หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม แต่งรูป คำคม Glitter สเปซ ไดอารี่ เกมถอดรหัสภาพ เกม วิดีโอ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

รัฐสวัสดิการ...

โพสท์โดย dominiqa

อเมริกาเริ่มดำเนินการเรื่องนี้จริงจังสมัย Frances Perkins เป็น Secretary of Labour ให้กับประธานาธิบดีรูสเวลท์ มุ่งที่จะสร้างหลักประกันบางอย่างให้แก่ประชาชน เพื่อมิให้ต้องอดอยาก ขาดปัจจัยใช้สอยที่จำเป็นต่อการดำรงชีพเวลาเจอปัญหาวิกฤติ ทั้งนี้ Perkins ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้บุกเบิกเรื่องนี้อย่างจริงจัง

แต่จริงๆ คนคิดเรื่องนี้นั้นต้องย้อนกลับไปสมัยอาณาจักรเยอรมันคือ Otto von Bismarck ซึ่งพยายามทำเรื่องนี้เพื่อป้องกันมิให้ประชาชนหวนคิดอยากกลับไปสนับสนุนแนวคิดการปกครองแบบ Karl Marx และ Friedrich Engels

 

หากย้อนดูรายละเอียดดีๆ คงเป็นสัจธรรมในสังคม ที่หากเราเปิดให้ใช้ชีวิต ค้าขายธุรกิจตามหลักเสรีนิยม ก็จะมีผู้ชนะและผู้แพ้ คนรวยและคนจน ทั้งนี้คนรวยก็มีแนวโน้มได้เปรียบในการแข่งขันมากขึ้นเรื่อยๆ จนครองทรัพยากรต่างๆ จนหมดหรือเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่คนจนก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ โอกาสถดถอยลงเรื่อยๆ หรือที่เราเรียกว่าปรากฏการณ์ช่องว่างทางสังคมที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วดังที่พบเห็นดาษดื่นในปัจจุบัน

 

ในขณะเดียวกัน หากไม่เปิดเสรี แต่มีรัฐหรือใครสักคนสักพวกที่จัดการเบ็ดเสร็จ สร้างกรอบการใช้ชีวิตสำหรับประชาชน พร้อมจัดสรรสิ่งต่างๆ ให้ เพื่อให้ทุกคนได้เท่ากัน แม้จะดูยุติธรรมในหลักการ แต่เราย่อมรู้กันดีว่าไม่มีความยุติธรรมแบบหมดจดในโลกนี้ ระบบดังกล่าวกลับทำให้วงอำนาจมีสิ่งต่างๆ ล้นเหลือ ทั้งอำนาจ ตำแหน่ง และทรัพยากร ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้สิ่งที่จัดสรรให้แม้จะเท่ากัน แต่โอกาสเพียงพอนั้นแทบไม่มี และนำมาซึ่งการวิ่งเต้นหลากหลายรูปแบบตามมาไม่มีที่สิ้นสุด

 

ด้วยเหตุดังกล่าว หลายคนจึงประจักษ์ชัดว่า เสรีสุดโต่งก็ไม่ดี รวมศูนย์อำนาจสุดโต่งก็ไม่ไหว เลยถวิลหาแนวทางกลางๆ เป็นแนวทางที่เรียกหรูๆ ในรูปแบบระบบจัดการความเสี่ยงในชีวิตที่เรียกว่า "รัฐสวัสดิการ หรือสวัสดิการแห่งรัฐ"

 

เล่าไปเล่ามาเริ่มคิดถึงเรื่องคุ้นๆ ใกล้ตัวพวกเราใช่ไหม

สวัสดิการนั้นมีทั้งในรูปแบบผลประโยชน์ที่ได้รับเมื่อคนนั้นมีคุณสมบัติตามที่กำหนด (benefits) และในรูปแบบสิทธิที่ทุกคนจะได้เหมือนกันหมด (rights)

ไม่ว่าที่ใดๆ ก็พบสถานการณ์แบบเดียวกันคือ ทรัพยากรมีจำกัด ในขณะที่ความต้องการของคนนั้นไม่มีที่สิ้นสุด

 

คำถามสำคัญที่ต้องช่วยกันขบคิดคือ หากจะจัดระบบรัฐสวัสดิการภายใต้ทรัพยากรที่มีจำกัดและความต้องการที่ไม่มีที่สิ้นสุดหรือเกินคาดประมาณนั้นจะมีลักษณะอย่างไร อะไรเป็นผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม (benefits) และอะไรเป็นสิทธิของทุกคน (rights)

 

ใจเย็นครับ ค้นหาให้พลิกแผ่นดินพลิกโลกก็ไม่มีคำตอบสำเร็จรูปให้เราก๊อปปี้มาใช้ เพราะยังไม่มีที่ใดเลยที่จะตอบคำถามดังกล่าวได้

หลายคนจึงเริ่มตระหนักว่า คนที่จะตอบได้นั้นมีแค่คนในสังคมนั้นที่จะช่วยกันคิด ช่วยกันลองทำ และเรียนรู้ไป หรือง่ายๆ สั้นๆ ว่า โลกสวยด้วยมือเรานั่นเอง

 

เมืองไทยจะทำอย่างไรคงต้องติดตามกันดูว่า วิวาทะที่ผ่านมาระหว่างกลุ่มในวงการสุขภาพก่อให้เกิดความขุ่นข้องหมองใจระดับหนึ่ง ภายใต้ความปรารถนาที่จะปรองดอง แต่สุดท้ายก็ดูเหมือนสงบลงไปผ่านเกมส์การชิงไหวชิงพริบ จนเกิดการจัดสรรอำนาจบทบาทหน้าที่กันอย่างสุขสมอารมณ์หมาย ตอนนี้เหมือนจะอยู่ในระยะเก็บตัว และขับเคลื่อนแบบเงียบๆ ระแวดระวังท่าทีเลยทีเดียว

 

เรื่องรัฐสวัสดิการนั้นหลายที่ในโลกพยายามทำ แคนาดาก็เช่นกันตั้งแต่ช่วงค.ศ.1970 ต้นๆ โดยรัฐบาลสมัยนั้นทดลองทำโครงการจัดสรรเงินเลี้ยงชีพขั้นพื้นฐานให้ประชาชนทุกคนเท่าๆ กัน ในพื้นที่นำร่อง 3 เมือง ได้แก่ Winnipeg, Manitoba และ Dauphin ภายใต้ชื่อว่าโครงการทดลอง Mincome โดยทำในลักษณะการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม แล้วติดตามดูว่าจะเกิดผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพหรือไม่ อย่างไร

ทำไป 4 ปี พอเปลี่ยนรัฐบาลก็ยุติไป ไม่มีรายงานอย่างเป็นทางการออกมา แต่มีรายงานย่อยๆ ในลักษณะผลวิจัยจากกลุ่มนักวิชาการแต่ละแขนงที่ติดตามโครงการนี้ออกมาเรื่อยๆ สรุปได้ความว่า การแจกเงินในลักษณะดังกล่าวใช้งบจำนวนมากเพื่อสร้างหลักประกันความเสี่ยงไม่ให้ประชาชนขัดสนจนอดอยากนั้นไม่ได้ทำให้เกิดผลกระทบทางลบที่หลายคนกังวล กล่าวคือ ไม่ได้ทำให้คนลาออกจากงานมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (เพื่อรอรับแต่เงินเลี้ยงชีพโดยไม่ทำงาน)

 

ที่น่าสนใจคือ หลังจากการดำเนินการดังกล่าวไป อัตราการมาใช้บริการรักษาพยาบาลของประชาชนในพื้นที่นำร่องเหล่านั้นลดลงราวร้อยละ 10 ทั้งแผนกผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน และฉุกเฉิน รวมถึงรายงานปัญหาด้านจิตเวช เช่น เครียด ซึมเศร้า ก็ลดลงในอัตราใกล้เคียงกัน

 

เล่ามาให้อ่านเล่นประดับความรู้ และคิดต่อยอดกันตามอัธยาศัย เพราะยังไม่มีการติดตามศึกษาความคุ้มค่าโดยรวมจากการดำเนินนโยบายเช่นนี้ และความเป็นไปได้ในการจัดการระดับประเทศ เพราะเห็นค่อนข้างชัดเจนว่างบประมาณที่ใช้อาจเป็นก้อนใหญ่เบ้อเริ่มแปรผันตามระดับเงินเลี้ยงชีพที่จัดสรรให้ประชาชน

 

รัฐสวัสดิการเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทั่วโลก ภายใต้สังคมเศรษฐกิจที่อิงแอบแนบชิดกับระบบทุนนิยม

แต่ช่างท้าทายเหลือเกินว่า เราจะจัดการระบบสวัสดิการนี้ให้คนของเราอย่างไรดี

 

ด้วยรักต่อทุกคน

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

 

หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก thestandard.com

ขอบคุณที่มา: สำนักข่าวอิศรา
http://www.thaitribune.org/contents/detail/312?content_id=29836&rand=1507619677
⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
dominiqa's profile


โพสท์โดย: dominiqa
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
8 VOTES (4/5 จาก 2 คน)
VOTED: Ployza
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
เขมรอ้างเล่นสาดน้ำมาตั้งแต่คศ.1974 แต่โป๊ะแตก! ตอนนั้นเขมรมีสงครามอยู่เลย?ลูกค้าหนุ่มเศร้า หลังรีวิวชุดกีฬาที่ซื้อมา แต่ดันพลาดเห็นหนอนน้อย"ลาบูบู้" ไม่รอด โดนเขมรเคลมเรียบร้อยแล้ว..บอกรากเหง้ามาจาก "หน้ากาล"ชาวเน็ตจีนวิจารณ์หลังสถานีรถไฟใหม่หน้าตาเหมือนโกเต็กiPhone รุ่นประหยัดมาแล้ว!
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
สาว "เจี๊ยบ" ทำเนียนเดินรวมกับ นร.ญี่ปุ่น..ทำเอาหนุ่ม "บอย" ถึงกับแยกไม่ออกชาวลาวไม่ทน! หลังหนุ่มจีนโพสทิ้งเงินกีบลงในถังขยะ ทำคนลาวถึงกับไม่พอใจ?อิหร่านขู่ถล่มที่ตั้งนิวเคลียร์ ของอิสราเอลด้วยขีปนาวุธชวนมารู้จักลาบูบู้ มาการอง เดี๋ยวจะคุยกับเค้าไม่รู้เรื่อง
กระทู้อื่นๆในบอร์ด สาระ เกร็ดน่ารู้
รีวิวหนังสือ ฉันแข็งแกร่งพอที่จะเชื่อความคิดของตัวเองtorment: ทรมาน ระทมทุกข์"Colosseum" โคลอสเซียม ณ อิตาลีenhance: เสริม ยกระดับ ทำให้มากขึ้น
ตั้งกระทู้ใหม่