ศาสนาซิกข์ กับ การกิน เนื้อ
ภากจาก Pinterest
สวัสดีครับ,
บางคนเข้าใจว่าซิกข์ กินเจ
บางคนเข้าใจว่าซิกข์ กินมังสวิรัติ
บ้างก็เข้าใจว่าซิกข์ กินเนื้อได้ เว้นเนื้อวัว
และบ้างก็เข้าใจว่าซิกข์ กินเนื้อทุกประเภทได้
แต่บางคนยังสับสนหรือไม่ทราบเลยว่า ตกลงซิกข์กินอะไรได้
เนื่องจากชาวซิกข์เอง บางคน และ/หรือ บางกลุ่ม/บางนิกาย กินเจ/มัง และเชื่อว่าการกินเนื้อนั้น ผิดศีลธรรม
เช่นเดียวกัน ซิกข์บางคน และ/หรือ บางกลุ่ม/บางนิกาย กินเนื้อด้วย และเชื่อว่าการแบ่งแยกสิ่งมีชีวิตที่เรานำมากินเป็นอาหาร มาเป็นเนื้อกับเป็นผักนั้น ผิดศีลธรรม
ความจริงคือ... ในพระคัมภีร์ ศิริ คุรุ ครันถ์ ซาฮิบ (Sri Guru Granth Sahib) ที่ซิกข์ทุกคน ทุกกลุ่ม และ ทุกนิกาย เห็นด้วยพร้อมกันกับ พระธรรม/คุรบาณี (Gurbani)/ ภายใน นั้น.. คำสอน จะเอ่ยถึงการฆ่าสัตว์ และ การกินเนื้อ ไม่เหมือนกัน ในแต่ละบริบทของแต่ละธรรมคาถา และชาวซิกข์แต่ละคน/กลุ่ม/นิกาย ก็ตีความที่ตนเข้าใจ ต่างออกจากกัน จึงทำให้เกิดความสับสน เช่น
ภาพจาก Flickr
• บางแห่งในพระคัมภีร์จะมีการรวม เนื้อ เข้าไปเป็นหนึ่งในกลุ่มอาหารเช่นเดียวกัน ไม่ต่างจากผักและผลไม้
• บางแห่งก็จะประณามการทรมานสัตว์ แม้จะเรียกการกระทำเช่นนั้นว่า ถูกต้องตาม กฎ/ศีล ของตนก็ตาม
• บางแห่งก็ประณามความสองหน้าของ พวกที่ไม่กินเนื้อ ที่มาทำเป็นปิดจมูกเวลาเห็นเนื้อสัตว์ ว่าเนื้อเป็นสิ่งสกปรก แต่ลับหลังกลับกินคนในยามมืด และไหนๆ ตัวเองก็ปั้นขึ้นมาจากเลือดเนื้อของผู้อื่น (ตัวเองไม่สกปรก และไม่บาปหรือ?)
• บางแห่งก็บอกว่า ทั้งเนื้อทั้งผัก ล้วนมาจากน้ำ (แหล่งชีวิต) และอาหารนั้นสะอาดหมด
• บางแห่งก็กล่าวว่า ปราศจากสติและจงรักภักดีในพระเจ้า ทุกอย่างคือขยะและเป็นเท็จไปหมด
• บางแห่งก็จะอธิบายว่า สิ่งมีชีวิตก็คือสิ่งมีชีวิต (ซึ่งทุกชีวิตก็อยากมีชีวิตอยู่รอดกันทั้งนั้น) จึงอย่าไปหลงผิวของมัน ซึ่งบ้างก็เป็นเนื้อ และ บ้างก็เป็นผัก
• บางแห่งประณามผู้ที่มองเนื้อเป็นสิ่งสกปรกแล้วเอาน้ำมาลางครัวของตัวเอง คุรุท่านก็ถามว่า แล้วในน้ำนั้นไม่มีสิ่งมีชีวิตหรือ (จุลินทรีย์) แล้วน้ำนั้นไม่สกปรกด้วยหรือ?
• บางแห่งก็ประฌามบางคนที่ทำเป็นโชว์ว่าตนกินอาหารที่สะอาดและบริสุทธิ์ที่สุด แต่เวลาอาหารนั้นแตะผู้บริโภคคนนั้น กลับเสื่อมเสียสกปรกที่สุด เพราะจิตใจผู้นั้นยังสกปรกอยู่เลย
• บางธรรมคาถาก็แสดงออกถึงความทุกข์ทรมานของต้นอ้อยเป็นตัวอย่างเช่นกัน
• บางแห่งก็ประณามพวกที่กินกัญชา ปลา กับ ไวน์ (ภาวะมึนเมา) ว่าจะตกนรกทั้งหมด
• บางแห่งก็ประณามการนำสิ่งมีชีวิตมาพลีชีพเพื่อเป็นเพียงอาหารคำหนึ่งกับขนมปังหรือโรตี แล้วใครอยากจะยอมตายเพื่อแค่นี้
• บางแห่งก็ประณามว่า หากการฆ่าสัตว์ได้กลายมาเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธ์ของศาสนา แล้วคนที่ฆ่าชำแหละเนื้อสัตว์มาขายในตลาดเป็นประจำ จะไม่ศักดิ์สิทธิ์กว่าศาสนาจารย์หรือ?
• บางแห่งก็ประณามว่า พวกที่เอาเรื่องเนื้อ เรื่องผักมาทะเลาะเถียงกัน ว่าบาปกับบุญมันอยู่ในไหน เป็นพวกคนโง่ ซึ่งไร้สติปัญญาความรอบรู้ที่แท้จริง
• บางแห่งก็ประณามผู้ที่ไม่ให้เกียรติสิ่งมีชีวิตด้วยกัน และประกาศว่าผู้ใดกดขี่ชีวิตอื่นก็ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตนทำเมื่อถึงเวลา
• บางแห่งก็ประณามผู้ที่เด็ดดอกไม้ ใบไม้ กิ่งไม้ (สิ่งมีชีวิต) เพื่อมาบูชานับถือวัตถุ (ที่ไม่มีชีวิต) ที่มนุษย์เราสร้าง/ปั้นขึ้นเอง แล้วมาสถาปนาในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ของเราเอง
ภากจาก BBC
========
ส่วนตามประวัติศาสตร์ในสมัยคุรุศาสดา ก็มีเรื่องราวบางเรื่องที่โยงกับเนื้อสัตว์ เช่นกัน เช่น:
• ครั้งหนึ่ง ตอนที่มี Solar eclipse เกิดขึ้น (ตอนที่ราหูอมดวงอาทิตย์)ในเมือง Kurukshetra (India) ชาวฮินดูมีความเชื่อว่า ไม่ควรกินเนื้อสัตว์ในวันนั้น พระองค์ปฐมบรมศาสดา คุรุ นานัก ท่านเอง จึงเริ่มเอาเนื้อกวางที่มีสาวกคนหนึ่งนำมาถวายให้พระองค์ มาทำอาหารทันที เพื่อให้ประชาชนตาสว่างในบางความเชื่อที่พระองค์ท่านเห็นว่าเป็นเรื่องงมงาย
• ครั้งหนึ่ง คุรุศาสดา องค์ที่ 7 ศิริ คุรุ ฮริ ราย ตอนพระองค์ยังเด็ก พระองค์เดินเข้าสวนเพื่อไปหาพระบิดาของพระองค์ (คุรุศาสดาองค์ที่ 6: ศิริ คุรุ ฮริ โควินท์) ด้วยความไม่ระมัดระวัง ซึ่งได้ทำให้ชุดของพระองค์ไปเกี่ยวดอกไม้ข้างทาง แล้วทำให้มันหักออกจากต้นของมัน จึงโดนพระบิดาของพระองค์สวดที่ไม่ระมัดระวังกับสิ่งมีชีวิตรอบข้าง (แต่ถามว่าเหล่าซิกข์ศาสดาเห็นด้วยกับวีถีชีวิตของชาวเชนที่กวาดทางเดินของตนเพือจะได้ไม่เหยียบแมลงใดๆ หรือเอาผ้าปิดปากกับจมูกจะได้ไม่ฆ่าจุลินทรีย์ที่เข้าไปเวลาหายใจ เหล่าคุรุท่านก็มิได้เห็นด้วยเช่นกัน)
• ครั้งหนึ่ง ตอน คุรุศาสดาองค์ที่ 10: ศิริ คุรุ โควินท์ สิงห์ มาพักอาศัยอยู่ในเมือง Nanded (ปัจจุบัน อยู่ในรัฐ มหาราษฎร์ ภาคกลางของอินเดีย) มีนักสิทธิ์ โยคี คนหนึ่ง ชอบคุกคาม ข่มขวัญ เผ่าชนของเมืองนั้น ด้วยเวทมนต์และพลังไสยศาสตร์เหนือธรรมชาติของตน นักสิทธิ์ท่านนี้เลี้ยงแพะที่ค่ายของตน วันหนึ่งคุรุศาสดาและชาวซิกข์ของท่านได้แวะมาที่ค่ายของนักสิทธิ์ผู้นี้ แต่เขาไม่อยู่ คุรุท่านจึงสั่งชาวซิกข์ของพระองค์ให้จับฆ่าแพะให้หมด เมื่อชนเผ่าได้เห็นการจับแพะฆ่า จึงดีใจและรีบมาเอาเนื้อมาทำอาหารกิน เนื่องจากอดยากและหิวโหยมานาน แล้วได้ขอบพระคุณคุรุศาสดาที่ได้เลี้ยงอาหารพวกเขา คุรุศาสดาท่านได้แถมควายไปเลี้ยงให้กับชนเผ่านี้เช่นกัน
ภาพจาก WordZz
• เป็นที่รู้กันด้วยว่า ศิริ คุรุ โควินท์ สิงห์ เคยออกล่าสัตว์กับชาวซิกข์เช่นกัน โดยเฉพาะพวกเสือหรือสิงโตที่กลับมากินคน
========
ภาพจาก SikhiWiki
นิกาย
อมฤต-ธารี (ชาวซิกข์ที่โพกผ้าหัวหลากสีกัน)
ในบทสรุปของระเบียบวินัย จะระบุว่า ห้ามกินเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่าแบบพลีชีพ เชือดพลี หรือ ทารุณ ซึ่งมิได้ระบุว่า ห้ามกินเนื้อเลย จึงอยู่ที่แต่ละคน ส่วนใหญ่ชาวซิกข์จะสรุปว่าห้ามกินเนื้อที่ผ่านพิธี 'ฮาลาล' ซึ่งเป็นเนื้อ 'กุรบาน' (เชือดพลี) ที่หลักธรรมซิกข์ไม่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วยกับการนำสิ่งมีชีวิตมาฆ่าเพื่อมาถวายผู้ที่เรานับถือ แม้เขาจะเป็นใครก็ตาม (บรรพบุรุษ ผี พระ หรือ พระเจ้าเองก็ตาม) เพราะหลักธรรมซิกข์เชื่อว่า เราไม่สามารถถวายอะไรให้กับพระเจ้าได้ เนื่องจากทุกอย่าง ทุกสิ่งมีชีวิตเป็นของพระองค์อยู่แล้ว เว้นแต่ความหลงผิดในอหังการ (ego) หรือ ความหลงไหลในตัวเองเท่านั้น
แต่ก็มี อมฤต-ธารี หลายคนที่ไม่แตะเนื้อเลย
ในวัดซิกข์เช่นกัน ไม่มีการนำเนื้อเข้ามาในโรงอาหารหรือครัวคุรุศาสดา เนื่องจากไม่อยากให้เกิดความแบ่งแยกในการรับประทานอาหาร เพราะสาเหตุหลักของการเลี้ยงข้าวทุกคนคือความสมานฉันท์ ความเท่าเทียม และ ความเป็นเอกภาพของมนุษยชาติ
(ผม อมฤต-ธารี)
นาม-ธารี (ชาวซิกข์ที่โพกผ้าสีขาวตลอด)
เขาจะไม่กินเนื้อ
นีล-ธารี (ชาวซิกข์ที่โพกสีฟ้าเข้มส่วนใหญ่)
เขาก็จะไม่กินเนื้อครับ
นิหัง (ชาวซิกข์ที่ยึดเหนี่ยวในประเพณีดั้งเดิมตั้งแต่สมัยของคุรุศาสดา แต่งกายสีน้ำเงิน พกอาวุธเยอะ เป็นนักรบ)
เขาจะมีการฆ่าแพะและทำอาหารกับเนื้อในครัวคุรุศาสดาที่วัดที่อยู่ภายใต้การดูแลของเขา (โดยเฉพาะที่เมือง Nanded) สมัยหนึ่ง วัดใหญ่ๆ อื่นๆ ทั่วอินเดีย เช่น วิหารทองคำในรัฐปัญจาบด้วย เคยอยู่ภายใต้การดูแลของขาวนิหัง แล้วได้ประกอบการฆ่าแพะแล้วแจกเนื้อในวัดตามประเพณีของเขามาตลอด จนในสมัยของอังกฤษ ตอนที่สมาคม ศรีคุรุสิงห์สภา (กลุ่มผู้ซึ่งเป็นนักวิชาการซิกข์ และ อมฤต-ธารี) ได้ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อเข้ามาดูแลวัดซิกข์ต่างๆ ทั่วประเทศ ช่วนิหังจึงยอมถอยออกจากหน้าที่เดิมนี้เกือบทุกแห่ง
=======
ภาพจาก World-Religions-Professor.com
บทสรุป
ตามที่ผมเข้าใจส่วนตัว
หลักธรรมของซิกข์:
การหลงกิเลสรสชาติ การกินเพื่อความสนุก การกินจนท้องโต การกินจนสุขภาพร่างกาย และ จิตใจไม่สบาย ตกต่ำ การกินจนมึนเมาและขาดสติจนไม่รู้จักแยกของเขา ของเรา ล้วนเป็นพฤติกรรมที่ผิดมหันต์
การกินเนื้อ ไม่ผิด หากมิได้กินเพื่อรสชาติ หากมิได้ทรมานสัตว์ (เช่นตลอดชีวิตของมัน เหมือนฟาร์มไก่สมัยนี้) แม้ชาวนิหังเอง ก็มิได้กินเนื้อทุกวัน ส่วนใหญ่มักจะกินช่วงวันฉลองใหญ่ ส่วนใหญ่ชาวนิหังจะ ฆ่าสัตว์ที่คนจะบริโภคเอง เป็นการแสดงความรับผิดชอบ เป็นการได้ชินกับเลือดเนื้อ และมิได้มานั่งคิดว่า เนื้อที่ตนกินนั้นมาจากไหน นิหังส่วนใหญ่จะไม่กินเนื้ออื่นที่กลุ่มของตนมิได้ฆ่าเอง
แต่ (ในควรมเข้าใจส่วนตัวของผม) ปัจจุบัน การฆ่าแพะโดยชาวนิหังกลับได้กลายเป็นพิธีกรรมศาสนาไปซะแล้ว มีการสวดมนตร์ แล้วพอฆ่าแพะเสร็จ กลับนำเลือดมันมาโปรยบนศาสตราวุธเหมือนกับมันกระหายเลือด!
วิธีการฆ่าของชาวซิกข์ จะเรียกว่าวิธี 'Jatka' ซึ่งเป็นการใช้มีดใหญ่หรือดาบที่คมมาก แล้วตัดหัวสัตว์ขาดทันทีโดยหนเดียว ซึ่ง ส่วนใหญ่ มันมักจะตายก่อนที่มันจะได้รับรู้ด้วยซ้ำว่ามันตายแล้ว
หวังว่าคงได้ไอเดียพอสมควรนะครับ
หากพบเจอเพื่อนชาวซิกข์
ก็ฟังมุมมองเขาด้วยแล้วกันครับ
ผมเองอาจผิดพลาดในประเด็นนี้ก็ได้
หากมีคำถาม ยินดีถามได้เลยครับ
ขอบคุณที่สละเวลามาอ่านครับ
สวัสดีครับ