ปลาปักเป้า และพิษปลาปักเป้า
ปลาปักเป้า และพิษปลาปักเป้า
ปลาปักเป้า (puffer fish) เป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจน้อย เพราะไม่นิยมนำมาบริโภค เนื่องจากปลาปักเป้าบางชนิดมีพิษรุนแรงที่ทำให้ถึงตายได้ แต่ก็มีบางชนิดที่นำมารับประทานได้ เช่น ปลาปักเป้าหลังสีน้ำตาล ซึ่งเป็นปลาปักเป้าทะเล ที่จับได้จากการทำประมงปลาชนิดอื่น ส่วนปลาปักเป้าน้ำจืด ส่วนใหญ่จะมีพิษ และไม่เป็นที่นิยมนำมารับประทานในทุกชนิด โดยเนื้อปลาปักเป้าที่มีการจำหน่าย และนำมารับประทานจะมีเนื้อคล้ายเนื้อสันของไก่ ทำให้เรียกทั่วไปว่า ปลาเนื้อไก่
ภาพจาก PinkyPiggu
ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศหนึ่งที่นิยมรับประทานเนื้อปลาปักเป้ามาก ซึ่งชาวญี่ปุ่นจะเรียกเนื้อปลาปักเป้าว่า “Fuku” ทั้งนี้ สาเหตุที่เนื้อปลาปักเป้าเป็นที่นิยม และมีราคาแพงในประเทศญี่ปุ่น ก็เพราะเมื่อกินปลาปักเป้าแล้วจะเกิดอาการชาปาก และลิ้น รวมถึงมีอาการร้อนวูบวาบเกิดขึ้น ทำให้เป็นความท้าทายของคนที่จะเริ่มหรือลองรับประทานเนื้อปลาชนิดนี้ หรือเรียกว่า “Fuku experience”
ปลาปักเป้าที่พบในน้ำจืด และน้ำเค็มมีมากกว่า 100 ชนิด และมีประมาณ 50 ชนิดที่มีพิษ และในประเทศไทยมีปลาปักเป้าประมาณ 20 ชนิด มีทั้งปลาปักเป้าน้ำจืด ได้แก่ ปลาปักเป้าเขียว ปลาปักเป้าเหลือง ปลาปักเป้าบึง และปลาปักเป้าทอง เป็นต้น ส่วนปลาปักเป้าทะเล ได้แก่ ปลาปักเป้าหลังแดง ปลาปักเป้าหนามทุเรียน ปลาปักเป้าดาว เป็นต้น
ชื่อสามัญ
– Puffer fish
– Balloon fish
– Sweel fish
– Porcupine fish
ลักษณะทั่วไป
ปลาปักเป้าทะเล และปลาปักเป้าน้ำจืด เป็นปลาที่ไม่มีกระดูกสันหลัง และมีลักษณะคล้ายกัน ลำตัวยาวไม่เกิน 30 ซม. โดยปลาปักเป้าทะเลมีลำตัวค่อนข้างกลม แต่สายพันธุ์ลำตัวมีลักษณะเป็นเหลี่ยม มีช่องเหงือกขนาดเล็ก ไม่เกล็ดบนลำตัว แต่เกล็ดจะเปลี่ยนรูปเป็นหนาม หรือแผ่นกระดูกรูปต่างๆ ส่วนปลาปักเป้าน้ำจืดมีลักษณะลำตัวค่อนข้างกลม และมีขนาดเล็กกว่าปลาปักเป้าทะเล หัวมีลักษณะสั้น และทู่ ตามีขนาดใหญ่ มีจมูกเป็นท่อยื่นออกมาเล็กน้อย ผิวหนังลำตัวมีหนามขนาดเล็ก และสั้นปกคลุม ซึ่งจะสั้น และเล็กกว่าปลาปักเป้าทะเล บริเวณข้างลำตัวมีแถบเส้น 1 เส้น หรือบางพันธุ์ไม่มีเส้นข้าง และพบจุดสีดำหรือสีอื่นๆบนลำตัว ผิวหนังส่วนหลังมีสีเข้มกว่าด้านท้อง ส่วนครีบประกอบด้วยก้านครีบหลัง 12-15 ก้าน มีลักษณะกลม ก้านครีบก้น 9-12 ก้าน มีลักษณะกลม และก้านครีบหู 20-24 ก้าน มีลักษณะตัดตรง
ชีววิทยาของปลาปักเป้า
ปลาปักเป้าทั้งในน้ำทะเล และน้ำจืด เป็นปลาที่มีนิสัยดุร้าย และมีฟันแหลมคม ชอบอยู่กับที่ และว่ายน้ำช้าๆ แต่จะว่ายพุ่งตัวเร็วเมื่อตกใจหรือมีศัตรูเข้าใกล้ หากถึงสถานการณ์ฉุกเฉินที่ต้องเอาตัวรอดหรือเวลาถูกจับอยู่บนบก ปลาปักเป้าจะสูบลมเข้าท้อง (หากอยู่ในน้ำจะพุ่งตัวขึ้นเหนือน้ำแล้วสูบลมเข้าท้องหรือบางตัวจะสูบน้ำเข้าท้อง) ทำให้ลำตัวพองโต แลดูไม่มีชีวิต และเมื่อปลอดภัยแล้วก็จะปล่อยลมหรือน้ำออกเหมือนเดิม นอกจากนั้น ปลาปักเป้าสามารถทำเสียงดังกอดๆ ด้วยการบดฟันที่ขากรรไกรหรือใช้การสั่นของถุงลมในลำตัว
ปลาปักเป้า เป็นปลากินเนื้อ โดยมีฟันแหลมคมที่สามารถกัดฉีกเนื้อได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงฟันสามารถกัดกะเทาะกระดองหินปูนของหอยหรือปูได้ ซึ่งอาหารส่วนใหญ่ของปลาปักเป้าจะเป็นปลาขนาดเล็ก ปู กุ้ง และหอยชนิดต่างๆ
จากการทดลองนำปลาปักเป้ามาปล่อยร่วมกับหอยเปลือกบาง และหอยคัน พบว่า หอยส่วนมากจะลอยขึ้นเหนือน้ำ และมีบางส่วนที่ถูกปลาปักเป้ากัดเปลือกหอยทะลุ และกัดกินเนื้อภายใน และศึกษากับหอยหลายชนิด พบว่า ปลาปักเป้าทำให้หอยที่ปล่อยร่วมกับปลาปักเป้ามีการอพยพหนีจากแหล่งเดิมได้ ดังนั้น หากต้องการกำจัดหอยบางชนิด เช่น หอยคัน ก็สามารถนำปลาปักเป้ามาปล่อยเลี้ยงก็จะได้ผล
สถานะปลาปักเป้าทางด้านการเป็นอาหาร
ในช่วง ปี 2545 มีผู้รับประทานปลาปักเป้าแล้วทำให้เสียชีวิตจนออกเป็นข่าวตามหนังสือพิมพ์ จนทำให้กระทรวงสาธารณสุขประกาศเป็นกฎหมายที่ห้ามมีการผลิต ห้ามนำเข้า หรือห้ามจำหน่ายปลาปักเป้า และอาหารที่มีส่วนผสมของเนื้อปลาปักเป้าทุกชนิด (ฉบับที่ 264 พ.ศ. 2545)
พิษจากปลาปักเป้า และอาการของพิษ
ปลาปักเป้าทั้งในน้ำจืด และน้ำเค็มจะมีสารพิษชนิดรุนแรงที่ชื่อว่า tetrodotoxin (TTX) ซึ่งเป็นสารอัลคาลอยด์ (alkaloid) ที่ทำให้เกิดพิษยับยั้งระบบกระแสประสาท พิษชนิดนี้จะพบมากในเครื่องไน และไข่ปลา ส่วนในเนื้อจะพบในปริมาณน้อยมากหรือไม่มีเลย และจะมีพิษมากในช่วงฤดูวางไข่
สารพิษ tetrodotoxin (TTX) ในปลาปักเป้ามีสูตรทางเคมี C11H17O8N3 เมื่อสกัดจะได้ผงสีขาว มีคุณสมบัติละลายน้ำ และแอลกอฮอล์ได้ดี สามารถทนความร้อนได้สูงถึง 220 องศาเซลเซียส ทั้งในสภาพเป็นกลาง และกรด แต่จะเสื่อมสภาพได้ในสภาพที่เป็นด่าง ดังนั้น การปรุงอาหารที่ผ่านความร้อนทั่วไปจนถึงระดับเดือดหรือปิ้งย่างจะไม่ทำให้ความเป็นพิษของสารชนิดนี้เสื่อมได้ ส่วนอนุพันธ์ของ tetrodotoxin จะไม่แสดงความเป็นพิษต่อร่างกาย ได้แก่
– anhydrotetrodotoxin (anh-TTX)
– 4-epi-tetrodotoxin
ปลาปักเป้าทะเลเกือบทุกชนิดจะมีพิษ tetrodotoxin โดยเฉพาะปลาปักเป้าหลังเขียว ซึ่งถูกจับ และนำมารับประทานจนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่มีบางชนิดที่ไม่มีพิษ คือ ปลาปักเป้าหลังสีน้ำตาล ส่วนปลาปักเป้าน้ำจืด พบชนิดที่มีพิษในชนิดที่ด้านหลังมีสีมีความเป็นพิษเช่นกัน
ปริมาณสารพิษ Tetrodotoxin ที่กำหนดในอาหาร
ในประเทศไทยไม่มีการกำหนดปริมาณสารพิษที่ยอมให้มีในอาหารได้ แต่จะเป็นประกาศที่ห้ามทั้งการผลิต การจำหน่าย ดังที่กล่าวข้างต้น ส่วนต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น และเกาหลี ซึ่งมีการนำปลาปักเป้ามารับประทาน ได้กำหนดปริมาณสารพิษ Tetrodotoxin ในเนื้อปลาหรือผลิตภัณฑ์อาหารที่ต้องมีค่าไม่เกิน 10 Mouse Unit /g (flesh) หรือไม่เกิน 20 ppm โดยที่ 1 Mouse Unit คือ ปริมาณสารพิษที่น้อยที่สุดที่ทำให้หนูขาวตัวผู้ที่มีน้ำหนักตัวขนาด 20 กรัม ตายภายใน 5 นาที หรือเท่ากับ 2 ไมโครกรัม/กรัม (2 ppm) นอกจากนั้น ในร้านอาหารที่มีการปรุงอาหารเนื้อปลาปักเป้าจะต้องมีใบประกาศรับรองที่ได้ผ่านการอบรมการชำและ และการปรุงอาหารจากเนื้อปลาปักเป้า
การเกิดพิษ และอาการของพิษ
พิษ tetrodotoxin หลังการรับประทานปลาปักเป้าจะออกฤทธิ์ภายใน 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง แต่บางรายอาจใช้เวลานานถึง 4 ชั่วโมง ซึ่งสารพิษจะเข้ายับยั้งการทำงานของสารสื่อกระแสประสาท เช่น โซเดียม บริเวณผนังเส้นประสาท ทำให้โซเดียมผ่านเข้าไปในเซลล์กระแสประสาทไม่ได้ ส่งผลต่อระบบกระแสประสาทไม่ทำงาน กล้ามเนื้อหดตัวไม่ได้ จนมีอาการเกร็ง และเป็นอัมพาตทั้งตัว รวมถึงการทำงานของกล้ามเนื้อที่สำคัญเกิดการล้มเหลว เช่น กล้ามเนื้อหัวใจ และกล้ามเนื้อปอด ทำให้ผู้ได้รับพิษหายใจไม่ออก หัวใจไม่ทำงาน จนถึงเสียชีวิตในที่สุด
อาการเบื้องต้น แบ่งเป็น 4 ระยะ
– ระยะที่ 1 ผู้ได้รับพิษจะมีอาการชาที่ริมฝีปาก ลิ้น ขากรรไกรแข็ง และมีอาการปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน
– ระยะที่ 2 ต่อมามีอาการชาที่อวัยวะส่วนต่างๆมากขึ้น เช่น นิ้วมือ และเท้า แขนขาอ่อนแรง และยืนทรงตัวไม่ได้
– ระยะที่ 3 เคลื่อนไหวอวัยวะไม่ได้ พูดไม่ชัดหรือพูดไม่ได้ เนื่องจากล่องเสียงเป็นอัมพาต
– ระยะที่ 4 กล้ามเนื้อ และอวัยวะภายในเป็นอัมพาต หัวใจไม่ทำงาน และเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ได้รับพิษในปริมาณน้อยจะมีอาการเพียงระยะที่1 หรืออาจถึงระยะที่ 2 เท่านั้น ซึ่งจะคล้ายกับอาการชาที่ลิ้น และปากของคนญี่ปุ่นดังที่กล่าวข้างต้น
การแก้พิษปลาปักเป้า
สารพิษจากปลาปักเป้ายังไม่มียาที่ใช้กำจัดพิษ แต่จะใช้วิธีการรักษาเพื่อลดพิษ และบรรเทาอาการ เช่น การทำให้อาเจียน การให้ยาขับปัสสาวะ และการเปลี่ยนถ่ายเลือด เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีรายงานผู้ที่เคยได้รับพิษจากการรับประทานไข่แมงดาทะเลจนเกือบจะเสียชีวิต แต่ก่อนที่จะเข้ารับการรักษาได้ใช้รางจืดดื่มแก้พิษจนทำให้อาการทุเลาลงได้ ดังนั้น รางจืดอาจจะมีประสิทธิภาพในการกำจัดหรือทำลายพิษจากปลาปักเป้าได้เช่นกัน