บริหารจัดการน้ำด้วยการสร้างเขื่อนยักษ์รูปหัวใจให้ทั่วไทย
ดร.โสภณเสนอให้สร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ให้ทั่วลุ่มน้ำภาคกลางและภาคเหนือของไทย ตั้งแต่เขื่อนแม่วงก์เพื่อแก้น้ำท่วมฝนแล้ง
ในประเทศไทย อะไร ๆ ก็ดูยากไปหมด เช่นกรณีเขื่อนแม่วงก์ เขาวางแผนจะสร้างเมื่อ พ.ศ.2525 แล้วเพราะชาวบ้านสรุปจากประสบการณ์ตรงว่าเป็นความจำเป็น แต่ก็ถูกเตะถ่วงเรื่อยมา เช่น พ.ศ.2532 ให้ไปศึกษา EIA พ.ศ.2537 ให้ไปศึกษาทางเลือกพื้นอื่น เช่น เขาชนกัน พ.ศ.2541 ให้ทำประชาพิจารณ์ พอประชาชนเห็นควรด้วย พ.ศ.2546 ให้ศึกษาการจัดการลุ่มน้ำแทนการสร้างเขื่อน พอทางเลือกอื่น เช่น ฝาย ไม่ได้ผล พ.ศ.2557 ก็กลับมาอ้างว่าต้นไม้โตแล้ว ห้ามตัดอีก
ในมลรัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา มีเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดยักษ์ชื่อ Taum Sauk ปรากฏว่าครั้งหนึ่งได้แตกของทางมุมหนึ่ง น้ำไหลทะลักจนป่าไม้โดยรอบพังทลายไปในพริบตา บ้านเรือนชาวบ้านถูกน้ำพัดพังเสียหาย แต่ในที่สุดก็ได้ก่อสร้างใหม่ให้แข็งแรงกว่าเก่า นี่ถ้าเกิดขึ้นในประเทศไทย ก็คงถูกสาปส่งไปแล้ว แต่ในประเทศตะวันตก เขามุ่งเอาชนะธรรมชาติ
ในประเทศญี่ปุ่น บางคนไปเที่ยวประเดี๋ยวประด๋าว ก็อาจบอกว่า ญี่ปุ่นนี้ดีหนักหนา เขารักษาป่าไม้ ไว้ได้มากมาย ประเทศไทยเราเสียอีกที่เหลือป่าไม้อยู่น้อยมาก แต่ความจริงก็คือ ญี่ปุ่นและเวียดนามที่ต่างมีประชากรมากกว่าเราและมีขนาดประเทศน้อยกว่าเรา กลับมีป่ามากเพราะป่าที่ว่ามีภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง ผู้คนเข้าไปอยู่ไมได้ เขาเลยอยู่กันอย่างสุดหนาแน่นในเมืองรอบ ๆ ชายฝั่งทะเลนั่นเอง ที่สำคัญญี่ปุ่นมีเขื่อนอยู่เต็มประเทศญี่ปุ่นมีเขื่อนเต็มไปหมด
เพราะน้ำท่วมกรุงเทพมหานครและน้ำไหลทิ้งโดยไร้ประโยชน์ กลายเป็นภาวะภัยแล้ง ผมจึงเสนอให้สร้างเขื่อนให้มาก ๆ แม้บางบริเวณไม่มีภูเขาให้สร้าง ก็ก่อเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เช่นในมลรัฐมิสซูรี ก็มีพวกค้านเขื่อนบางคนบอกว่า ไทยเราจะมี่เขื่อนมาก ๆ ไม่ได้เพราะเดี๋ยวแผ่นดินไหวจะตายกันหมด คงคิดแบบเดียวกับ “พ่อของเด็กชายปลาบู่” ที่เคยมีข่าวการทำนายว่าเขื่อนภูมิพลจะแตก เป็นต้น แต่จากกรณีของญี่ปุ่นข้างต้น จะเห็นได้ว่า แม้เขาจะอยู่ในแนวแผ่นดินไหว แต่เขาสร้างเขื่อนมากกว่าไทยเสียอีก ผมไปสอนนักศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเซียะเหมิน ที่นั่นบนภูเขาก็เต็มไปด้วยเขื่อน
มีบางคนบอกว่าเดี๋ยวนี้ทั่วโลกเขาเลิกสร้างเขื่อนกันแล้ว อันนี้เป็นการ “แหกตา” กันทั้งเพ จากตัวเลขล่าสุดพบว่า ปริมาณเขื่อนที่จะสร้างใหม่มีมากกว่าปริมาณเขื่อนที่ถูกรื้อทิ้ง และที่รื้อทิ้งก็เพราะมีอายุร่วม 100 ปีแล้ว หมดอายุขัยทางเศรษฐกิจ และที่น่าตกใจก็คือที่เขารื้อเขื่อนก็เพราะเขาใช้ไฟฟ้าจากพลังงานอื่น โดยเฉพาะพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งในกรณีประเทศไทยกลัวกันจนลนลานจนกระทั่งเดี๋ยวนี้เราต้องไปซื้อไฟฟ้ามาใช้จากประเทศลาว
ส่วนที่เวียดนาม ก็มีบางคนบอกว่า เขาเลิกสร้างเขื่อนไปหลายเขื่อนแล้ว แต่ในความเป็นจริง เขื่อนที่เลิกไปนั้น มักสร้างไม่ได้มาตรฐานโดยนักลงทุนจากประเทศจีน แต่ปริมาณเขื่อนขนาดกลางขนาดเล็กคล้ายเขื่อนแม่วงก์ของไทยที่มีขนาดเล็กกว่าเขื่อนภูมิพลถึง 50 เท่านั้น มีสร้างกันมหาศาลในเวียดนามและที่น่าตกใจอีกเช่นกันก็คือโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ของเวียดนามก็จะเสร็จในไม่ช้า เขาวางแผนที่จะสร้างนับสิบโรง โดยโรงที่อยู่ใกล้ไทยที่สุดตั้งอยู่ห่างเพียง 200 กิโลเมตรเท่านั้น ถ้าระเบิด (เถิดเทิง) ขึ้นมาเมื่อไหร่ ไทยก็คงไม่รอด! แต่เราไม่ควรกลัว เพราะถ้ากลัว เราคงต้องไม่ไปเที่ยวเกาหลี ญี่ปุ่น และยุโรปอันแสนโรแมนติก เพราะที่เหล่านั้นเต็มไปด้วยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นับร้อย ๆ แห่ง
เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารโลกได้ "เลี้ยว" กลับหลังหันครั้งใหญ่ ด้วยการผลักดันโครงการไฟฟ้าพลังน้ำทั่วโลก เพราะเล็งเห็นว่าเขื่อนจะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนคนเล็กคนน้อยโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งสามารถช่วยแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจกได้อีกด้วย ประธานและรองประธานธนาคารโลกกล่าวว่า ที่แล้วมาการค้านเขื่อนเป็นสิ่งที่ผิด เป็น "Wrong Message" แต่ตอนนี้เราได้กลับมาคิดใหม่แล้ว "This is now. We are back".
การสร้างเขื่อนแม่วงก์จะคืนธรรมชาติให้ดีขึ้น เพราะน้ำคือชีวิต น้ำจะทำให้ป่าไม้รกชัฏ มีแหล่งอาหารให้สัตว์ป่า สามารถใช้น้ำดับเพลิงได้ (เพราะที่ป่าแม่วงก์เกิดไฟไหม้ปีละนับร้อยหน) สัตว์ป่าก็จะแพร่พันธุ์ได้มากขึ้น มีเขื่อนเป็นปราการป้องกันการล่าสัตว์ ที่สำคัญสำหรับประชาชนคนเล็กคนน้อย ก็จะมีเขื่อนไว้ป้องกันน้ำท่วม แก้ภัยแล้ง ผลิตไฟฟ้า ประมง ท่องเที่ยวก็ได้ประโยชน์ไปด้วย ยิ่งพูดถึงความคุ้มค่าก็แทบไม่ต้องพูดถึง ทุกวันนี้รัฐบาลต้องจ่ายเงินชดเชยน้ำท่วม ฝนแล้งแก่ชาวบ้านใกล้เคียงนับร้อยนับพันล้านบาทต่อปี เทียบกับค่าสร้างเขื่อน 13,000 ล้าน จึงนับว่าคุ้มมาก รัฐบาลควรสร้างเขื่อนแม่วงก์และอ่างเก็บน้ำยักษ์ทั่วประเทศ อย่าไปเชื่อเอ็นจีโอ เขื่อนและอ่างเก็บน้ำยักษ์ยังสามารถเติมน้ำให้เก็บไว้ได้อยู่ตลอดเวลา จากแม่น้ำลำคลองในหน้าน้ำ ไม่ใช่เพียงแค่รอน้ำฝนจากธรรมชาติเท่านั้น
น่าเสียดายมากหากน้ำจืดไหลลงทะเลโดยไม่ได้ใช้ และยิ่งเสียดายมากหากทำลายเศรษฐกิจก่อนไหลลงทะเล
ที่มา: https://goo.gl/DE2Ty5