9 บทเรียนชีวิตที่ใช้ได้จริงจาก "มาร์กุส เอาเรลิอุส" จักรพรรดิโรมันยอดนักปรัชญา
Marcus Aurelius จักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันที่มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะ “กษัตริย์นักปรัชญา” หนังสือที่พระองค์เขียนขึ้นเองนั้นเต็มไปด้วยหลักปรัชญาที่ล้ำลึกจนประธานาธิบดีบิล คลินตัน ถึงกับยกย่องให้เป็นหนังสือโปรดในดวงใจของเขา
จักรพรรดิมาร์กุส เอาเรลิอุส เป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันตั้งแต่ปีค.ศ. 161 ถึง 169 ในช่วงของการปกครองจักรพรรดิมาร์กุสต้องพบกับปัญหามากมายทั้งทางด้านชีวิตส่วนตัวและทางด้านการเมือง พระองค์จึงหันไปพึ่งหลักปรัชญาและเขียนบันทึกออกมาเป็นหนังสือชื่อว่า “Meditations” และนี่คือ 9 บทเรียนและแนวคิดทางปรัชญาของจักรพรรดิมาร์กุส ที่ทรงคุณค่าและสามารถนำมาปรับใช้ได้ดีในสังคมปัจจุบัน
อย่าเสียเวลาไปกับคนไม่เอาจริงเอาจัง ที่ไม่สร้างประโยชน์ให้กับตนและผู้อื่น
พลังงานและเวลาของคนเราเป็นสิ่งมีค่าที่มีอยู่อย่างจำกัด มาร์กุสกล่าวว่าอย่าเสียมันไปกับสิ่งที่ไม่สำคัญอย่างการพูด ทำ หรือคิดเรื่องราวที่ไม่เป็นประโยชน์ หน้าที่ของมนุษย์คือการช่วยเหลือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตของเรา และไม่ควรทำให้ใครต้องมาเครียดหรือรู้สึกแย่กับปัญหาที่เราก่อ “สิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้ก็คือ คุณค่าของความใส่ใจขึ้นอยู่กับความสำคัญของแต่ละสิ่ง จะดีกว่าถ้าคุณไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งไร้สาระมากเกินกว่าที่มันควรจะได้รับ”
อยู่กับปัจจุบัน
“เราทุกคนใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ณ เวลานี้ นอกนั้นคือสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วหรือยังไม่อาจคาดเดาได้” ไม่มีประโยชน์อะไรถ้าเราเสียเวลาไปกับการคร่ำครวญถึงสิ่งที่ร่างกายของเราไม่สามารถสัมผัสได้
อย่าให้อารมณ์อยู่เหนือความจริง
มาร์กุสเป็นกษัตริย์ที่มีชะตาชีวิตโหดร้ายที่สุดคนหนึ่ง เขาพบเจอกับเรื่องราวต่างๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นการสู้รบ เพื่อนทรยศ ภรรยาเสียชีวิต หรือลูกชายที่กลายเป็นทรราชย์ แต่เมื่อมาร์กุสฝึกแยกอารมณ์ความรู้สึกออกจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เขาก็พบว่าตนสามารถปล่อยวางและรู้สึกเห็นใจไปกับสิ่งไม่ดีเหล่านั้น และไม่ปล่อยให้มันมาทำร้ายหรือทำลายชีวิตของตน
เปลี่ยนอุปสรรคเป็นโอกาส
“สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเราเป็นสิ่งที่ธรรมชาติกำหนดมา ทุกเหตุการณ์ถูกถักทอมาเพื่อเราโดยเฉพาะ ทำสิ่งที่สามารถทำได้ตั้งแต่ตอนนี้ คิดให้รอบคอบและลงมือทำอย่างถูกต้อง” คนที่จะสามารถประสบความสำเร็จได้คือคนที่ไม่ยอมแพ้ต่อปัญหาและอุปสรรค์ แต่สามารถเปลี่ยนความกลัวให้เป็นความระมัดระวัง เปลี่ยนความเจ็บปวดเป็นการพัฒนา เปลี่ยนความผิดพลั้งเป็นการเริ่มต้นใหม่ และเปลี่ยนความต้องการเป็นสิ่งที่ต้องลงมือทำ
หาความสงบในใจตน
อย่าขุ่นข้องหมองใจในลักษณะนิสัยของคนอื่น
ถ้านิสัยส่วนตัวของผู้อื่นทำให้เราเดือดร้อนหรือไม่พอใจ สิ่งที่ควรทำก็คือปล่อยวางและไม่ไปยุ่งเกี่ยวจนเกิดปัญหา เพราะการเสียเวลาไปเปลี่ยนแปลงนิสัยของคนเหล่านั้นไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น ก็เหมือนกับการโทษต้นไม้ว่าทำไมถึงซ่อนผลรสชาติอร่อยไว้นั่นเอง
ความสุขของเราขึ้นอยู่กับเรา
“ถ้าเราเลือกที่จะไม่เจ็บปวดเราก็จะไม่รู้สึกเจ็บปวด อย่ารู้สึกเจ็บปวดและเราจะไม่มีวันเจ็บปวด” แนวคิดนี้ก็เหมือนกับการไม่ปล่อยให้ผู้อื่นมามีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของเรา อย่าปล่อยให้คนอื่นมากำหนดคุณค่าและความสุขที่เราสร้างเองได้ พวกเขาจะมีโอกาสทำให้เราเจ็บปวดได้ก็ต่อเมื่อเขาเข้ามามีอิทธิพลเหนือจิตใจของเรา
ยอมรับความตาย
“เราสามารถใช้ชีวิตอย่างที่ใจต้องการได้นับตั้งแต่ตอนนี้ ทำอย่างที่พูดและเปลี่ยนความคิดให้กลายเป็นความจริง” ถ้าเราใช้ชีวิตได้อย่างคุ้มค่าแล้ว ความตายก็ไม่ใช่สิ่งน่ากลัวอีกต่อไป เราจะไม่รู้สึกเสียดายถ้าได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ในทุกวัน ความตายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกคน ในวันใดวันหนึ่งทุกคนก็ต้องตาย ชีวิตและความตายเป็นของคู่กัน เช่นเดียวกับความสำเร็จและความล้มเหลว ความเจ็บปวดและความสุข ความร่ำรวยและความยากจน ทุกสิ่งบนโลกนี้มีทั้งด้านดีและไม่ดีเสมอ
ก้าวเดินไปข้างหน้า
มนุษย์เราก็เป็นเพียงสิ่งเล็กๆ ที่เกิดขึ้นมาชั่วขณะหนึ่งในจักรวาล แม้กระทั่งคนที่มีอำนาจ มีเงินทอง หรือมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในโลกก็ต้องเลือนหายไปตามกาลเวลา สิ่งที่สำคัญที่สุดในการใช้ชีวิตก็คือการสั่งสมประสบการณ์และช่วยเหลือผู้อื่นให้ได้มากที่สุดตราบใดที่เรายังมีลมหายใจ “ทำสิ่งที่ต้องทำ มุ่งไปข้างหน้า อย่าใส่ใจแม้ว่าจะไม่มีใครมองเห็นคุณค่าในตัวเรา ชื่นชมความสำเร็จของตัวเองแม้เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย ไม่ต้องใส่ใจกับผลลัพธ์ถ้าหากได้ลงมือทำอย่างสุดความสามารถแล้ว”