"บัวตอง" VS "หอยทากยักษ์" เอเลี่ยนสปีชี่ส์ต่างถิ่นที่กลายเป็นของไทย
จากกรณีที่ อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความพร้อมภาพระบุว่า
"บัวตอง สยองขวัญ จะมีหน่วยงานไหนแข็งแกร่งพอจะออกมาต่อต้าน เอเลี่ยนสปีชีส์แสนงามแต่ร้ายกาจ พืชต่างถิ่นชนิดรุกรานรุนแรง ชนิดนี้กันได้บ้างนะคะ มันทำลายระบบนิเวศน์ดั้งเดิมไปเป็นพันไร่แล้ว และไม่มีท่าทีว่ามันจะหยุด หลังจากร่วมแรงแข็งขันเรื่องหนอนนิวกินีแล้ว ช่วยมาป่าวร้องเรื่องบัวตองกันหน่อยดีมั้ยคะ ต้องใช้พลังมหาศาลสู้กับการท่องเที่ยว กรมวิชาการเกษตร จะออกมาตะโกน ให้ ททท. ได้ยินบ้างไหม จะทำได้ยังไง จะปล่อยนางลอยนวลไปอย่างนี้เหรอคะ ช่วยพืชพื้นเมืองไทยด้วย ช่วยระบบนิเวศน์ท้องถิ่นด้วย สัตว์อื่นจะไม่เหลืออะไรให้กินแล้วนะ บัวตองสร้างสารที่เป็นพิษต่อพืชอื่นรอบๆ เป็นพิษไปหมดทั้งกับ ข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ผักกาด หญ้าพื้นเมือง ต่อไปจะไม่มีต้นอะไรขึ้นได้รอบๆ นางอีกแล้ว”
แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ที่อยู๋ในพื้นที่ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับดอกบัวตองโดยตรงได้ชี้แจงว่า
"ทุ่งดอกบัวตองส่งผลให้ชาวบ้านอยู่ดีมีสุขจากการท่องเที่ยว และบัวตองไม่ได้ไปรุกล้ำพื้นที่การเกษตรของราษฎร ดอกบัวตองที่เป็นทุ่งใหญ่บนดอยแม่อูคอนั้น เป็นเขตของกรมอุทยานแห่งชาติแม่สุรินทร์ ที่มีการจัดการให้ดอกบัวตองอยู่ในท้องทุ่งโดยไม่รุกรานออกไปสู่แปลงพืชผลการเกษตรของราษฎรแต่อย่างใด"
โดยบัวตองเป็นพืชพื้นเมืองของประเทศเม็กซิโก หรือรู้จักกันในชื่อของ Mexican Sunflower เป็นไม้ดอกมีอายุยืนยาวหลายปี ชอบขึ้นในพื้นที่ที่มีอากาศเย็น จะออกดอกสวยบนยอดดอยที่สูงกว่า 800 เมตรขึ้นไป และขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด ทุกปีในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม ต้นบัวตองจะออกดอกเหลืองสะพรั่งเป็นทุ่งทั้งภูเขา จนเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปถึง ดอยแม่อูคอ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จนทำให้ดอกไม้ชนิดนี้เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดของแม่ฮ่องสอนอีกด้วย
หรือเช่นเดียวกันกับ หอยทากยักษ์ ที่อยู่ในประเทศไทยมานาน จนใครหลายๆ คนคิดว่าเป็นสัตว์พื้นถิ่นของประเทศไทยไปแล้ว แต่แท้จริงมีถิ่นกำเนิดในประเทศแถบแอฟริกา ถูกนำเข้ามาเลี้ยงเป็นสัตว์แปลก สัตว์สวยงาม และคาดการณ์ว่าจะเป็นสัตว์เศรษฐกิจ แต่หอยทากยักษ์กลับไม่เป็นที่นิยมทานในประเทศไทย จนทำให้มันถูกปล่อยลงสู่แหล่งธรรมชาติ อีกทั้งไม่มีศัตรูทางธรรมชาติ จนทำให้สามารถขยายพันธุ์ และกระจายไปทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็ว
เพราะความโชคดีของประเทศไทย ทำให้ สัตว์ หรือพืช ต่างถิ่นหลายชนิดจากทั่วโลก สามารถเติบโตได้ดีในประเทศไทย มีอากาศเย็นทางภาคเหนือ จนทำให้ปลูกพืช และเพราะเลี้ยงสัตว์เมืองหนาวได้ ภาคกลางก็ร้อนชื้น อุดมสมบูรณ์ ส่วนภาคใต้ก็ฝนตกชุก จนทำให้สามารถแลี้ยงสัตว์ต่างถิ่นได้แทบจะทุกชนิด แต่ความโชคดีก็มักจะมีความโชคร้ายตามมาด้วย จากความมักง่าย ปล่อยให้สิ่งมีชีวิตออกสู่แหล่งธรรมชาติ จนทำให้สมดุลระบบนิเวศกลายเป็นระบบนิเวศของเมืองไทยไปโดยปริยาย ...
แหล่งที่มา:
• เกษตรแม่ฮ่องสอนยันไม่กระทบ นักวิชาการโพสต์’บัวตอง’ ร้ายกาจศัตรูทำลายพืช
https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_644092
• เมื่อ "บัวตอง" พืชต่างถิ่น (เอเลี่ยนสปีชี่ส์) กับความรับผิดชอบอย่างยั่งยืน
https://pantip.com/topic/37121839