ทิศทางที่อยู่อาศัย กทม. ยังไม่สดใส
ทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลยังทรงๆ ไม่ได้สดใส ทั้งนี้พิจารณาจากสถิติเส้นแนวโน้มและเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average)
ดูวิดิโอ fb Live ได้ที่ลิงค์นี้: https://www.facebook.com/dr.sopon4/videos/1574134856032428/
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ได้เก็บรวบรวมข้อมูลการจองซื้อที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในช่วงเดือนแรกที่เปิดตัวโดยดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2537 ตัวเลขนี้จะเป็นเครื่องชี้สำคัญประการหนึ่งที่จะชี้ถึงแนวโน้มในอนาคตของตลาดที่อยู่อาศัย ทั้งนี้แสดงไว้ตามตารางต่อไปนี้:
จะเห็นได้ว่า
1. ในแต่ละเดือนการจองซื้อที่อยู่อาศัยทุกประเภทในรอบ 12 เะดือนลาสุด (เมษายน 2560 - มีนาคม 2561) มีค่าอยู่ที่ประมาณ 15% - 48% ของหน่วยที่เปิดขาย และหากคิดเฉพาะโครงการอาคารชุด ซึ่งน่าจะขายดีกว่า จะมีค่าอยู่ที่ประมาณ 26% - 69% ถ้าดูเบื้องต้นตามนี้จะเห็นได้ว่ามีคนจองซื้อห้องชุดมากกว่าที่อยู่อาศัยแบบอื่น ห้องชุดมีแนวโน้มที่ขายดีกว่าที่อยู่อาศัยแบบอื่น
2. ถ้าดูจากเส้นแนวโน้มจะเห็นได้ว่า ในส่วนของที่อยู่อาศัยทุกแบบ (เส้นหนาสีน้ำเงิน) เส้นแนวโน้มค่อนข้างคงที่อยู่ที่ประมาณ 32% ของหน่วยขายทั้งหมดที่เปิดตัว ส่วนหากพิจารณาเฉพาะโครงการอาคารชุด จะพบว่ามีแนวโน้มขายได้เพิ่มมากขึ้นจาก 34% - 48% (เมษายน 2560 - มีนาคม 2561) เลยทีเดียว แต่ทั้งนี้เป็นเพราะในเดือนกุมภาพันธ์มีสัดส่วนการขายสูงสุดถึง 69% ของการจองในเดือนแรก แต่ถ้าตัดเดือนกุมภาพันธ์ออก แนวโน้มจะเติบโตจาก 36% ในเดือนเมษายน 2560 - 41% ในเดือนมีนาคม 2561 ซึ่งถือว่าไม่มากนัก แสดงว่าแม้แต่ในกรณีโครงการอาคารชุด ก็ไม่ใช่ว่าจะขายห้องชุดได้ในแนวโน้มที่มีอัตราการขายที่สูงขึ้นแต่อย่างใด
3. ดร.โสภณ ยังนำเสนอให้เห็นถึงเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average หรือ MV) ในกรณี MV จะพบว่า เส้นค่าเฉลี่ยทั้งสองเส้นของอัตราการขายได้หรือจองซื้อของที่อยู่อาศัยทั้งหมด และของห้องชุด ไม่ได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ยิ่งหากเอาเส้นค่าเฉลี่ยมาทำเส้นแนวโน้มอีกรอบหนึ่ง คงจะเห็นแนวโน้มถดถอยลงด้วยซ้ำไป
ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่าตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลยังไมได้ฟื้นตัว ทั้งนี้คงเป็นเพราะเศรษฐกิจของไทยยังชะลอตัวอยู่ ถึงแม้มีการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ แต่ก็เป็นการเติบโตแบบ "ยกแผง" ทั้งอาเซียนและก็ยังต่ำกว่าประเทศอื่นในอาเซียน (ยกเว้นสิงคโปร์และบรูไน) เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ดร.โสภณ จะพยายามติดตามสถานการณ์มานำเสนออย่างใกล้ชิดต่อไป
ที่มา : https://bit.ly/2vRU9WQ