นกกระเรียน นกกระสา นกกระยาง ความเหมือนในความต่าง
เวลาเราเห็นนกขนาดใหญ่ที่มีคอยาวและขายาวๆ เดินหากินตามแหล่งน้ำ เราก็มักจะเรียกกันว่า “นกกระยาง” หรือไม่ก็ “นกกระสา” เพราะนกขายาวปากยาวพวกนี้มีถิ่นอาศัยอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ อย่างพวกหนองบึง ทะเลสาบ หรือในพื้นที่ชุ่มน้ำตลอดปีที่มีแหล่งของปลา สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และแมลงชนิดต่างๆ อาศัยอยู่ เพราะเป็นอาหารที่สำคัญ ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับ “นกกระเรียน” ที่มีถิ่นที่อยู่ตามแหล่งน้ำเช่นเดียวกัน
จริงๆ แล้ว ทั้ง นกกระเรียน นกกระสา และนกกระยาง ต่างก็เป็นนกน้ำด้วยกันทั้งสิ้น นกกระเรียน มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า Crane นกกระสา ชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า Heron, Stork นกกระยาง มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า Egret
แต่หากเราลองมาพิจารณาถึงความแตกต่าง ก็จะพบว่า “นกกระสา” นั้นมีโคนปากหนา จะงอยปากใหญ่โต ในเวลาที่พวกมันบินคอจะงอพับเข้าหาอก แต่ในขณะร่อนลมบนฟ้า จะเห็นอาการยืดคอกางปีก ในขณะที่ “นกกระยาง” จะหดคอในเวลาที่บิน และมีจะงอยปากเรียวเล็กกว่า ส่วน “นกกระเรียน” นั้นเป็นนกที่มีลักษณะลำตัวสูงยาวคล้ายกับนกกระสา แต่จะแตกต่างกันที่ขนาด เมื่อเทียบขนาดลำตัวกับ นกกระสา และนกกระยาง แล้วจะพบว่าเป็นนกที่มีขนาดใหญ่กว่าค่อนข้างมาก และสังเกตให้ดีในเวลาที่นกกระเรียนบินคอจะยืดตรงไปข้างหน้า ไม่งอพับมาด้านหลังแบบนกกระสา ส่วนขาจะเหยียดตรงไปด้านหลัง ทำให้บินได้เร็ว และบินได้สูงมาก นอกจากนั้น นกกระเรียน ยังมีจุดเด่นอีกอย่างที่สำคัญ คือ เป็นนกบินได้ที่สูงที่สุดในโลก
ตามตำนานความเชื่อของคนจีนโบราณ มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับ พระแม่สวรรค์ตะวันตก “ซีหวางหมู่” ว่ามีนกกระเรียนวิเศษเป็นพาหนะในการเดินทางสู่โลกมนุษย์ ทำให้คนจีนเชื่อกันว่า “นกกระเรียน” สามารถนำพาดวงวิญญาณของผู้ที่เสียชีวิตไปสู่สรวงสวรรค์ตะวันตกได้
นอกจากนี้แล้ว คนจีนยังเชื่อว่า นกกระเรียน เป็นสัตว์มงคล เชื่อว่ามีอายุยืนยาว 600 ปี นกกระเรียน จึงเป็นสัญลักษณ์ที่หมายถึงการมีอายุยืนยาว สุขภาพร่างกายแข็งแรง หน้าที่การงานราบรื่น และยังเป็นสัญลักษณ์ของความฉลาดเหนือผู้คนอีกด้วย
ในขณะที่คนญี่ปุ่น เรียกนกกระเรียนที่มีหงอนแดง หรือ นกกระเรียนมงกุฎแดง หรือ นกกระเรียนญี่ปุ่น ว่า ตันโจว และเชื่อกันว่าเป็นนกที่มีชีวิตอยู่ได้ถึง 1,000 ปี จึงถือว่า นกกระเรียนเป็นสัตว์นำโชค ที่มีความหมายถึงการมีอายุที่ยืนยาว นอกจากนี้ยังมีความหมายถึง ความภักดี และ โชคลาภอีกด้วย
ในประเทศเกาหลีจะเรียกนก Red-crowned Crane หรือ นกกระเรียนที่มีหงอนแดง ว่า Durumi และถือเป็นสัญลักษณ์ของอายุขัย ความบริสุทธิ์ และสันติภาพ
ส่วนคนท้องถิ่นบางกลุ่มก็มีความเชื่อว่า “นกกระสา” เป็นสัญลักษณ์ของการสร้าง การเกิด และการมาของฤดูที่ให้ผลผลิต
ชาวอิสราเอล ก็มีความเชื่อว่า นกกระสาขาว มีความหมายว่า ผู้ภักดี ผู้มีความกรุณารักใคร่ เพราะนกกระสาขาวทั้งตัวผู้และตัวเมียจะอยู่กับคู่ของมันตลอดชีวิต
และไม่เพียงแต่คนจีนเท่านั้นที่เชื่อว่า “นก” สามารถนำพาดวงวิญญาณของผู้ที่เสียชีวิตไปสู่สรวงสวรรค์ เพราะคนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ดูเหมือนจะมีความเชื่อว่า “นก” สามารถเชื่อมโยงสื่อสารระหว่างโลกมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบน รวมทั้งสามารถนำพาวิญญาณผู้ตายไปสู่อีกโลกหนึ่ง เพราะสามารถบินไปในที่ที่มนุษย์ไม่สามารถไปได้ อย่างพวกกลุ่มที่อาศัยอยู่ทางที่สูงตอนกลางของเวียดนาม ก็มีการนำไม้แกะสลักมาปักรอบสุสาน เรียกว่า Kuk ซึ่งไม้เหล่านี้ต่างก็มีรูปนก ที่อาจมีความหมายถึง ผู้นำวิญญาณผู้ตายไปสู่อีกที่หนึ่งประกอบอยู่ด้วย
© รูปต้นฉบับ:nationalgeographic
สรุปแล้ว นกกระเรียน นกกระยาง และ นกกระสา ต่างก็เป็นนกน้ำขายาวเหมือนกัน และพฤติกรรมของนกน้ำเหล่านี้ มักเกี่ยวข้องกับแหล่งอาหาร และ การย้ายที่อยู่ไปสู่แหล่งที่ดี ทำให้ “นก” เหล่านี้ได้มาอยู่ในระบบความเชื่อของมนุษย์เหมือนๆ กัน โดยเฉพาะความเชื่อในเรื่องมงคล และความหมายในเรื่องของการแพร่พันธุ์ และการเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญงอกงามค่ะ