หอชมเมืองอาจผิดกฎหมายหลายข้อ
หอชมเมืองอาจผิดกฎหมายหลายข้อ
ดำริในการก่อสร้างหอชมเมือง มีโอกาสผิดกฎหมายหลายข้อ ดร.โสภณ จึงเตือนไว้เผื่อมูลนิธิที่จะพัฒนาโครงการได้ "ปิดช่องโหว่" ไว้ล่วงหน้า และได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป หรืออาจต้องพึง ม.44 แม้จะไม่ใช่หน้าที่ของรัฐเพราะไม่ใช่การร่วมทุนก็ตาม
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ชี้ให้เห็นถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้แก่:
- ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีข้อกำหนดว่า "ภายในระยะเกิน 15 เมตรขึ้นไป แต่ไม่เกิน 45 เมตร จากริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่ง ให้ก่อสร้างอาคารที่มี ความสูงไม่เกิน 16 เมตร" ดังนั้นหากจะสร้างหอชมเมือง ก็ควรจะอยู่ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ต่ำกว่า 45 เมตร
- ตามผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556 ที่ดินที่ตั้งโครงการหอชมเมืองอยู่ในเขต "ที่ดินประเภท ย. ๘ เป็นที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการอยู่อาศัยในบริเวณพื้นที่เขตเมืองชั้นในที่มีการส่งเสริมและดํารงรักษาทัศนียภาพและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ. . .ห้ามใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการ. . .(๑๑) การประกอบพาณิชยกรรมที่มีพื้นที่ประกอบการเกิน ๕,๐๐๐ ตารางเมตร. . .(๑๕) ศูนย์ประชุมอาคารแสดงสินค้าหรือนิทรรศการ เว้นแต่ที่ตั้งอยู่ริมถนนสาธารณะที่มีขนาดเขตทางไม่น้อยกว่า ๓๐ เมตร หรือตั้งอยู่ภายในระยะ ๕๐๐ เมตร จากบริเวณโดยรอบสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (http://bit.ly/2troKp2) ในกรณีนี้หอชมเมืองที่มีขนาดใหญ่ ไม่อยู่ติดถนนใหญ่ จึงอาจไม่สามารถสร้างได้
- ในกฎกระทรวงฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ระบุ"ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของอาคารสูงหรือาคารขนาดใหญ่พิเศษที่มีพื้นที่อาคารรวมกันไม่เกิน 30,000 ตารางเมตร ต้องมีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินนั้นยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 10 เมตร. . . ." (http://bit.ly/2sSrvhm) แต่ถ้าเป็นอาคารเกิน 30,000 ตารางเมตร ถนนต้องกว้าง 18 เมตร (กฎกระทรวงฉบับที่ 50 พ.ศ.2540 ข้อ5 http://bit.ly/2tXtwhh) ข้อนี้ก็ไม่ผ่านการอนุญาตแล้ว
- ในการขออนุญาตก่อสร้างอาคาร (http://bit.ly/2srA9Ed) ต้องมีทางเข้าออกซึ่งหมายถึงถนน แต่ที่ดินแปลงนี้เป็นที่ตาบอด ไม่มีทางเข้าออก แม้จะติดคลองสาธารณะและแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ก็ไม่ได้ถือเป็นทางเข้าออก ดังนั้น ต้องหาทางให้มี "ทางเข้าออก" ซึ่งหมายถึงทางที่รถจะเข้าออกได้ ด้านตะวันตกก็ติดกำแพงของกลุ่มตึกแถว ด้านใต้ก็เดินออกสลัมได้แต่รถผ่านไม่ได้ กรณีเดียวที่จะออกได้ก็คือต้องได้รับอนุญาตจากโครงการ Icon Siam ให้เข้าออกได้ และต้องได้รับอนุญาตจากกรุงเทพมหานครให้ผ่านคลองวัดทองเพลง (ทางด้านเหนือของที่ดิน)
- โดยที่ในเขตกรุงเทพมหานครมีโบราณสถานเป็นจำนวนมาก (http://bit.ly/2urDlRO) ปกติสิ่งก่อสร้างต่างๆ โดยเฉพาะในเชิงพาณิชย์ (เก็บเงินคนเข้าออก เช่น หอชมเมือง) ก็ต้องไม่ตั้งอยู่ในระยะที่ใกล้กับโบราณสถานต่าง ๆ ในระยะ 1-2 กิโลเมตรตามแต่ที่ประกาศในแต่ละบริเวณหรือแต่ละจังหวัด ข้อนี้ผู้ดำเนินการก่อสร้างควรที่จะตรวจสอบให้แน่ชัดว่าจะสามารถก่อสร้างหอชมเมืองได้หรือไม่
- เรื่องเข้าข่ายการร่วมทุนหรือไม่ ข้อนี้กรมธนารักษ์ได้หารือสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ซึ่ง สคร. ได้ตอบข้อหารือว่า “กิจการที่จะต้องใช้ที่ราชพัสดุ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของหน่วยงานของรัฐ เข้าข่ายเป็น ‘กิจการของรัฐ’ ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2556 โดยหากมีการร่วมลงทุนกับเอกชนไม่ว่าโดยวิธีใดหรือมอบให้เอกชนลงทุนแต่ฝ่ายเดียว โดยวิธีการอนุญาต หรือให้สัมปทาน หรือให้สิทธิไม่ว่าในลักษณะใด ย่อมเข้าช่วยต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2556” (http://bit.ly/2srKUq7) ดังนั้นจึงควรดำเนินการให้รอบคอบในข้อกฎหมายนี้เพื่อความโปร่งใส
อย่างไรก็ตามเพื่อความแน่ชัด ผู้ที่จะขออนุญาตก่อสร้างหอชมเมือง ควรมีแบบในรายละเอียดแสดงให้สาธารณชนและทางเจ้าหน้าที่โดยกรุงเทพมหานครได้พิจารณาในรายละเอียดเสียก่อน แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีแบบการก่อสร้างในรายละเอียดปรากฏเลย ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญกับข้อกฎหมายในระหว่างการออกแบบ
ตรวจข้อกฎหมายให้ถ้วนถี่ ก่อนที่หอชมเมืองจะ "ล้มทั้งยืน"
ที่มา: http://www.area.co.th/thai/area_announce/area_press.php?strquey=press_announcement2004.htm