"คุณเห็นรองเท้านี้เป็นสีอะไร ชมพูคาดขาว หรือ เทาคาดเขียว"
อาจารย์เจษฎากล่าวว่า กลายเป็นกระแสไวรัลไปทั่วโลก กับภาพปริศนา-ถามสีอะไร กันอีกแล้ว หลังจากที่ปีก่อนมีรูปภาพชุดเดรสยาว ที่ต้องมาเถียงกันว่าเป็นน้ำเงิน-ดำ หรือขาว-ทอง ... คราวนี้มีในรูปของรองเท้าผ้าใบ ที่หลายคน (รวมทั้งผมด้วย) มองว่ามันเป็นสีเทา คาดด้วยเส้นลายสีเขียว ขณะที่อีกหลายคนก็บอกว่า ไม่ๆๆ มันเป็นสีชมพู แล้วคาดด้วยเส้นสีขาวต่างหาก ... ตกลงว่ามันสีอะไรกันแน่ครับ ?
"คุณเห็นรองเท้านี้เป็นสีอะไร ชมพูคาดขาว หรือ เทาคาดเขียว"
กลายเป็นกระแสไวรัลไปทั่วโลก กับภาพปริศนา-ถามสีอะไร กันอีกแล้ว หลังจากที่ปีก่อนมีรูปภาพชุดเดรสยาว ที่ต้องมาเถียงกันว่าเป็นน้ำเงิน-ดำ หรือขาว-ทอง ... คราวนี้มีในรูปของรองเท้าผ้าใบ ที่หลายคน (รวมทั้งผมด้วย) มองว่ามันเป็นสีเทา คาดด้วยเส้นลายสีเขียว ขณะที่อีกหลายคนก็บอกว่า ไม่ๆๆ มันเป็นสีชมพู แล้วคาดด้วยเส้นสีขาวต่างหาก ... ตกลงว่ามันสีอะไรกันแน่ครับ ?
คำตอบคือ สีชมพู-ขาว ครับ อ้าว ... ภาพนี้ เริ่มจากการที่สาวนางหนึ่ง ชื่อ Nicole Coulthard ได้โพสต์รูปรองเท้าลงในเฟซบุ้ค Girlsmouth เนื่องจากเพื่อนของเธอไปซื้อรองเท้ามา แล้วถ่ายรูปส่งไปให้คุณแม่ดู ซึ่งคุณแม่ไม่เห็นเป็นสีชมพูด้วย แต่เห็นเป็นสีเทาคาดเส้นสีเขียวอมฟ้า ?!
เกิดอะไรขึ้นกับรองเท้าสีปริศนานี้ ... ถ้าเราเอาภาพดังกล่าวไปเข้าโปรแกรมอย่าง Photoshop เพื่อเช็คค่าสี คำตอบที่ได้ กลับเป็นสีเทา-เขียว ? .. แต่ถ้าสังเกตดูดีๆ ที่มือของคนที่ถือรองเท้านั้นไว้ จะเห็นว่าสีของมือมันเพี้ยนๆ ออกไปทางอมเขียว ... และถ้าใครลองปรับสีของมือให้กลับเป็นสีธรรมชาติขึ้น รองเท้ากลับจะมาเป็นสีชมพูตามความเป็นจริงอีกครั้ง
คำสรุปของเรื่องนี้ ที่สีรูปรองเท้าเพี้ยนจากสีชมพู-ขาว มาเป็นสีเทา-เขียวได้ ก็เป็นผลมาจากสภาพแสงที่ไม่ค่อยดีในการถ่ายภาพจากการใช้แฟลชในที่มืด รวมทั้งคุณภาพของกล้องเองที่บันทึกสีเพี้ยนไป
แต่ เอ๊ะ แล้วทำไมบางคนที่เห็นเป็นสีชมพูได้ถูกต้องล่ะ ? ... เรื่องนี้ก็อธิบายได้เหมือนกรณีของชุดเดรสเลยนะ ดังนี้
ดวงตาของเรานั้นมีเนื้อเยื่ออยู่ด้านหลัง ที่เรียกว่า เรติน่า (retina) ซึ่งมีเซลล์รับแสง (photoreceptor) อยู่ เซลล์รับแสงจะส่งสัญญาณผ่านระบบประสาทไปยังสมองเพื่อตีความรูปหรือภาพที่เราเห็น เซลล์รับแสงนั้นมี 2 แบบคือแบบแท่ง (rod) และแบบกรวย (cone) เซลล์รับแสงแบบแท่งจะรับภาพแบบกลางคืน ที่เป็นเฉดของสีเทาและความสว่าง ... ขณะที่เซลล์แบบกรวยจะรับภาพแบบกลางวัน ที่เป็นสีสันต่างๆ โดยเซลล์แบบกรวย จะแบ่งเป็น 3 พวก รับแสงที่ความยาวคลื่นต่างกัน หรือก็คือรับสีต่างกัน คือ รับสีเขียว สีแดง สีฟ้า ซึ่งสมองของเราจะประเมินว่าภาพที่เห็นนั้นเป็นสีอะไร ก็จากการผสมกันของสัญญาณที่มาจากเซลล์ทั้ง 3 พวกนี้
ดังนั้น จากการที่กระบวนการรับสัญญาณของเซลล์รับภาพแบบกรวยในแต่ละคนนั้น มีความแตกต่างกันไป ภาพที่ถ่ายออกมาแล้วมี "ความสว่างต่ำ" และ "การเหลือบของสี" อย่างภาพรองเท้านี้หรือภาพชุดเดรสก่อนหน้านี้ ก็จะทำให้สมองแต่ละคนประมวลผลภาพออกมาต่างกันไปด้วย
โดยถ้าสมองของบางคน ตีความภาพนั้นว่ามีแสงสว่างเพียงพอแล้ว ก็มีแนวโน้มที่จะมองภาพรองเท้าไปเป็นสีเทาคาดเขียว (หรือชุดเดรส เป็นสีน้ำเงิน-ดำ) ขณะที่ถ้าสมองของใคร ตีความว่าภาพนี้ยังมืดเกินไป ก็มีแนวโน้มจะมองภาพนั้นให้ชดเชย "แสงสว่าง" มากขึ้น เห็นภาพรองเท้าเป็นสีชมพูคาดขาว (หรือชุดเดรส เป็นสีขาว-ทอง)
ขณะที่การที่ภาพนี้มีสีเหลือบไปในทางฟ้าอมเขียวตั้งแต่แรก สมองของคนที่เซนซิทีฟกับภาพที่มีสีเหลือบ ก็จะพยายามชดเชย "สี" ให้มีการอมฟ้าน้อยลง ภาพที่จะได้ก็จะออกมาสีชมพูมากขึ้น
ลองดูจากภาพสุดท้ายก็ได้นะ ที่เป็นแถบสีน้ำเงินสลับกับสีอื่นๆ โดยด้านบนของภาพนั้น เรามักจะเห็นแถบสีน้ำเงินสว่างขึ้นกว่าปรกติ ขณะที่ด้านล่างของภาพนั้น เรามักจะเห็นแถบสีน้ำเงินเข้มขึ้นมืดขึ้น ทั้งที่ จริงๆ แล้ว แถบสีน้ำเงินนี้เป็นสีเดียวกันหมดทั้งภาพเลย
แหล่งที่มา: https://www.facebook.com/jessada.denduangboripant?hc_ref=ARRD08qfFV4uLTvVFyMMQE48_wyno_M1vD4Ba--eN7xn14apIL-5xJ5OfqtRgs_EQ64
เพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์