หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม แต่งรูป คำคม Glitter สเปซ ไดอารี่ เกมถอดรหัสภาพ เกม วิดีโอ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

ดราม่าพระปรางค์วัดอรุณ

โพสท์โดย คุณบี๋

 

ดราม่าพระปรางค์วัดอรุณ : เดี๋ยวดำเดี๋ยวขาว

ซีรีส์นี้ยาว ต้องลำบากน้าๆมาตามอ่านกันหน่อยนะจ๊ะ

เท่าที่น้าตามอ่านๆดูดราม่าและความเห็นต่างๆเกี่ยวกับกรณีการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณเวอร์ชั่นขาวผ่องแผ้วนพคุณ พบว่าแม้จะดูมีประเด็นแต่ก็ค่อนข้างสับสนอลหม่านเพราะเอานั่นมาโปะนี่ เอานี่มาเกี่ยวกะโน่น เพื่อจะเอามาด่าไอ้นั่น มันเลยอีรุงตุงนังยากแก่ความเข้าใจ เหลือไว้แต่ความรู้สึกขัดข้องใจแบบอึนๆบอกไม่ถูก

ดังนั้น เรามาใจร่มๆ ค่อยๆสางออกทีละเรื่อง ว่ากันทีละส่วนเนาะ

- อันดับแรก ว่าด้วยดราม่าต้นทางซึ่งปรากฎว่าเป็นการเอารูปจากพระปรางค์คนละองค์ ได้แก่ปรางค์ทิศกับปรางค์ประธาน มาเทียบรายละเอียดกัน โดยพยายามบอกว่ารายละเอียดการประดับกระเบื้องหายไป โดยเฉพาะตรงตัวยักษ์แบก ซึี่งข้อเท็จจริงก็คือ รูปปั้นยักษ์ของปรางค์ประธานจะมีรายละเอียดการตกแต่งกระเบื้องมากกว่ายักษ์ของปรางค์ทิศแต่แรกแล้ว แต่นี่ดันเอาข้อมูลแบบสุดทางแต่ละด้านมาปนกัน คือ เอารูปเก่าของปรางค์ประธาน มาเทียบกับรูปปรางค์ทิศหลังการบูรณะ เลยยิ่งทำให้เกิดดราม่าลุกลามไปอีก

พอบอกอย่างนี้เสร็จ ดราม่าก็เบนไปลงที่ความขาวโอโม่แบบขัดใจสาธารณะชน พระปรางค์วัดอรุณต้องขรึมๆขลังๆ สีเข้มกว่าเน้เซ่!!!

- งั้นเรามาดูกันซิว่า ไอ้สีขาวที่เห็น มันคืออะไร? และสีคล้ำๆที่เคยเป็น มันคืออะไร?

สีขาวที่เห็นตอนนี้ มันคือ สีของปูนตำจ้าาาาา
ปูนตำ หรือปูนหมัก เป็นวัสดุก่อสร้างพื้นฐานในงานสถาปัตยกรรมดั้งเดิมในบ้านเรา ได้มาจากการเผาหินปูนหรือเปลือกหอย ตำป่นแล้วผสมเข้ากับทรายและอินทรีย์วัตถุเพิ่มความเหนียว อาทิ กาวหนัง น้ำตาลอ้อย แล้วหมักทิ้งไว้จนเหนียวนุ่มใช้งานได้ งานปั้นงานฉาบก็ปูนตำทั้งนั้น สีจะขาวตุ่นๆตามธรรมชาติ ถ้าอยากขาวขึ้นอีกนิดก็ทาน้ำปูนเข้าไปอีก

นั่นก็คือ การบูรณะในครั้งนี้ เป็นการนำเอาวัสดุดั้งเดิมมาใช้นั่นแหละจ้า ซึ่งมีความเหมาะสมตามหลักวิทยาศาสตร์และปรัชญาการอนุรักษ์อีกด้วย

แล้วไอ้ดำคล้ำของเดิมล่ะ? นั่นเป็นมรดกจากการซ่อมในรุ่นไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา มันคือ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ หรือปูนดำ ซึ่งแต่ก่อนเป็นปูนสมัยใหม่ของฝาหรั่งเขา มาถึงยุคนึงคนก็ดันเอามาใช้ในการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมกันเยอะแยะเลยจ้า ปูนดำมันดีนะ มันแข็งแรง แต่ต่อมากลายเป็นว่ามันกลายเป็นหายนะของโบราณสถาน เพราะคุณสมบัติความแข็งของมันนั้นตามมาด้วยจุดด้อยเรื่องการระบายความชื้น ซึ่งเป็นจุดเสียงของโบราณสถานประเภทอิฐในบ้านเรา ฉาบไปก็เหมือนเอาอิฐโครงสร้างข้างในแช่น้ำเปียกๆแห้งๆ จนเสื่อมสภาพเปื่อยยุ่ยอย่างรวดเร็ว
พอวิชาการด้านการอนุรักษ์ก้าวหน้าในกาลต่อมา ก็เลยต้องรณรงค์ให้เลิกใช้ปูนพวกนี้ หันมาใช้ปูนตำปูนหมักกันดีกว่า เพราะระบายความชื้นดีกว่า

นอกจากนี้ ในกรณีการซ่อมพระปรางค์วัดอรุณด้วยปูนดำนี้ ยิ่งสร้างความฉิบหายอีกสถาน นั่นคือ มันทำลายโอกาสในการซ่อมแซมภายหลัง เพราะสิ่งก่อสร้างโบราณนั้นจะช้าเร็วก็ต้องถึงอายุซ่อมแซมด้วยกันนั่นเอง โดยเฉพาะกับกระเบื้องดินเผาเคลือบที่ประดับผิวอันเป็นจุดเด่นด้านความงามของพระปรางค์!!! เพราะแม้ว่าปูนตำจะมีอายุไขเพียงสิบยี่สิบปีก็ยุ่ย แต่มันก็ไม่ทำร้ายกระเบื้องประดับเหล่านั้น ในขณะที่ปูนดำซึี่งแข็งชิบหาย พอจะซ่อม แค่สกัดออกแม่งก็ลากให้กระเบื้องเคลือบแตกหักบรรลัยไปด้วย

สรุปประเด็นนี้ง่ายๆว่า เดิมทีพระปรางค์วัดอรุณก็สร้างโดยใช้ไอ้ปูนตำนี่แหละ แปลว่าแต่แรกสร้างก็เคยขาวจั๊วะอย่างนี้ ต่อมาคนดันไปใช้ปูนดำ ทีนี้ก็เลยวายป่วงอยู่หลายปีจนต้องค่อยๆมาตามแก้กันภายหลังนี่แหละจ้ะ

ถึงจุดนี้ เรื่องปูนตำน่าจะเป็นการให้เหตุผลด้านการอนุรักษ์ที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง
แต่ก็เกิดคำถามตามมา เกี่ยวกับ กระเบื้อง เช่น ทำไมการประดับกระเบื้องมันดูโล้นๆ? ทำมันไม่สวยเหมือนของเดิม
? เค้าเอาของดั้งเดิมไปทิ้งหมดหรือเปล่า?? หรือเค้าแงะเอาไปทำมวลสารหาตังเข้ากระเป๋า??? ฯลฯ

งั้นเรากลับไปสู่จุดเริ่มต้นว่า กระเบื้องเคลือบที่เราเห็น หรือที่เราเคยเห็น มาจากไหน?

: ขนมชั้นของการก่อสร้างและอนุรักษ์

จุดเด่นของงานสถาปัตยกรรมพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 ประการหนึ่งก็คือ การใช้กระเบื้องดินเผาเคลือบสีมาประดับตกแต่งสถาปัตยกรรม โดยริเริ่มจากการนำเครื่องปั้นดินเผาทั้งชิ้น หรือเศษกระเบื้องเคลือบตัดชิ้นมาประดับเป็นลวดลาย ต่อมาพัฒนาเป็นการสั่งเผาเป็นลวดลายตั้งแต่ต้นจากจีน และต่อมาก็กลายเป็นการผลิตเองในสยามเนี่ยแหละ

พระปรางค์วัดอรุณก็เช่นกันจ้ะ ภาพจำของมหาชนก็คือพระปรางค์ทรงจอมแหประดับกระเบื้องยุบยิบทุกส่วนสัดนี่แหละ และแน่นอนกระเบื้องที่ใช้ก็เป็นดังว่านั่นแหละจ้ะ

แต่สร้างแล้วใช่ว่าแล้วกัน เพราะน้าเกริ่นไปแล้วว่า ถึงอายุมันก็ต้องมีการซ่อมแซม หลังจากนั้นพระปรางค์วัดอรุณก็ถูกซ่อมแซมอีกหลายครั้งในยุคต่อมา อย่างครั้งใหญ่ๆก็ตอนรัชกาลที่ 5 ครั้งนั้นได้มีการซ่อมใหญ่หลายส่วน โดยเฉพาะมีการซ่อมเปลี่ยนกระเบื้องเคลือบตกแต่งอีกด้วย !

อะแน่ะ มีกระเบื้องเพิ่มมาอีกรุ่นละนะ

ซึ่งเอารวมๆก็คือ มันมีการซ่อมเปลี่ยนกระเบื้องตกแต่งอยู่หลายคราวเลยล่ะจ้ะ เท่ากับว่า ไอ้กระเบื้องที่เป็นภาพจำของคนในรุ่นเราๆบวกลบ มันมีหลายยุคหลายรุ่นปนๆกัน เป็นประวัติศาสตร์การอนุรักษ์ที่ซ้อนทับกันอยู่

มีกระทั้งรุ่นการอนุรักษ์เมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ด้วยซ้ำ

แปลว่า มันไม่ได้เก่า เก๊า เก่า ไปทั้งหมด จนกระทั่งถึงขั้นต้องมาปริวิตกกลัวใครจะแอบลักซ่อนไปทำมวลสารหรอกหนา

เกจิท่านหนึ่งเล่าให้น้าฟังด้วยว่า กระเบื้องดินเผารุ่นรัชกาลที่ 3 น่ะ เคยมีการตรวจสอบแล้วพบว่า จำนวนไม่น้อยเผาด้วยความร้อนต่ำ ทำให้ไม่แข็งแรงนัก จริงๆก็เริ่มเปื่อยยุ่ยจนต้องเปลี่ยนน่าจะตั้งแต่รัชกาลที่ 5 นั่นแหละ คงจะเหลือมาให้ปูนซีเมนต์ดำมหาประลัยมันย่ำยีไม่มากนักด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ ในการอนุรักษ์ครั้งไม่นานมานี้นัก ก็ยังมีความพยายามใช้เทคนิคและวัสดุก่อสร้างอื่นๆเป็นทางเลือกเพื่อช่วยรักษาสภาพของอาคาร ตามแต่หลักวิชาการที่มีในยุคนั้นจะเอื้อ เช่นการเสริมโครงลวดตาข่ายฉาบปูนเพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับประติมากรรมเทพบนชั้นเรือนธาตุ อะไรงี้ด้วยนะเออ

นั่นหมายความว่า สิ่งก่อสร้างที่เรียกว่าพระปรางค์วัดอรุณนี้ไม่ใช่ของที่พระอินทร์เสกให้ตั้งอยู่อย่างนั้นแต่บรรพกาลไร้รอยขีดข่วน แต่ผ่านการสร้างการซ่อมครั้งแล้วครั้งเล่าจนปัจจุบัน จนยากที่จะบอกด้วยสายตาได้ว่าส่วนไหนชิ้นไหนมาจากยุคไหนฝีมือใคร ต้องให้หลักวิชาทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ รวมไปถึงวิทยาศาสตร์จึงจะบอกได้อย่างแม่นยำ

เอาล่ะ พอมาถึงการบูรณะในครั้งนี้ เกิดอะไรกับไอ้กระเบื้องทั้งหลายนี้บ้าง? น้าทราบมาว่าทางบริษัทที่เป็นผู้ดำเนินการนั้น ได้อุตสาหะพยายามสร้างกระเบื้องดินเผาเลียนแบบของเดิม มีการวิเคราะห์จำแนกกระเบื้องของพระปรางค์ทั้งองค์ออกเป็นประเภทต่างๆ และพยายามเผาออกมาให้ใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด ทั้งสีและรูปร่าง เพื่อทดแทนกระเบื้องของเดิม แต่ก็ไม่ทิ้งความพยายามในการสงวนรักษากระเบื้อง"ของเก่า"ไว้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับหลักวิชาการอนุรักษ์โบราณสถานอีกด้วย

สรุปคร่าวๆก็คือ ไอ้ขาวๆด้วยปูนตำนั่นก็ดีงามแล้ว ไอ้กระเบื้องนั่นก็ดีงามแล้วอีก สาธุ สาธุ สาธุ
แต่เอาเถอะ ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องไปอวยกันอย่างเดียว ว่ากันตามตรงมันก็มีจุดบกพร่องอยู่ไม่น้อย เช่นการฉาบปูนตำหลายๆจุดก็ล้นจะท่วมกระเบื้องเคลือบ ทำให้เสียมิติลึกตื้นของลวดลาย หรือรูปทรงสัดส่วนของประติมากรรมประดับฐานพระปรางค์ไปพอสมควร แถมจุดที่มีการประดับกระเบื้องชุดใหม่ ก็อ่อนเรื่องฝีมือช่างไปบ้าง จนเครื่องทรงองค์เอวลวดลายต่างๆก็งามไม่สู้ของเก่า น้าไม่อยากพูดว่า มันดีเท่าที่จะดีได้หรือเราควรยอมรับเพราะมันพอรับได้ แต่อันนี้น้าพอจะเข้าใจได้ในฐานะศิลปินด้วยกัน คือไอ้ลายประดับกระเบื้องนี่มันมีความยากน่าดู เพราะไม่มีมีเส้นสายกำกับชัดเจนเหมือนอย่างลายเขียนหรือแกะสลัก แต่เป็นการติดชิ้นกระเบื้องที่เป็นชิ้นๆลงบนปูนให้เป็นลวดลาย ยากสัดๆนะนายจ๋า

แต่ถ้าจะหักคะแนนตรงนี้จริงๆ ก็คงไม่มีใครค้าน

ตอนนี้ น้าๆน่าจะเริ่มเห็นประเด็นต่างๆแยกตัวกันออกมาแล้ว ถ้าไม่ถูกใจอันไหน ด่าอันนั้นตามสบาย ถ้าไม่เห็นด้วยกับปูนตำ ด่าปูนตำ ไม่เห็นด้วยกับกระเบื้อง ด่ากระเบื้อง ไม่เห็นด้วยกับฝีมือช่าง ด่าฝีมือช่าง
และเวลาจะเปรียบเทียบติชม ก็ต้องเอาให้ชัดว่าตรงไหน ยังไง
ไม่ใช่ด่าเอาขลุมๆรวมๆไปเรื่อย จนอำพรางข้อดีบางข้อของงานไปอย่างน่าเสียดาย

แต่ก็เอาเถอะ มาถึงจุดนี้น้าคิดว่าก็น่าจะยังมีคนที่รู้สึกยังไม่แฮปปี้ยังไงไม่รู้ อึนๆเหมือนขี้ไม่สุด บอกไม่ถูก แต่ที่แน่ๆก็คือก็ยังคิดว่าการอนุรักษ์หนนี้มันน่าขัดใจอยู่ดี

น้าว่าน้ารู้ ไอ้อึนๆในหัวใจนั่นคืออะไร เดี๋ยวมาไขปริศนากันต่อ

 

 

: จากพระอจนะ ถึงโลหะปราสาท กระทั่งพระปรางค์วัดอรุณ

มีน้าท่านนึงในเพจแสดงความเห็นไว้น่าสนใจว่า พอกรองประเด็นแล้ว เอาเข้าจริงตอนนี้ก็หลักๆที่คนข้องใจกันก็เหลืออยู่เรื่องสองเรื่อง เรื่องนึงคือฝีมือช่าง อีกเรื่องคือกระเบื้องเดิมหายหรือเปล่า ซึ่งทั้งสองประเด็นน้าเห็นว่าก็เป็นเรื่องที่สามารถวิจารณ์กันได้ตามเนื้อผ้าและหลักฐานข้อมูล อะไรที่ทำผิดทำไม่สวยมันก็ถูกวิจารณ์ได้ อะไรที่ไม่โปร่งใสไม่ชอบมาพากลก็ต้องต้อนด้วยหลักฐานนั่นเอง ส่วนน้าเองก็ได้พยายามให้ข้อมูลเท่าที่มีไปโดยไม่ก้าวก่ายหรือคาดเดาเกินขอบเขตความรู้ ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่น้าๆไม่มากก็น้อย

แต่เราลองทำหัวว่างๆ วางเรื่องฝีมือช่างกับกระเบื้องไปก่อนเพื่อมาดูอีกประเด็น มันมีเหตุผลและคำอธิบายต่างๆมีมากมายที่หลายคนก็ว่าพอรับได้ แต่ก็ยังมีคนคับข้องใจอยู่ดีแต่บอกไม่ถูก ซึ่งน้าเข้าใจทุกฝ่าย อะไรที่ทำให้เราไม่แฮปปรี้กับมัน อย่างน้อยลงกลับไปดูความเห็นของหลายๆท่านตั้งแต่แรกที่ยังไม่มีการชี้แจงอะไรนักดู จะพบว่าส่วนใหญ่ก็คือ ไม่ชอบใจเพราะมันขาดบรรยากาศและรสชาติแบบดั้งเดิมที่เคยเห็นๆกัน

น้าเล่าตกไปนิดนึงว่า จริงๆสภาพผิวปูนก่อนหน้านี้มันมีปนๆกันทั้งปูนหมักและปูนดำนะ เพราะมันผ่านการซ่อมมาหลายมืออย่างที่เล่า ถ้าเอาแบบที่ร่วมสมัยเราก็เพิ่งมีการซ่อมใหญ่เกือบๆที่ทำครั้งนี้ ก็เมื่อราว20 ปีมานี้เอง เกจิท่านเล่าให้ฟังว่าตอนนั้นก็คือ โดนวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความขาวโอโม่เหมือนกันเนี่ยแหละ แต่การซ่อมเปลี่ยนปูนฉาบก็ทำเป็นเพียงบางส่วน ส่วนใหญ่อาศัยการฉีดล้างด้วยเครื่องพ่นน้ำแรงดันสูง มันก็จะขาวๆอยู่พักนึง ไม่กี่ปีมันก็ดำของมันตามเรื่องตามราว สีหลุดลอกบ้างเขม่าฝุ่นบ้างตะใคร่บ้าง แล้วทุกคนก็ลืมไปว่ามันเคยขาวอยู่พักนึง

ประเด็นก็คือ ในช่วงเวลาที่พระปรางค์เก่าโทรมลงตามอายุวัสดุ อะไรที่คนเห็นชินตาก็กลายเป็นภาพจำ และมันก็สวยงามตามท้องเรื่องด้วยบรรยากาศความคร่ำคร่าจริงๆ น้าเองก็เคยพูดเรื่องนี้บ่อยๆว่าของที่งามไม่ได้แปลว่ามันต้องใหม่เนี้ยบเสมอไป ความเก่าโทรมมันก็มีความงามของมัน สุนทรียะอย่างญี่ปุ่นเค้าเรียก วาบิ ซาบิ ไม่ใช่วาซาบิที่เผ็ดขึ้นจมูก แต่หมายถึง งามในความหยาบและงามในกาลที่เปลี่ยน พระปรางค์วัดอรุณเองเมื่อแรกสร้างก็ขาวด้วยปูนหมักปูนตำ นานไปก็เก่าขรึม แล้วก็ซ่อมให้ใหม่ขาว อีกแป๊บก็เก่า วนกันไปอย่างนี้ เพียงแต่ไอ้เวลาขาวมันก็ขาวอยู่ได้ไม่นาน ภาพส่วนใหญ่ที่คนได้เห็นได้จำก็คือพระปรางค์ที่มีสีพื้นขรึมๆขลังๆ ซึ่งเดี๋ยวอีกไม่กี่ปีจากนี้มันก็จะเป็นแบบนั้นแหละจ้ะ

ปรากฎการณ์ปฏิกิริยาของสังคมต่อการบูรณะโบราณสถานลักษณะนี้ ไม่ใช่เพิ่งมี เราเคยมีเคสคลาสสิกหลายหนละ เพียงแต่เดี๋ยวนี้ข้อมูลข่าวสารมันไว ยกตัวอย่างเช่น การบูรณะพระอจนะวัดศรีชุม อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ซึ่งก็เป็นสิ่งก่อสร้างระดับไอคอนที่คนทั่วไปคุ้นเคย พระพุทธรูปองค์ใหญ่ในซากผนังมณฑปที่ต้องเงยหน้าคอตั้งบ่ามอง ผิวปูนฉาบเก่าขลังมีรอยตะใคร่เป็นแนวจากพระพักตร์ลงมาตามรอยน้ำฝนและทั่วทั้งองค์พระ วันดีคืนดีทางหน่วยงานอนุรักษ์จากญี่ปุ่นก็มาเสนอโครงการทำความสะอาดผิวปูนขององค์พระ เพราะคราบตะใคร่พวกนี้แม้จะสวยดี แต่มันเป็นตัวทำลายองค์ประกอบในเนื้อปูนให้เสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว ผลปรากฎว่าน้ำยาสามารถกำจัดคราบได้เนี้ยบกริ๊บโดยผิวปูนยังแข็งแรง ผิวปูนขาวนวลผ่องแผ้วนพคุณ แต่กลายเป็นโดนคนด่าเละเทะ ด้วยเหตุผลแบบที่เราเห็นกันเนี่ยแหละ มันโอโม่ไป ขาดความขลัง ดราม่านี้เป็นที่ถกเถียงกันพักนึงก็ค่อยๆซาไป พร้อมกับที่ราวๆห้าหกปีหลังจากนั้นตะใคร่ก็กลับมาจับผิวพระ งามขลังเหมือนเดิมดังที่เห็นในปัจจุบัน - -“

อีกเคสนึงก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เมื่อไม่กี่ปีมานี้ คือ กรณีการปฏิสังขรณ์โลหะปราสาทวัดราชนัดดาราม โลหะปราสาทที่นี่คืออะไรเป็นมายังไงเดี๋ยวน้าแยกไปเล่าอีกโพสดีกว่า แต่เอาเป็นว่าก่อนหน้าไม่กี่ปีมานี้ เครื่องยอดทั้ง 37 ยอดเป็นโลหะหล่อรมดำ ต่อมาสำนักงานทรัพย์สินฯก็ตั้งงบปฏิสังขรณ์ใหญ่ โดยหลักๆเป็นการปิดทองยอดโลหะทั้งหมด แบ่งโครงการออกเป็นเฟสๆ คือปิดทองทีละชั้นจนครบถ้วน ตอนนั้นก็โดนวิจารณ์หนักว่า ปิดทองแล้วมันขลังไม่เท่าของเดิมที่เป็นสีดำ!!!

แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ยอดโลหะเคลือบน้ำยารมดำนี้ มันก็ไม่ใช่งานเก่าแก่อะไร เป็นงานปฏิสังขรณ์เมื่อราวๆเกือบยี่สิบปีมานี้เอง แล้วก่อนหน้ามันเป็นอะไร? ก่อนหน้ามันเป็นยอดปูนสีขาว ซึ่งก็เป็นงานรุ่นก่อนหน้านั้นนับถอยหลังไปอีกราวสิบกว่าปี และตอนที่เปลี่ยนเป็นยอดโลหะรมดำก็โดนวิจารณ์เหมือนกันว่า ยอดมณฑปบ้าอะไรดำปิ๊ดปี๋ อัปลักษณ์สิ้นดี !?!?!?

แล้วก่อนยอดสีขาว 37 ยอดนั้น มันก็เคยเป็นอย่างอื่นมาแล้วอีกแหละ อะโหกุมาร แต่วันหลังค่อยเล่ากันอีกทีนะ

ที่ยกมานี้น้าไม่อยากให้มองว่าใครถูกใครผิด หรือมาจับผิดสังคมว่าเปลี่ยนความเห็นไปมา เพราะมันเป็นเรื่องปกติที่เข้าใจได้ ความคุ้นชินเป็นตัวกำหนดมุมมองของเราโดยธรรมขาติ เราสบายใจกับสิ่งที่เราคุ้นเคย เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงก็ย่อมเป็นธรรมดาที่เรารู้สึกไม่ปลอดภัย แต่พอผ่านไปซักพักเมื่อต้องอยู่กับสิ่งนั้นเรื่อยๆ ก็กลายเป็นสิ่งคุ้นชินไป วนเวียนอย่างนี้
ดังนั้นในความเห็นของน้า ที่ผู้คนเค้าบ่นกันเรื่องโบราณสถานมันไม่งามจับใจเหมือนเดิมนั้น น้าเข้าใจมั่กๆ และไม่ส่งเสริมคนที่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงได้ให้ไปถากถางโจมตีเขาด้วย เพราะคนเรามีมุมมองด้านความพึงพอใจต่อความงามต่างๆกันไ

และที่สำคัญ
เดี๋ยวมันก็จะดำคล้ำด้วยเขม่าฝุ่นและตะใคร่เหมือนเดิมในเวลาอีกไม่กี่ปีโดยที่น้าไม่ต้องสาบทสาบานอัลไลเพื่อรับประกันเลยจ้ะ

ส่วนที่มีประเด็นเรื่องความโปร่งใส และเงินๆทองๆกับวัตถุมงคลนั้น น้าไม่มีข้อมูลเลยยังไม่ขอวิจารณ์ แต่ก็จะร่วมจับตาดูไปด้วย เพราะมรดกวัฒนธรรมนั้นเป็นสาธารณะสมบัติที่ควรบริหารจัดการด้วยความโปร่งใส แต่ทั้งนี้น้าก็ทราบมาว่า คณะทำงานเขามีบัญชีส่งคืนชิ้นส่วนที่ชำรุดคืนแก่ทางวัดเป็นเอกสาร ใครสงสัยก็ไปขอตรวจสอบได้จ้ะ แต่ขอความกรุณาอย่าเพิ่งหัวร้อนไปเที่ยวว่าเขาต้องทุจริตมิจฉาอะไรงั้นเลย ใจร่มๆ เอาหลักฐานเข้าว่าเถอะนะจ๊ะ เดี๋ยวเกิดหัวร้อนกันหมดทุกฝ่ายจะกลายเป็นต้องเดือดร้อนขึ้นโรงขึ้นศาลกันวุ่นวายเนาะ

ขอรวบยอดตามใจตัวเองว่า งานอนุรักษ์ที่ดีมันก็จำเป็นต้องผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์วางแผน ต้องมีทรัพยากรที่เหมาะสม แต่ในขณะเดียวกันก็ฟังเสียงผู้คน พร้อมๆกับสื่อสารให้ความรู้กับชาวบ้านไปด้วย อย่าต่อต้านคำติชมจนกลายเป็นฟาดงวงฟาดงาแตะต้องไม่ได้ ในมุมกลับกัน การที่สังคมสนใจต่อความเป็นไปของมรดกวัฒนธรรมนั้นเป็นเรื่องวิเศษ คำวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นประโยชน์เป็นเครื่องช่วยผลักดันการอนุรักษ์ให้มีทิศทางที่แน่นอนไม่นอกลู่นอกทาง แต่การจับตามองก็ควรอยู่บนเหตุผลและข้อมูล และด้วยมุมมองที่ไม่ขึงตึงเคี่ยวเข็ญกับคนทำงานเกินพอดีราวกับเป็นศัตรูแก่กัน

แบบนี้ถึงจะแฮปปรี้แบบพอดีพอเหมาะ มีเมตตาเป็นกุศลต่อกันไม่เบียดเบียนกันเน้อ
คนติน้าก็เข้าใจ คนทำน้าก็เอาใจช่วย อยากเห็นทุกคนเกื้อหนุนส่งเสริมกันจ้ะ

จริงๆน้าก็เพิ่งไปสอบถามขอความรู้จากเกจิมาอีกหลายท่าน ได้ข้อมูลเชิงเทคนิคมาเพิ่มเติมอีกพอสมควร แต่เห็นว่ามันดราม่ากันเยอะและก็คงสมควรแก่กาละ เกี่ยวกับพระปรางค์วัดอรุณก็คงอิ่มหนำกันแล้ว อย่างที่บอกแต่แรกนู้นว่าน้าไม่นิยมดราม่าในเพจ แค่มาเล่าเรื่องที่รู้ก็พาลจะโดนด่าเอาเพราะนึกเอาว่ามาแก้ต่างให้ใคร

ก็คงเอาแค่นี้ดีกว่าเนาะ น้าอยากกลับไปหาเรื่องเฮฮาประสาเดิมๆมาเล่ากันเต็มทนละ

ใครมาบ๊งเบ๊งหยาบคายอะไรอีก น้าต้องขออนุญาตเนรเทศออกจากเวสเทอรอสตามที่ได้ประกาศละเน้อ

ขอบคุณที่มา: https://www.facebook.com/iknowilearn/
⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
คุณบี๋'s profile


โพสท์โดย: คุณบี๋
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
24 VOTES (4/5 จาก 6 คน)
VOTED: อากาศธาตุและน้ำสะอาด, zerotype, Andreas, ซาอิ, โอ๊ย, Tabebuia
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
"แฟชั่นกางเกงช้าง" Localization ก้าวสู่ Globalizationหนุ่มจีนกลั้นใจใต้น้ำก่อนดับสลด โดยมีไลฟ์การ์ดยืนหัวเราะลั่นชาวเน็ตญี่ปุ่นไปพักโรงแรม แล้วรู้สึกหลอนมาเมื่อเห็นห้องพัก"ปราชญ์ สามสี" ฉะ "โน้ส อุดม" เอาแม่มาหาแดก ตลกร้าย ทำลายคุณค่า ดังแล้วลืมความเป็นคน เริ่มไม่น่ารักชายไต้หวัน กลายเป็นหิน ระหว่างกินข้าว
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
สายพันธุ์ปลาชนิดหายากมาก ที่พบได้เฉพาะในเขตประเทศไทยจะเกิดอะไรขึ้น? ถ้าเราสระผมตอนก่อนนอน"ปราชญ์ สามสี" ฉะ "โน้ส อุดม" เอาแม่มาหาแดก ตลกร้าย ทำลายคุณค่า ดังแล้วลืมความเป็นคน เริ่มไม่น่ารัก
กระทู้อื่นๆในบอร์ด ข่าววันนี้
มือปืนถูกจับหลังพยายามยิงบาทหลวงกลางโบสถ์นักแสดงเรื่อง "เดอะลอร์ด ออฟเดอะริงส์" เสียชีวิตแล้วพ่อถูกลูกสาวจูงคลานไปรอบๆ หลังไม่มีเงินซื้อไอโฟนให้ลูกสาวลุงรอดตาย หลังถูกท่อนเหล็กเสียบร่าง จนเป็นไม้เสียบลูกชิ้นปิ้ง
ตั้งกระทู้ใหม่