พันตำรวจเอก พายิ่งลักษณ์หลบหนี ผิดวินัยร้ายแรง แต่ขับรถสวมทะเบียนปลอมนั้นเห็นว่าไม่ถึงขั้นผิดวินัย???
ฟันผิดวินัยร้ายแรง ‘พันตำรวจเอก’ พายิ่งลักษณ์หลบหนีออกชายแดน
.
ประเด็นสืบเนื่องจากการหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาคดีโครงการรับจำนำข้าวของอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งต่อมามีการสืบทราบภายหลังพบรถยนต์โตโยต้า คัมรี่ สีบรอนซ์เงิน ทะเบียน ฌข 5323 กรุงเทพมหานคร รถต้องสงสัยในการพาอดีตนายกฯ หญิงเดินทางออกนอกประเทศทางชายแดนจังหวัดสระแก้ว โดยมี พ.ต.อ. ชัยฤทธิ์ อนุฤทธิ์ รองผู้บังคับการนครบาล 5 (รอง ผบก.น. 5) เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการหลบหนีครั้งนี้
จากเหตุการณ์ดังกล่าว พ.ต.อ. ชัยฤทธิ์ มีชะตากรรมที่ต้องเผชิญตามระเบียบ คือความผิดทางอาญา (ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ม.157) และความผิดทางวินัยขั้นร้ายแรง
.
ย้อนไปเมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ตำรวจนำหมายค้นเข้าค้นบ้านอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ย่านซอยโยธินพัฒนา 3 เพื่อนำข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวไปตรวจเทียบดีเอ็นเอว่าตรงกับดีเอ็นเอที่อยู่บนรถยนต์ โตโยต้า คัมรี่หรือไม่
ต่อมาวันที่ 6 ตุลาคม ผลเทียบดีเอ็นเอออกมาว่า “ไม่สามารถเปรียบเทียบดีเอ็นเอได้ เนื่องจากดีเอ็นเอที่เก็บได้ในรถมีสิ่งเจือปนจำนวนมากเพราะที่นั่งด้านหลังอาจมีคนเคยนั่งหลายคน”
.
พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. กล่าวว่า เมื่อไม่มีผลดีเอ็นเอที่เป็นหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ มีเพียงคำให้การเพียงอย่างเดียว จึงไม่สามารถดำเนินคดีกับ พ.ต.อ. ชัยฤทธิ์ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เป็นเจ้าหน้าที่รัฐประพฤติมิชอบได้ พร้อมสั่งการให้หาพยานหลักฐานอื่นๆ เพิ่มเติมแทน
เท่ากับว่า ‘พ.ต.อ. ชัยฤทธิ์’ ยังไม่ถูกดำเนินคดีอาญา แต่ยังต้องพบกับความผิดทางวินัยราชการ
.
ล่าสุดช่วงบ่ายวันนี้ (16 ต.ค.) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล มีการประชุมคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงเอาผิดทางวินัย พ.ต.อ. ชัยฤทธิ์
โดยคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า พ.ต.อ. ชัยฤทธิ์ผิดวินัยร้ายแรง กรณีพาอดีตนายกรัฐมนตรีไปส่งที่ชายแดน เพราะทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรงผิดตาม ม.79 (6) ส่วนกรณีขับรถยนต์โตโตต้า คัมรี่ ซึ่งเป็นรถสวมทะเบียนปลอมนั้นกรรมการเห็นว่าไม่ถึงขั้นผิดวินัย
ขั้นตอนต่อไปคือ การสรุปสำนวนเสนอให้ พล.ต.ท. ชาญเทพ เสสะเวช รักษาราชการแทน ผบช.น. แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงอีกครั้ง
---------------------------------------------------------
ความผิดเกี่ยวกับการปลอมป้ายทะเบียนรถยนต์
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 264 ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้น ถ้าได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน ให้ถือว่าผู้นั้นปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน
มาตรา 265 ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท
มาตรา 268 ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267 ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ
ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น หรือเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความนั้นเองให้ลงโทษตามมาตรานี้แต่กระทงเดียว