นอนกับสัตว์เลี้ยง ประโยชน์ และผลกระทบ ที่คนรักสัตว์ควรรู้
ประโยชน์ของการนอนกับสัตว์เลี้ยง
1.ให้ความอบอุ่นและปลอดภัย อาจช่วยปรับสภาวะอารมณ์ให้ดีขึ้น มีอาการซึมเศร้าและเหงาน้อยลง ผลการวิจัย พบว่าการนอนกับสุนัขบนเตียง ทำให้รู้สึกปลอดภัยและสบายใจมากกว่าการนอนร่วมกับคนอื่นหรือแมว โดยเฉพาะวันที่รู้สึกเหงา หรือวันที่ไม่ได้อยู่กับสุนัขทั้งวัน
2.ลดความเครียด การเลี้ยงสัตว์ช่วยลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งหลั่งออกมาเมื่อเกิดความเครียด และสารเคมีในสมองที่เกี่ยวข้องกับความเครียด อย่างเช่น นอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) และอิพิเนฟริน (Epinephrine)
การลูบ นอนกอด หรือสัมผัสสัตว์เลี้ยงจะช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนเซโรโทนิน (Serotonin) และโดพามีน (Dopamine) ทำให้เจ้าของรู้สึกสงบและสบายใจขึ้นได้อย่างรวดเร็ว การนอนกับสัตว์เลี้ยงจึงช่วยลดความเครียดและทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น
3.บรรเทาอาการวิตกกังวลและซึมเศร้า การเลี้ยงสัตว์สุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ จะช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนออกซิโทซิน ที่หลั่งออกมาเมื่อเกิดความรักและผูกพัน ทำให้เจ้าของรู้สึกมีเพื่อน ไม่ว้าเหว่ มีเป้าหมายของชีวิตและรู้สึกถึงความหมายในการมีชีวิตอยู่ โดยพบว่าเจ้าของสัตว์เลี้ยงมีโอกาสป่วยเป็นโรคซึมเศร้าน้อยกว่าคนที่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์
สัตว์เลี้ยงยังเป็นผู้ฟังที่ดีในยามที่เราวิตกกังวลและซึมเศร้า การเลี้ยงสัตว์จึงช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในตัวเองได้
4.ช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น การนอนและสัมผัสตัวสัตว์เลี้ยงอาจช่วยให้เกิดความผ่อนคลาย และนอนหลับง่าย ผลการวิจัย พบว่า ผู้ที่เลี้ยงสัตว์มักใช้ยานอนหลับน้อยกว่าคนที่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์ การนอนกับสัตว์เลี้ยงอาจช่วยให้ผู้ป่วยโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) ที่มักนอนไม่หลับหรือฝันร้ายบ่อย ๆ นอนหลับได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น
ผลการศึกษาที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ Mayo Clinic Proceedings ปี 2017 ได้ติดตามการนอนของสุนัขและเจ้าของเพื่อตรวจสอบคุณภาพการนอนของแต่ละฝ่าย ผลที่ออกมาคือ คนที่มีสุนัขอยู่ในห้องนอนรวมทั้งตัวสุนัขเองมีช่วงเวลาการพักผ่อนที่ดีในตอนกลางคืน แต่เมื่อนำสัตว์เลี้ยงออกไปจากห้องนอน คุณภาพการนอนกลับลดลง
5.เสริมสุขภาพโดยรวม ผลการศึกษา พบว่า เจ้าของสัตว์เลี้ยงมีแนวโน้มที่จะทำกิจกรรมที่ใช้แรงและออกกำลังกายมากกว่าคนที่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์ อาจช่วยลดดัชนีมวลกาย (BMI) ลดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอร์ไรด์ เสริมร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคต่าง ๆ และช่วยให้สุขภาพโดยรวมแข็งแรง
6.ช่วยในการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด การเล่นกับสัตว์เลี้ยงเป็นการออกกำลังกาย ช่วยให้สุขภาพหัวใจและหลอดเลือดโดยรวมดีขึ้น การนอนกอดและการลูบตามตัวของสัตว์เลี้ยงจะช่วยให้ความดันโลหิตลดลง และหัวใจเต้นช้าลง ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย ผลการวิจัยหลายชิ้น พบว่า การเลี้ยงสัตว์ช่วยให้หัวใจและหลอดเลือดทำงานได้ดี ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจ และการเสียชีวิต อย่างเช่น ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงจะมีระดับความดันโลหิตลดลงอย่างมากภายในเวลา 5 เดือน หลังจากรับเลี้ยงสุนัข เจ้าของสัตว์เลี้ยงมีระดับความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจขณะพักน้อยกว่าคนที่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์ ผู้ที่เคยมีอาการของโรคหัวใจที่เลี้ยงสุนัข จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตลง 65%
7.ลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง พบว่า คนที่เลี้ยงแมวมีโอกาสป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองน้อยกว่าคนที่ไม่ได้เลี้ยง เพราะแมวช่วยให้เจ้าของรู้สึกผ่อนคลาย และช่วยลดความเครียด ผลการวิจัยอีกชิ้น พบว่า คนที่เลี้ยงสุนัขมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองน้อยกว่ากว่าคนที่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์ถึง 31%
ผลเสียต่อสุขภาพจากการนอนกับสัตว์เลี้ยง
1.รบกวนการนอนหลับ
เนื่องจากคนและสัตว์เลี้ยง อย่างเช่น สุนัขและแมว มีวงจรการนอนหลับที่ต่างกัน สุนัขอาจเห่าหอนเสียงดัง และแมวที่ชอบใช้ชีวิตในตอนกลางคืนอาจปลุกเจ้าของให้มาเล่นด้วยกลางดึก สัตว์เลี้ยงอาจกรนและขับถ่ายกลางดึก ซึ่งรบกวนการนอนหลับของเจ้าของได้
ดร. เวส์โวลอด โปลอตสกี (Vsevolod Polotsky) ศาตราจารย์และผู้อำนวยการด้านวิจัยการนอนที่ John Hopkins University School of Medicine ได้บอกว่า “สัตว์เลี้ยงอาจขยับตัว ร้อง และรบกวนการนอน ส่งผลต่อการนอนหลับไม่ต่อเนื่อง ซึ่งทำให้เราต้องตื่นขึ้นมากลางดึกอย่างเลี่ยงไม่ได้”
คริสเทน นัตสัน (Kristen Knutson) ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาและการแพทย์ที่ Feinberg School of Medicine ได้กล่าวเสริมว่า “มีการตื่นในลักษณะที่เรียกว่า 'Microawakenings' เกิดขึ้นโดยที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่รบกวนการนอนเพราะจะดึงเราออกจากการหลับลึก และอาจทำให้ร่างกายปล่อยฮอร์โมนเครียดและคอร์ติโซล ส่งผลต่อสุขภาพการนอนที่แย่ลง”
2.กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้
ผู้ที่แพ้สัตว์เลี้ยงมักมีอาการคัดจมูก ไอ จาม น้ำมูกไหล น้ำตาไหล และหายใจลำบาก หากสัมผัสสะเก็ดผิวหนังสัตว์โดยตรงอาจทำให้เกิดผื่นคันได้ หากมีอาการแพ้สัตว์เลี้ยง ไม่ควรนอนร่วมเตียงหรือร่วมห้องกับสัตว์เลี้ยง และหมั่นทำความสะอาดห้องนอนและเครื่องนอนเป็นประจำ เพื่อป้องกันการเกิดอาการแพ้
3.ปัญหาเรื่องการหายใจ
ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอย่าง โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ หรือโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง ถึงแม้ว่าสัตว์เลี้ยงจะไม่มีขนสัตว์ร่วงในห้องนอน แต่ก็อาจมีสิ่งที่ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้อย่างน้ำลายหรือผิวของสุนัข ซึ่งอาจทำให้คุณมีอาการคัดจมูกหรือเกิดโรคภูมิแพ้ได้
4.อาจทำให้ได้รับเชื้อโรคจากสัตว์
สัตว์เลี้ยงตัวโปรดอาจนำพาเชื้อโรค อย่างเช่น ไวรัส แบคทีเรีย ปรสิต และเชื้อรา มาสู่เจ้าของผ่านการถูกกัด ข่วน และเลียผิวหนังที่มีแผลเปิด ซึ่งเชื้อโรคจะแพร่ผ่านน้ำลาย สะเก็ดผิวหนัง และมูลสัตว์ และทำให้เกิดการติดเชื้อ
สัตว์เลี้ยงอาจมีเห็บ หมัด และไร ซึ่งสามารถกัดคนและทำให้เกิดอาการแพ้ที่ผิวหนัง อย่างเช่น มีจุดแดงหรือผื่นขึ้นตามร่างกาย บางคนอาจมีอาการบวมและแสบร้อนบริเวณที่ถูกกัด และอาจนำไปสู่โรคติดเชื้ออื่น อย่างเช่น โรคไลม์ (Lyme Disease) ตามมา
5.อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บ
การนอนกับสัตว์เลี้ยงที่ดุร้ายและไม่เชื่อฟัง อาจทำร้ายเจ้าของขณะนอนหลับและทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ โดยเฉพาะเด็กที่นอนกับสัตว์เลี้ยงอาจเสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อตามมา
6.ขัดขวางเวลาส่วนตัวของคู่รัก
คู่รักบางคู่อาจรู้สึกไม่สะดวกใจที่จะให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในห้องนอน เนื่องจากไม่ต้องการให้สัตว์เลี้ยงขัดขวางการใช้เวลาโรแมนติกของคู่รักในยามค่ำคืน
เทคนิคนอนกับสัตว์เลี้ยงอย่างปลอดภัยและหลับสบาย
- จัดที่นอนของสัตว์เลี้ยงเป็นสัดส่วน อาจวางที่นอนสัตว์เลี้ยงไว้ที่มุมห้องนอนหรือวางใกล้เตียงนอนเจ้าของ ในกรณีที่ให้สัตว์เลี้ยงนอนเตียงเดียวกับเจ้าของ ควรเลือกที่นอนที่มีขนาดใหญ่มากพอสำหรับคนและสัตว์ โดยเฉพาะคนที่เลี้ยงสุนัขตัวใหญ่ เพื่อให้มีพื้นที่กว้างนอนหลับได้สบาย
- เจ้าของและสัตว์เลี้ยงควรเข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาทุกวัน เพื่อให้สัตว์เลี้ยงรู้ว่าเวลานอนคือการพักผ่อน ไม่รบกวนเจ้าของ และไม่ปลุกเจ้าของก่อนเวลาตื่น
- ฝึกสัตว์เลี้ยงให้เชื่อฟังว่าสามารถเข้าห้องนอนหรือขึ้นเตียงนอนต่อเมื่อเจ้าของอนุญาต และฝึกให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในบริเวณที่เจ้าของกำหนดไว้เท่านั้น อย่างเช่น อยู่บนเตียงได้ แต่ห้ามเหยียบบนหมอน เพื่อไม่ให้รบกวนเจ้าของตามใจ
- หากสัตว์เลี้ยงไม่เชื่อฟังคำสั่ง อย่างเช่น ไม่หยุดเห่า วิ่งไปมาในห้องนอน หรือทำร้ายเจ้าของ ควรให้สัตว์เลี้ยงออกไปนอนนอกห้องนอน เพื่อให้สัตว์เลี้ยงเข้าใจว่าไม่ควรทำพฤติกรรมเหล่านี้
- พาสุนัขไปเดินเล่นก่อนเข้านอน เพื่อให้สุนัขได้ขับถ่ายก่อนนอน และทำให้รู้สึกเหนื่อยและหลับได้เร็วขึ้น ไม่ตื่นขึ้นมาขับถ่ายกลางดึก
- ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง หลังสัมผัสน้ำลาย ปัสสาวะ หรืออุจจาระของสัตว์เลี้ยง
- ทำความสะอาดหมอน ปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม และเฟอร์นิเจอรอื่น ๆ ในห้องนอนให้สะอาด เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของฝุ่น และเชื้อโรคจากสัตว์เลี้ยง
- อาบน้ำดูแลความสะอาดของสัตว์เลี้ยง และใช้ยาป้องกันเห็บหมัด
- พาสัตว์เลี้ยงไปตรวจสุขภาพ และฉีดวัคซีนกับตามการนัดหมายของสัตวแพทย์