นนักการเมืองที่เอาเงินล่อให้ชาวบ้านที่หมดหนทางไปลงคะแนนเสียงให้ เพื่อจะเข้าไปนั่งเป็นผู้แทนที่ไม่มีชีวิตและวิญญาณของความจริงใจที่จะช่วยเหลือผู้ที่เลือกตนเข้ามา
ในปี 2530 ได้มีการนำเข้าสารกำจัดแมลงสารกำจัดวัชพืชและเชื้อราเข้ามาในประเทศเป็นมูลค่าถึง 1,300 ล้านบาท ไม่มีใครพูดถึงหรือเป็นห่วงเป็นใยต่อสารพิษที่ตกค้างอยู่หลังการใช้สารเคมีเหล่านั้น ทั้งๆ ที่มีตัวอย่างให้เห็นในต่างประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลาย จึงเหมือกับว่าประเทศที่กำลังพัฒนามาอย่างประเทศไทย คือถังขยะของโลกที่ประเทศพัฒนาแล้วมาตักตวงเอาทรัพยากรที่ยังเหลืออยู่ไปใช้ ประโยชน์ และทิ้งสิ่งที่ตัวเองไม่ต้องการเอาไว้ให้ลูกหลานไทยที่เกิดมาแล้วและกำลังจะเกิดมา (คนส่วนใหญ่ของประเทศที่กำลังยากจน) ผจญกับปัญหาที่คนรุ่นก่อนๆ ได้ทิ้งเอาไว้ให้
ประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลายต่างเรียนรู้ถึงการทำลายทรัพยากรธรรมชาติของตนเอง และกำลังหันมาช่วยกันรักษาทรัพยากรที่มีเหลืออยู่ในภูมิภาคส่วนอื่นของประเทศที่กำลังพัฒนาให้ยังคงอยู่และอำนวยประโยชน์ต่อไปในอนาคต
แต่อย่างไรก็ตาม การอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างใดอย่างหนึ่ง มิได้หมายถึงการเก็บรักษาโดยไม่นำมาใช้ประโยชน์ แต่เป็นการใช้อย่างถูกต้องโดยวิธีที่จะใช้ให้ทรัพยากรที่เหลืออยู่ดังกล่าว สามารถอำนวยประโยชน์ไม่เฉพาะทางใดทางหนึ่ง แต่สามารถอำนวยประโยชน์ให้ในทุกๆ ด้าน และยังคงมีเหลืออยู่มากพอที่จะเป็นทุนให้เกิดการพอกพูนขึ้นมาให้ใช้ประโยชน์ได้อีก และยั่งยืนต่อไปในอนาคต
ดังนั้น ผลที่จะเกิดขึ้นจากการอนุรักษ์ มิได้เป็นประโยชน์เฉพาะคนที่อยู่ในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังคงสามารถอำนวยประโยชน์ต่อไปชั่วลูกชั่วหลานต่างหาก