คลังจ่อควักเงินกองทุนแบงก์รัฐอุ้มธนาคารอิสลาม 1.6 หมื่นล้านบาท
นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)แถลงแผนใช้เงินกองทุนแบงก์รัฐ 1.6 หมื่นล้านบาทอุ้มธนาคารอิสลามเพิ่มทุนล้างขาดทุนสะสมกว่า 5หมื่นล้านบาท ขณะนี้รอแก้กฏหมายของธนาคารอิสลามก่อน
31 กรกฎาคม 2561- นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารและอำนวยการในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (กองทุนแบงก์รัฐ) เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้ประชุมเตรียมพร้อมสำหรับการดำเนินการใช้เงินของกองทุนที่มีอยู่ล่าสุด 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากมีการดำเนินการใช้ได้เร็ว ก็จะเป็นผลดีต่อแบงก์รัฐให้มีความเข้มแข็ง ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวได้มากขึ้น
สำหรับแผนการใช้เงินของกองทุนแบงก์รัฐล่าสุดประกอบกอบด้วย 3 เรื่อง ในเรื่องแรกเป็นเป็นการเพิ่มทุนให้กับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) จำนวน 1.6 หมื่นล้านบาท จากการเพิ่มทุนทั้งหมด 1.8 หมื่นล้านบาท โดยใช้เงินจากงบประมาณอีก 2 พันล้านบาท ซึ่งตอนนี้รอการแก้ไขกฎหมายของธนาคาร เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ก็จะทยอยจ่ายเงินเพิ่มทุนให้ทันที
“กองทุนแบงก์รัฐมีเงินมากพอที่จะช่วยสนับสนุนแบงก์รัฐให้เข็มแข็ง เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศขยายตัวในระดับสูงต่อไป โดยแบงก์รัฐมีหน้าที่ต้องส่งเงินให้กองแบงก์รัฐปีละ 2 ครั้ง จากฐานเงินฝากที่มีอยู่” นายสุวิชญ กล่าว
ทั้งนี้ ธนาคารอิลสามแห่งประเทศไทย หรือ ไอแบงก์ เป็นหนึ่งในสองธนาคารรัฐ ที่มีหนี้เสียสูงมากจนเงินกองทุนติดลบ ถ้าไม่ใช่ธนาคารของรัฐ ป่านนี้คงจะล้มละลายหรือเลิกกิจการไปนานแล้ว
หนี้เสียของไอแบงก์มีจำนวน 4- 5 หมื่นล้านบาท เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นๆ ที่ธนาคารเริ่มดำเนินกิจการเมื่อประมาณปี 2551-2552 ในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาลพรรคเพื่อไทย สาเหตุที่มาของหนี้เสียไม่ต่างจากปัญหาของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ หรือแบงก์บีบีซี เมื่อ 20 กว่าปีก่อน คือปล่อยกู้ให้กิจการโครงการที่ใช้การเมืองเป็นใบเบิกทางเข้ามา โดยไม่สนใจว่าจะได้รับการชำระหนี้คืนหรือไม่ และส่วนใหญ่หลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกัน ถูกตีมูลค่าสูงกว่าความเป็นจริง
ข้อแตกต่างระหว่างไอแบงก์ในยุคนี้กับแบงก์บีบีซีในยุคก่อนหน้านี้ คือ ไอแบงก์ ไม่มีใครที่ต้องรับผิดชอบกับความเสียหาย 4-5 หมื่นล้านบาทที่เกิดขึ้นเลยสักคนเดียว ในขณะที่ผู้บริหารแบงก์บีบีซี ทั้งระดับสูง ระดับกลาง ถูกดำเนินคดีรับโทษจำคุกไปแล้วหลายคน
สมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย กระทรวงการคลังตั้งคณะกรรมการสอบสวนผู้บริหารไอแบงก์ ผลออกมาว่า มีความผิดเล็กน้อย แค่เรื่องทำผิดระเบียบขั้นตอนเท่านั้น แต่ไม่มีการทุจริตไม่โปร่งใส หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนในเรื่องการปล่อยสินเชื่อจำนวนหลายหมื่นล้านบาทจนก่อให้เกิดความเสียหาย
ปัญหาจึงคาราคาซังมาจนถึงยุครัฐบาล คสช. ไอแบงก์อยู่ในสภาพที่ขาดสภาพคล่อง ขาดทุนสะสมสองหมื่นกว่าล้านบาท ต้องยุบสาขาซึ่งมีอยู่มากมายร้อยกว่าแห่งจนเกิดข่าวลือว่า ไอแบงก์จะปิดกิจการ แต่กระทรวงการคลังได้ยืนยันว่า ถึงอย่างไรก็จะไม่ปิดไอแบงก์ แต่จะเร่งแก้ไขฟื้นฟูกิจการให้ดีขึ้นโดยเร็ว