เตือน!!!คนเลี้ยงแมวระวัง!! ... โรคเชื้อราแมว
เตือน!!!คนเลี้ยงแมวระวัง!! ... โรคเชื้อราแมว
ข่าวร้ายสำหรับผู้รักสัตว์ โดยเฉพาะแมว เพราะหากดูแลแมวไม่ดี แมวอาจกลายเป็นพาหนะนำเชื้อโรคมาสู่ทางผิวหนังของผู้เลี้ยงได้ เช่นเชื้อรา ซึ่งผู้ป่วย จะมีผื่นวงแดงตามร่างกาย มีอาการคันและมีโอกาสลุกลามไปทั่วร่างกาย โดยเชื้อรานี้สามารถแพร่จากสัตว์สู่คน และคนสู่คนได้
แมว สัตว์เลี้ยงคู่บ้านของผู้รักสัตว์ แต่ถ้าหากดูแลไม่ดี แมวอาจกลายเป็นพาหนะนำโรคผิวหนังมาสู่เจ้าของได้ เช่น เชื้อรา ซึ่งหากแมวมีอาการคัน ขนร่วงเป็นหย่อมๆ มีตุ่มเล็กๆขึ้นตามผิวหนัง หรือเป็นสะเก็ด ขนเริ่มร่วง นั่นแสดงว่า แมวเป็นตัวสะสมของสปอร์ของเชื้อราที่สามารถแพร่ระบาดจากสัตว์สู่คนและจากคนสู่คนได้ ผ่านการสัมผัสบริเวณผิวหนังที่ติดเชื้อรา ซึ่งนอกจากแมวแล้ว สปอร์เชื้อรายังสามารถสะสมในสัตว์ขนยาวขนาดเล็ก เช่น สุนัข และกระต่ายเป็นต้น
โดยแหล่งเพาะเชื้อราชนิดนี้มี 3 แหล่ง คือ ขนของสัตว์เลี้ยง ที่สามารถติดไปสู่สัตว์อีกตัวได้ และเป็นทั้งแบบแสดงอาการและไม่แสดงอาการ ,ตามพื้นดิน,และผิวหนังของมนุษย์ โดยเชื้อราจะอยู่ในสภาพแวดล้อมได้ถึง 1 ปี และใช้เวลาเพาะเชื้อประมาณ 2-18 วัน
สำหรับการแพร่เชื้อสู่คน จะเกิดในกรณีที่ผู้เลี้ยงสัตว์ สัมผัสสปอร์เชื้อราโดยตรง โดยจะเกิดผื่นวงแดง ผิวหนังรอบวงเป็นขุยขาว มีอาการคัน และผ่านไป2-3วันจะกลายเป็นปื้นแดงขยายวงกว้างขึ้น ซึ่งทางการแพทย์ผิวหนังระบุเป็นโรคกลากชนิดหนึ่ง สามารถลุกลามได้ทั่วร่างกาย ถ้ามือที่เกาผื่น ไปสัมผัสส่วนอื่นของร่างกาย รวมทั้งสามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คน หากมีการสัมผัสผื่นและไปสัมผัสร่างกายผู้อื่น
ขั้นตอนการรักษา ทางแพทย์ด้านผิวหนังจะขูดสะเก็ดผิวที่ผื่น เพื่อนำไปส่องดูเส้นเชื้อราผ่านกล้องจุลทรรศน์ เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นเชื้อราจากสัตว์เลี้ยง จากนั้นแพทย์จะให้ยาฆ่าเชื้อรา ซึ่งเป็นยาเฉพาะทาง โดยให้ทั้งยารับประทานและทาควบคู่กันโดยยารับประทานจะเป็นยาไคลโตรมาโซล ยาต้านเชื้อราและเฟ็กโซเฟนนาดีน เป็นยาแก้แพ้ แก้คัน ส่วนยาทา ต้องทา 2 ชนิดควบคู่กัน คืออีโคโซนครีม ยาฆ่าเชื้อราผสมสเตียรอยด์ ซึ่งห้ามใช้ติดต่อกันเกิน 3 วัน และไอคราโครนาโซน เป็นยาทาป้องกันเชื้อรา ทั้งนี้การรักษาจะต้องปฎิบัติอย่างต่อเนื่องประมาณ 4 สัปดาห์ อาการติดเชื้อจะหายขาด แต่รอยผื่นยังต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือน
ทั้งนี้การป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ จะต้องมีการแยกอุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนตัวของผู้ป่วย ที่สัมผัสกับผื่นเชื้อรา เช่น เสื้อผ้า ชุดชั้นใน ออกจากเครื่องใช้ของผู้อื่น และทำความสะอาดอุปกรณ์ของสัตว์เลี้ยง และต้องอาบน้ำสัตว์เลี้ยงด้วยแชมพูฆ่าเชื้อราอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากผู้เลี้ยงหายจากอาการโรคแล้ว แต่ถ้าไม่ทำความสะอาดอุปกรณ์สัตว์เลี้ยงก็อาจจะติดเชื้อซ้ำได้