'ดิวาลี'แม่แบบลอยกระทง ส่วนที่อื่นก็อปปี้
ผู้เขียนมีทฤษฎีของตัวเองว่า ลอยกระทงมาจากอินเดีย และวิวัฒนาการมาจากเทศกาลดิวาลีของศาสนาพราหมณ์ฮินดูที่มาแต่โบราณ เป็นการใช้การบูชาเทพด้วยการจุดไฟดวงเล็ก ๆ ไปทั่ว
ต่างกันตรงพิธีดิวาลีเป็นการจุดไฟบูชาวางบนบก (บนพื้น) ขณะที่ลอยกระทง คือการจุดไฟลอยแม่น้ำคงคา (Gangha) ก่อนจะประยุกต์ไปสู่การบูชาแม่น้ำทั่วไปในชนชาติอื่น ๆ
ลอยกระทงของเดิมก็ไม่ใช่กระทง เป็นแค่ตะเกียงหรือใบไม้พับอันเล็ก ๆ เหมือนกับที่ใช้กับเทศกาลดิวาลี ก็เป็นพิธีที่สวยดี ก็เป็นการเล่นกับไฟ เทศกาลจัดก่อนลอยกระทงไม่นาน
เทศกาลดิวาลี ว่าไปแล้วก็เป็นเหมือนเทศกาลปีใหม่ของอินเดีย อยู่ในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี ซึ่งคนอินเดียมักจะให้ของขวัญกัน แถมด้วยการแจกอั่งเปากันอย่างดุเดือด
ดิวาลี (Diwali) (ทางภาคใต้เขาเรียกว่า ดีปาวาลี-Deepavali) หมายถึงเทศกาลแห่งแสงสว่าง ตามตำนานเล่าว่าเป็นการเฉลิมฉลองวันที่พระรามเสด็จนิวัติกรุงอโยธยาเพื่อขึ้นครองราชสมบัติ หลังจากที่รบชนะทศกัณฐ์ บางตำนานก็เล่าว่าเป็นการเฉลิมฉลองพระลักษมี เทพแห่งความมั่งคั่ง บ้างก็ว่าเป็นการฉลองชัยของพระกฤษณะต่อยักษ์นรักขสุรา ก็ขึ้นอยู่กับว่าท้องที่ใดจะเชื่อกันแบบไหน
ไม่ว่าความหมายจะเป็นอย่างไร คนอินเดียก็ฉลองกันเต็มที่ แจกอั่งเปาแหลก เลี้ยงฉลองกันไม่เลิก และจุดพลุสนั่นหวั่นไหวเจ็ดวันเจ็ดคืน
ในภาคเหนือแม่บ้านจะลุกขึ้นมาสวดมนต์แต่เช้าเพื่อขอให้เทพประทานพรให้กับสามีหรือพ่อให้อายุยืน ส่วนในภาคใต้ซึ่งคนส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาคเกษตรก็จะทำพิธีบายศรีให้กับโค-กระบือที่มีบุญคุณต่อเกษตรกร
อันที่จริงปัจจุบันเทศกาลดิวาลีไม่ได้เกี่ยวข้องกับศาสนามากเหมือนเมื่อก่อน แต่เป็นการเฉลิมฉลองชีวิตใหม่หรือการเริ่มต้นใหม่ๆ ในสิ่งดีๆ ลาทีสิ่งเก่า สวัสดีสิ่งใหม่ๆ เช่นเดียวกับปีใหม่ไทย