ผู้บริหาร 'กุลสตรี' ออกมาพูดเเล้ว 'ปิดตัว' หรือไม่
เปิดศักราชใหม่ “กุลสตรี” นับได้ว่า เป็นนิตยสารเพื่อสาระและความบันเทิงของครอบครัวเพียงฉบับเดียว ที่ยังยืนหยัดบนแผงหนังสือ ขณะที่ “ขวัญเรือน” และ “หญิงไทย” ประกาศปิดตัวอำลาไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสื่อดิจิทัลที่ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ด้วยคนยุคใหม่นิยมเสพเนื้อหาฟรีผ่านสื่อโซเซียล ยูทิวป์ หรือสื่อออนไลน์อื่น ๆ มากกว่ากระดาษที่ต้องเสียเงินซื้อ
“วิศรุต ส่งเสริมสวัสดิ์” ทายาทรุ่นที่ 3 ของ “กุลสตรี” เป็นเวลาหลายปีแล้วที่เขาเข้ามาดูแลกิจการในฐานะบรรณาธิการบริหาร (บก.บห.) ซึ่งเขามีส่วนสำคัญในการพลิกโฉมนิตยสารให้มีความทันสมัย ขยายฐานกลุ่มผู้อ่านให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น
จวบจนปัจจุบัน “กุลสตรี” ก้าวเข้าสู่ 47 ปี “วิศรุต” ยอมรับว่า ไม่อยากให้ปิดตัว ซึ่งเป็นความกดดันไม่น้อย เพราะขณะนี้สื่อสิ่งพิมพ์ต้องเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม พยายามนำความกดดันนั้นมาเป็นแรงผลักดันพัฒนาเนื้อหาเพื่อให้อยู่รอดต่อไปได้
“เราต้องคิดให้เยอะขึ้น พยายามแตกแขนงช่องทางการนำเสนอเนื้อหา เพราะเราเป็นสื่อ ฉะนั้นคงทำเพียงแค่นิตยสารเล่มเดียวไม่ได้ แต่ต้องทำอย่างไรให้มีรายได้เข้ามา เพื่อความอยู่รอด”
ในฐานะ บก.บห. เขาจึงวางเป้าหมายไว้ว่า ปี 2561 “กุลสตรี” จะไม่ได้เป็นแค่นิตยสาร แต่จะพัฒนาต่อยอดให้เป็นแบรนด์อันดับ 1 เพื่อผู้หญิง เหมือนดังชื่อ “กุลสตรี” โดยจะประสานความร่วมมือกับองค์กรสตรีต่าง ๆ ที่มีโครงการช่วยเหลือผู้หญิง เพราะอนาคตจะทำงานคนเดียวไม่ได้ ดังนั้นจำเป็นต้องหาพันธมิตร ที่สนใจผลิตเนื้อหา และสร้างสรรค์กิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน
ทั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การสร้างแรงกระตุ้นเพื่อผู้หญิง ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ชัดเจนตั้งแต่ก่อตั้ง “กุลสตรี” อย่างไรก็ตาม จะไม่ทิ้งเนื้อหาเดิม ไม่ว่าจะเป็น งานฝีมือ แฟชั่น หรือนวนิยาย เพียงแต่ปรับรูปแบบการจัดหน้าให้ทันสมัย เสมือนการแต่งตัวให้ใหม่เท่านั้น
วิศรุต กล่าวว่า นวนิยายเป็นหัวใจสำคัญของ “กุลสตรี” ผู้อ่านซื้อเพราะสนใจอ่านนวนิยาย นั่นจึงทำให้การคัดสรรเรื่องมาตีพิมพ์ กองบรรณาธิการจึงให้ความสำคัญ ปัจจุบันคุณยุพา ส่งเสริมสวัสดิ์ (คุณป้า) อดีตบรรณาธิการบริหาร “กุลสตรี” รับหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งจะมีทั้งนักเขียนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่
วิศรุต ส่งเสริมสวัสดิ์ บก.บห.นิตยสารกุลสตรี
แม้ บก.บห.หนุ่ม จะยืนยันหนักแน่นอยากให้ผู้อ่านจดจำ “กุลสตรี” รูปแบบเล่มต่อไป แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่ง 20+ ที่นิยมเสพสื่อออนไลน์ นั่นจึงทำให้เขาต้องผลักดันให้เกิดเว็บไซต์ kullastreemag ขึ้น
“น้องชายเข้ามาช่วยดูแลเว็บไซต์ ซึ่งเขาจบวารสารศาสตร์มาโดยตรง จากม.ธรรมศาสตร์ ส่วนผมจบสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เราทั้งสองคนพูดคุยกันตลอดเกี่ยวกับเนื้อหาที่จะเลือกลงในเว็บไซต์ เพราะกลุ่มเป้าหมายต่างจากนิตยสารรูปเล่ม”
วิศรุต บอกว่า เนื้อหาที่นำเสนอผ่านเว็บไซต์จะต้องเขียนเข้าใจง่าย กระชับ ไม่ยืดยาว อาจจะมีวิดีโอเพิ่มเติมเข้าไปด้วย โดยจะเน้นไลฟ์สไตล์ หรือเรื่องที่สังคมกำลังสนใจในช่วงเวลานั้น ทั้งนี้ จะไม่ทิ้งเอกลักษณ์ของ “กุลสตรี” ที่เป็นผู้ผลิตเนื้อหาสาระและความบันเทิงเพื่อครอบครัว โดยเฉพาะผู้หญิง
พร้อมกันนี้ เรายังใช้เว็บไซต์ร่วมกันสื่อโซเซียลมีเดียต่าง ๆ ในการโฆษณานิตยสารด้วย ซึ่งปัจจุบันยอดผู้เข้าชมเว็บไซต์เพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ ส่วนเสียงเรียกร้องให้เว็บไซต์เผยแพร่นวนิยายนั้น เขาเผยว่า ทำไม่ได้ เพราะนวนิยายเป็นเนื้อหาหลักของรูปเล่มที่ชักจูงให้ผู้อ่านซื้อ จึงอยากให้อยู่ในนิตยสารมากกว่าเว็บไซต์
สารพัดกลยุทธ์ที่ “กุลสตรี” พยายามทำ เพื่อความอยู่รอด ไม่เพียงเท่านั้น ยังรุกตลาดอีบุ๊ก ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดี และเปิดรับพรีออเดอร์ก่อนพิมพ์ด้วย
ทุกครั้งที่จะผลิตนิตยสารจะต้องคิดให้มาก โดยเฉพาะปก ซึ่งเป็นสิ่งดึงดูดผู้อ่าน บก.บห.หนุ่มไฟแรง ระบุว่า สิ่งนี้เป็นอีกหนึ่งจุดแข็งที่ตลาดออนไลน์ทำไม่ได้ ในการนำศิลปินดาราที่มีชื่อเสียงถ่ายภาพขึ้นปก เนื่องจากต้องใช้งบประมาณสูง แต่ “กุลสตรี” ทำได้ พร้อมยกตัวอย่าง ปก "เป๊ก ผลิตโชค" ที่มียอดจำหน่ายถล่มทลาย จนต้องพิมพ์ซ้ำ
มาถึงจุดนี้อดถามไม่ได้ว่า “กุลสตรี” เคยถูกก๊อปปี้เนื้อหาไปลงโลกออนไลน์ให้ท้อใจหรือไม่ วิศรุต ตอบทันทีว่า ทุกครั้งที่มีการนำเนื้อหาในนิตยสารไปเผยแพร่ในโลกออนไลน์จะได้รับการอ้างอิงที่มาตลอด อย่างไรก็ตาม ยืนยันไม่ส่งผลกระทบต่อยอดจำหน่ายมากนัก
เขายังกล่าวเพิ่มเติมว่า โชคดีที่ทุกคนใน “กุลสตรี” อยู่กันแบบครอบครัว ยอมรับข้อเสนอใหม่ ๆ ของคนรุ่นใหม่ ทำให้เกิดไอเดียมาต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยจะเป็นในลักษณะให้ลองทำ คือ ให้โอกาสมากกว่า ลองทำดูเพื่อจะได้เรียนรู้เอง โดยมีคนรุ่นเก่าอยู่เบื้องหลัง ทำให้ไม่ค่อยมีปัญหาขัดแย้งเรื่องแนวคิดจนส่งผลกระทบกับงาน
พร้อมกันนี้ยืนยันด้วยว่า "แม้นิตยสารจะปิดตัวไป แต่คนทำหนังสือยังผลิตคอนเทนต์ลงสื่อต่าง ๆ อยู่ ผมเชื่อว่า คอนเทนต์ไม่มีวันตาย แต่ขึ้นอยู่กับว่า จะออกมาในรูปแบบไหนเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเล่มหรือออนไลน์ ทุกอย่างทำได้หมด”
นิตยสารจะอยู่รอด ต้องหาจุดแข็งให้เจอ สำหรับ “กุลสตรี” แล้ว เขาจะเดินหน้าผลักดันให้กลายเป็นแบรนด์เน้นหนักเรื่องสตรี ส่วนเว็บไซต์จะเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป คงไม่รวดเร็วอย่างที่คิด
ด้วยลึก ๆ ของผู้ชายที่ชื่อ “วิศรุต ส่งเสริมสวัสดิ์” ยังอยากให้ผู้อ่านจดจำกุลสตรีในรูปเเบบ “เล่ม” มากกว่า “ออนไลน์” นั่นเอง .
https://www.isranews.org/isranews/62139-kullastreemag.html