เมื่อ 70,000 ปีก่อน บรรพบุรุษของเราน่าจะเคยได้เห็นดาวแคระแดงที่เข้าใกล้ถึงขอบระบบสุริยะ
ดาวของ SHOLZ โคจรแตะเมฆออร์ตที่ขอบระบบสุริยะเมื่อ 70,000 ปีที่แล้ว
ดวงอาทิตย์ของเราจัดเป็นดาวฤกษ์ชนิด “ดาวแคระเหลือง” ที่มีบริวารเป็นโลกและดาวเคราะห์ต่างๆประกอบกันขึ้นเป็นระบบดาวที่เรียกว่า “ระบบสุริยะ” ขอบนอกสุดของระบบสุริยะคือทรงกลมฝุ่นน้ำแข็งที่เราเรียกว่า “เมฆออร์ต” ซึ่งเริ่มต้นที่ระยะห่างจากดวงอาทิตย์ 50,000AU ขึ้นไป
จากการศึกษาล่าสุด พบว่าเมื่อราว 70,000 ปีที่แล้วได้มีดาวฤกษ์ชนิด “ดาวแคระแดง” เคลื่อนตัวเข้ามาใกล้ถึงขอบของ “เมฆออร์ต” นี้ นั่นคือการมาเยี่ยมเยือนระบบสุริยะของเราโดยดาวฤกษ์อื่น
ดาวฤกษ์ดวงนั้นคือ WISE J072003.20-084651.2 หรือเรียกสั้นๆตามชื่อผู้ค้นพบว่า Sholz เป็นดาวแคระแดงที่มีมวลเพียง 9% ของดวงอาทิตย์
นักดาราศาสตร์เยอรมัน Ralf-Dieter Scholz ค้นพบดาวดวงนี้เมื่อปี 2013 โดยพบว่ามันไม่ได้อยู่ดวงเดียว แต่เป็นระบบดาวคู่ที่มีดาวแคระน้ำตาลอยู่ข้างๆอีกดวง
ทุกวันนี้ทั้งคู่อยู่ห่างจากเราออกไป 20 ปีแสงในทิศทางของกลุ่มดาวยูนิคอร์น แต่เมื่อ 70,000 ปีก่อนมันเคยมาเยี่ยมเราถึงรั้วบ้าน โดยดาวแคระแดง Scholz เคลื่อนเข้ามาถึงระยะ 52,000 AU หรือราว 0.8 ปีแสงจากดวงอาทิตย์ หรือราว 8 ล้านล้านกิโลเมตร ทะลุเข้ามาในเขตของเมฆออร์ต
เป็นไปได้สูงว่า บรรพบุรุษของมนุษย์ อาจเคยแหนมองท้องฟ้ายามค่ำคืนและได้เห็นแสงสีแดงของดาว Scholz ดวงนี้ โชคดีที่มันมาแล้วก็จากไปด้วยวงโคจรแบบไฮเปอร์โบลิก (รูป V กว้างๆ) และจากมวลที่น้อยมากจึงไม่ส่งผลรบกวนดาวเคราะห์ในระบบสุริยะเรา
อ้างอิง http://www.sci-news.com/astronomy/sholzs-star-disturbed-oort-cloud-objects-05836.html
เรียบเรียงโดย @MrVop