สุดยอด!! เครื่องดักจับละอองน้ำในอากาศ: Warka Tower
ในพื้นที่ที่มีน้ำสะอาดสำหรับบริโภคจำกัดจากปริมาณน้ำฝนที่น้อย แหล่งน้ำผิวดินอาจเกิดการปนเปื้อนจากการสาธารณสุขที่ไม่พัฒนา ทั้งยังขาดการสาธารณูปโภคที่ดี การจะหาแหล่งน้ำดื่มที่มีคุณภาพดูเป็นไปได้ยาก สถาปนิก Arturo Vittori ชาวอิตาลีเจ้าของบริษัท Architecture and Vision และผู้ก่อตั้งองค์กร Warka Water ได้เสนอการดักจับน้ำในอากาศให้กลั่นตัวเป็นน้ำดื่มสะอาดสำหรับประชากรในพื้นที่ที่ประสบปัญหานี้
Warka Tower มีลักษณะเป็นหอคอยโครงสร้างไม้ไผ่เส้นยาวและเหนียวถักทอเป็นผิวอาคาร ภายในติดตั้งผืนผ้าตาข่ายที่ทอขึ้นด้วยวัสดุในท้องถิ่น เช่น เชือกปอ จากหลักการทางวิศวกรรมของชิ้นงานที่มีรูปทรงเป็นท่อสูงกลวงทำให้เกิดการไหลเวียนของอากาศ ละอองน้ำในอากาศที่ไหลผ่านช่องตาข่ายจะถูกดักจับไว้ และเมื่อมีปริมาณมากพอจะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำไหลลงสู่ภาชนะรองรับที่วางไว้ใต้หอคอย
ตัวหอคอยถูกออกแบบให้สร้างได้ง่ายด้วยเครื่องมือพื้นฐานที่หาได้ในชีวิตประจำวันและใช้เทคโนโลยีก่อสร้างที่ไม่ซับซ้อน แต่ในการติดตั้งจำเป็นต้องอาศัยการทำงานรวมกันของคนหนึ่งกลุ่มใหญ่ งานออกแบบชิ้นนี้ จึงไม่ได้แค่ตอบโจทย์ในเรื่องของแหล่งน้ำดื่มสำรองเท่านั้น แต่ยังกระตุ้นให้ชุมชนทำงานร่วมกันในการหาน้ำดื่มอีกด้วย เมื่อทรัพยากรเป็นผลลัพธ์ของการมีส่วนรวมของทุกคนก็จะยิ่งมีคุณค่าและไม่ถูกทิ้งขว้าง
Warka Tower ชิ้นแรกถูกติดตั้งที่ประเทศเอธิโอเปีย (Ethiopia) ในปี 2015 และโครงการก่อสร้างได้วางแผนจะขยายไปยังประเทศอื่น ๆ รวมถึงเฮติ (Haiti) เนปาล (Nepal) อินเดีย (India) โคลัมเบีย (Columbia) และซุมบา (Sumba) (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.warkawater.org)
เทคโนโลยีใหม่เพื่อน้ำสะอาด: Metal-organic Frameworks (MOFs)
นอกจากในทางการออกแบบจัดการสิ่งแวดล้อม ในทางวิศวกรรมศาสตร์ก็มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาด นักวิจัยของสองมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกคือ Massachusetts Institute of Technology (MIT) และ University of California at Berkeley ได้พัฒนาวัสดุชนิดใหม่ที่มีรูพรุนและสามารถดักจับไอน้ำในอากาศได้แม้ในพื้นที่แห้งแล้ง โดยอาศัยเพียงความร้อนเล็กน้อยจากแสงอาทิตย์
วัสดุชนิดใหม่นี้เกิดจากการจับคู่กันของสารประกอบโลหะกับสารประกอบอินทรีย์หลากหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดมีความเหมาะสมในการดักจับโมเลกุลน้ำในอากาศที่ต่างกันไปตามแต่ละสภาพภูมิอากาศ ทำให้ MOFs สามารถปรับให้เหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละพื้นที่ ถึงแม้วัสดุชนิดนี้จะยังอยู่ในขั้นทดลอง แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ได้แสดงให้เห็นความหวังใหม่ ๆ จากโลกการศึกษาต่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม(อ่านเพิ่มเติมได้ที่http://news.mit.edu/2017/MOF-device-harvests-fresh-water-from-air-0414)
เรากำลังเดินมาถูกทางไหมในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาด?
การแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาดในปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่การหาแหล่งน้ำทดแทนที่มีความซับซ้อนและยุ่งยาก เพราะการลดปัญหามลพิษในสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องใช้เวลาและอาจมีความยุ่งยากสูงขึ้นไปอีก แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า เราจะหาแหล่งน้ำทดแทนได้เพียงพอกับคนจำนวนถึง 2.4 พันล้านคนที่กำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนน้ำที่มีคุณภาพดีพอสำหรับดื่มกิน โดยตัวเลขจำนวนนี้นับเป็นอัตราส่วนถึง 1 ใน 3 ของประชากรโลก 7.5 พันล้านคนในปัจจุบัน
แหล่งที่มา: http://www.warkawater.org/
บางส่วนจาก https://thaipublica.org/2017/10/landscape-architecture-and-sustainability02/