พระพุทธรูปแห่งบามิยัน
จังหวัดบามียัน(เป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศอัฟกานิสถาน)ตั้งอยู่ในหุบเขาบามียัน ซึ่งมีแม่น้ำหล่อเลี้ยงประชาชน ด้านหนึ่งเป็นเขา ด้านหนึ่งเป็นหน้าผาสูงชันสลักเป็นพระยืน สภาพแวดล้อมของหุบเขา รายล้อมไปด้วยความแห้งแล้ง แต่ที่แห่งนี้อุดมไปด้วยทุ่งหญ้าและน้ำ
พระพุทธรูปแห่งบามิยัน เป็นกลุ่มพระพุทธรูปหลายองค์(โดยเฉพาะองค์ใหญ่ 3 องค์) ที่ตั้งอยู่ตามหน้าผาและถ้ำของหุบเขาบามิยัน ทางตอนกลางประเทศอัฟกานิสถาน ห่างจากกรุงคาบูลประมาณ 230 กิโลเมตร ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ บนความสูงกว่า 2,500 เมตร ซึ่งพระพุทธรูปทั้งหลายนี้สร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10(คริสต์ศตวรรษที่ 6) ศิลปะเกรโก ศิลปะพระพุทธรูปยุคแรกที่เผยแพร่มาจากอารายธรรมกรีกโบราณ ใน
เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2544 พระพุทธรูปแห่งบามิยันได้ถูกรัฐบาลตาลีบันระเบิดทำลายลง ด้วยอ้างเหตุผลว่าการเคารพรูปเคารพนั้นผิดหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งการระเบิดครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจคนทั่วโลกอย่างมาก
ประวัติ
หุบเขาบามิยันนี้ตั้งอยู่บนเส้นทางสายไหมระหว่างจีน อินเดีย ตะวันออกกลาง และ ยุโรป มีการค้นพบศาสนสถานทางศาสนาพุทธ และฮินดูเป็นจำนวนมากกว่า 1,000 แห่ง เป็นหนึ่งในจุดศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนาในบริเวณนั้นมาก่อนที่จะมีการมาของศาสนาอิสลามในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13
ศาสนสถานที่สำคัญที่สุดในบริเวณนี้คือพระพุทธรูปองค์ใหญ่ 3 องค์ 2 องค์แรกสร้างในช่วงปี พ.ศ. 1050 (ค.ศ. 507) มีความสูง 37 เมตร และองค์ที่ 3 สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1097(ค.ศ. 554) สูง 55 เมตร เป็น "พระพุทธรูปแกะสลักฝาผนังที่ใหญ่ที่สุดในโลก" ซึ่งทั้งหมดนี้คาดกันว่าสร้างโดยพระเถระและราชวงศ์แห่งราชวงศ์คุปตะแห่งอินเดีย ตามฝาถ้ำที่ได้ขุดเจาะกันไว้นั้น มีการวาดภาพ ซึ่งบ่งบอกถึงการผสมผสานของศิลปะคุปตะ ศิลปะคันธาระ และศิลปะเปอร์เซียได้อย่างชัดเจน และเมื่อพระถังซำจั๋งได้เดินทางไปชมพูทวีปในปี พ.ศ. 1173 (ค.ศ. 650) ท่านได้เล่าว่าพระพุทธรูปได้เหลืองอร่ามไปด้วยทองคำ และมีพระกว่า 1,000 รูปจำวัดอยู่
ที่นี่มีอารามมากกว่า 10 แห่ง มีพระสงฆ์หลายพันรูป ล้วนเป็นฝ่ายโลกุตตรยาน (โลกุตตรวาทิน) สังกัด นิกายหินยาน พระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงของเมืองนี้ คือ พระอารยทูต (Aryaduta) และพระอารยเสน (Aryasena) มีความรู้ในพระธรรมวินัยเป็นอย่างดี ที่เนินเขาของนครหลวง มีพระพุทธรูปยืนซึ่งจำหลักด้วยศิลา สูง 150 เฉี๊ยะ (มาตราวัดจีน) ถัดจากนี้ไปเป็นอาราม และพระปฏิมาจำหลักด้วนแก้วกาจ สูง 100 เฉี๊ยะ อารามนี้ มีพระพุทธไสยาสน์ความยาว 1,000 เฉี๊ยะ บรรดาพระพุทธรูปเหล่านี้ล้วนเป็นฝีมือที่ปราณีต สวยงาม นอกจากนี้ยังมีอารามประดิษฐานพระเขี้ยวแก้ว พระทันตธาตุของพระปัจเจกพุทธะในอดีต
ระหว่างช่วงประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 1,600 ปี ของพระพุทธรูปแห่งนี้ ได้พบเจอกับสงครามและการจู่โจมมาโดยตลอด ถึงแม้จะมีชนพื้นเมืองชาวมุสลิมกลุ่มหนึ่งคือชาวฮาซารัส ได้ปกป้องศาสนาสถานแห่งนี้มาก็ตาม เริ่มต้นด้วยการเสื่อมถอยของศาสนาพุทธในบริเวณนี้และการมาของศาสนาอิสลาม การทำลายและการบุกรุกโจรกรรมวัตถุต่างๆจากถ้ำภายในตั้งแต่ 900 ปีที่แล้ว จนมาถึงปี พ.ศ. 2522 (ค.ศ. 1979) เมื่อสหภาพโซเวียต นำทหารเข้าบุกเข้าโจมตีอัฟกานิสถาน ตามมาด้วยสงครามอัฟกัน และสิ้นสุดลงด้วยการระเบิดของกลุ่มตาลีบันในปี พ.ศ. 2544 จากการสำรวจ ได้มีรายงานว่ากว่า 80% ของภาพตามฝาผนังถ้ำได้ถูกทำลายลงไปแล้ว
คำให้การของนายชีค มีร์ซา ฮุสเซน มือระเบิดทำลายพระพุทธรูปบามิยัน ตามคำสั่งของอำนาจของตาลีบัน กล่าวว่าถ้าเขาไม่ระเบิดพระพุทธรูป ตาลีบันจะฆ่าเขาทิ้ง เพราะก่อนหน้านั้นตาลีบันฆ่าลูกชายสองคนของเขาเหมือนสุนัขข้างถนน เขาจึงต้องทำเพื่อการอยู่รอด เขามีความเชื่อว่าด้านหน้าของพระพุทธรูปที่ถูกทำลายลง มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์องค์หนึ่ง เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่มีพระพักตร์อมยิ้ม ฝังอยู่ใต้ดิน ซึ่งเป็นความเชื่อที่ได้ยินมาจากบรรพบุรุษสืบขานกันต่อหลายชั่วอายุคนสอดคลึงกับ คำบอกกล่าวของพระถังซัมจั๋ง ที่ได้เห็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์นี้เช่นกัน ซึ่งนักโบราณคดีได้ขุดพบ ส่วนพระบาทของของพระนอน เมื่อ ค.ศ. 2005
พุทธศาสนาในประเทศอัฟกานิสถาน
พุทธศาสนาได้เผยแพร่เข้ามาตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยกลุ่มชาวศากยะที่หนีตายจากพระเจ้าวิฑฑูภะมีเจ้าชายองค์หนึ่งได้สมรสกับกับพระเทพธิดาพญานาค แล้วตั้งรกรากอยู่ที่แคว้นอุทยาน (Udyana) ทางตอนเหนือของอัฟกานิสถานในปัจจุบัน และต่อมาก็หลังทุติยสังคายนาก็มี พระกลุ่มมหาสังฆิกะได้เผยแพร่ในบริเวณแคว้นนครหาร (Nagarahara) ซึ่งใกล้แคว้นคันธาระทางทิศเหนือ แต่สองยุคนี้ ไม่ปรากฏแน่ชัดทางประวัติศาสตร์
หลายพันปีต่อมา ชาวมุสลิมรุกราน พระพุทธศาสนาจึงเสื่อมลงเรื่อยๆ และมีการทำลายพระพักตร์ของพระพุทธรูปบามิยันทั้งสององค์ แต่ในสมัยนั้นก็ยังมีผู้นับถือพระพุทธศาสนาอยู่หลักหมื่น สิทธิการแสดงออกของเขาทำได้แค่ ใช้ผ้าสีเหลืองเล็กๆ ผูกหางเปียสั้นๆเท่านั้น
ต่อมาในยุคตอลีบันเข้าปกครองประเทศนี้ เป็นเวลา 5 ปี ชาวพุทธจะต้องผ่านเหตุการณ์อันเลวร้าย รอดเพียงไม่กี่ราย และมีความหวังที่จะไปสัมผัสหุบเขาบามิยันสักครั้งในชีวิต แต่พระพุทธรูปแห่งบามิยันก็ถูกทำลายอย่างย่อยยับ โดยกลุ่มตอลีบัน และชาวพุทธในอัฟกานิสถานที่รอดชีวิตมาได้ ก็อพยพไปประเทศเพื่อนบ้านของอัฟกานิสถาน
พบพระคัมภีร์พุทธเก่าแก่ที่สุด...ในถ้ำอัฟกานิสถาน!
เดือนธันวาคม 2539 เจนส์ บราร์วิก ศาสตราจารย์ด้านโบราณคดีแห่ง ศูนย์การศึกษาก้าวหน้า, นอร์เวย์ ได้ไปร่วมประชุมวิชาการที่เมืองไลเดน ผู้ร่วมประชุมคนหนึ่งได้เล่าให้เขาฟังว่า แซม ฟ็อกก์ พ่อค้าของเก่าแห่งนครลอนดอน ได้ขายชิ้นส่วนเอกสารโบราณของพุทธศาสนาจำนวน 108 ชิ้น แก่นักสะสมชาวนอร์เวย์ชื่อ มาร์ติน สเคอร์ยัน (Martin Schoyen) ผู้เป็นเจ้าของพิพิธภัณฑ์เอกสารโบราณที่ใหญ่ที่สุดของโลก พอได้ยินดังนั้น บราร์วิกเกิดความสนใจอย่างแรงกล้า จึงได้ไปพบกับสเคอร์ยันเพื่อขอศึกษาเอกสารดังกล่าว ซึ่งสเคอร์ยันก็ยินดีให้ความร่วมมือ และยังบอกเล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้าที่ฟ็อกก์จะขายเอกสารให้เขานั้น ฟ็อกก์ได้ ติดต่อนักโบราณคดีชื่อ ลอเร แซนเดอร์ ให้ช่วย เขียนอธิบายความเป็นมาของเอกสารนี้ ซึ่งเมื่อแซนเดอร์นำไปวิเคราะห์ก็พบว่า มันถูกจารึกขึ้นเป็นภาษาสันสกฤต ในช่วงราว พ.ศ. 540-940 เป็นพระคัมภีร์ในพุทธศาสนา ที่ว่าถึงพระสูตร พระวินัย ตลอดจนจารึกเหตุการณ์ต่างๆ หลากหลาย บางเรื่องก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว แต่เอกสารอีกหลายชิ้นมีเรื่องราวที่ไม่เคยปรากฏให้โลกรู้มาก่อน และเรียกได้ว่าเป็นเอกสารสำคัญ ที่เก่าแก่ที่สุดของพุทธศาสนา (ที่มีหลักฐานเหลืออยู่)
พระคัมภีร์พุทธศาสนาเหล่านี้จารึกอยู่บนแผ่นวัสดุต่างๆ ได้แก่ ใบลาน เปลือกไม้ และหนังแกะ เจาะรูแล้วร้อยด้ายรวมไว้เป็นเล่ม บางเล่มอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ แต่ที่เป็นเศษเล็กเศษน้อยนั้นมีจำนวนมาก และเมื่อสืบหาข้อมูลต่อไป บราร์วิกก็พบว่า แหล่งที่มาของเอกสารสำคัญลํ้าค่านี้มิใช่อื่นไกล แต่ เป็นถํ้าต่างๆ แห่งเขาบามิยัน ในอัฟกานิสถานนั่นเอง! ก็ต้องเล่าย้อนถึงอดีตกาล ณ สถานที่แห่งนี้กันหน่อยละครับ
สมัยนับพันปีก่อนโน้น อัฟกานิสถานเป็นดินแดนอยู่บนเส้นทางสายไหม อันลือลั่นเชื่อมทอดระหว่างยุโรปกับจีน และยังเป็นทางผ่านจากจีนไปสู่อินเดียด้วย ภิกษุในพุทธศาสนาได้จาริกจากอินเดียไปเผยแผ่ธรรมะยังเมืองจีนด้วยเส้นทางนี้ และเนื่องจากเป็นหนทางอันยาวไกล จึงได้พำนักระหว่างทางโดยอาศัยถํ้าต่างๆ ที่มีอยู่มากมาย ณ เชิงเขาบามิยัน ซึ่งไม่ ไกลจากกรุงคาบูล นครหลวงของอัฟกานิสถาน เท่าใดนัก
ผู้จาริกศาสนาและนักเดินทางทั้งหลาย ต่างได้พบปะสนทนา และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในด้านอารยธรรมระหว่างกัน ในถํ้าพำนักนี้ จึงมีการจารึกพระคัมภีร์ ในพุทธศาสนาเป็นภาษาต่างๆ ทั้งจีน เตอรกี ทิเบต มองโกเลียน เมื่อมีเอกสารศาสนาเพิ่มมากขึ้น ก็ได้มีการจัดตั้งเป็นหอสมุดเก็บรักษาไว้ ซึ่งนานนับ 1,400 ปีมาแล้ว ที่เอกสารเหล่านี้ยังคงอยู่ในสภาพดี เนื่อง จากภาวะอากาศอันหนาวเย็น และแห้งแล้งของอัฟกานิสถานได้ช่วยรักษาสภาพไว้ไม่ให้เปื่อยผุไปได้ง่าย ถ้าจะเทียบนะครับ พระคัมภีร์พุทธในถํ้าที่บามิยันนี้ ก็มีลักษณะดุจเดียวกับ ม้วนพระคัมภีร์ในตุ่มแห่งเดดซี (Dead Sea Scrolls) ของชาวยิวนั่นเอง
ถ้าหากบ้านเมืองสงบสุข พระคัมภีร์พุทธเหล่านี้ก็จะยังคงอยู่ในถํ้าไปได้อีกนาน ทว่าหลังจาก พ.ศ. 1300 เป็นต้นมา พวกมุสลิมได้รุกรานยึดครองอัฟกานิสถาน เอกสารบางส่วนในหอสมุดได้ถูกทำลายเสียหายขาดวิ่น ชิ้นส่วนที่ยังเหลือรอดอยู่ ได้พบว่าถูกนำไปเก็บไว้ในถํ้าแห่งหนึ่ง ห่างจากบามิยันไปทางเหนือราว 300 กม. และเมื่อมุสลิมรุกรานหนักขึ้น ชาวพุทธเห็นว่าพระคัมภีร์เหล่านี้อยู่ใน สถานะไม่ปลอดภัยเสียแล้ว จึงได้แอบนำคัมภีร์ลํ้าค่าบรรทุกหลังลาลอบหนีออก จากอัฟกานิสถานเมื่อราว 5-6 ปีที่ผ่านมานี้ โดยเดินทางผ่านช่องเขาฮินดูกูษ และได้มีการส่งทอดกันต่อๆ ไปจนถึงลอนดอน และไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่นอร์เวย์ ในท้ายที่สุด
หลังจากที่โปรเฟสเซอร์บราร์วิกได้รู้ถึงแหล่งที่มาของพระคัมภีร์พุทธแล้ว คราวนี้พิพิธภัณฑ์ที่สเคอร์ยันก็ได้พยายาม “ขนย้าย” พระคัมภีร์ที่ยังเหลือตกค้างอยู่ในอัฟกานิสถาน ออกมาเก็บรักษาเอาไว้ โดยใช้วิธีการทุกรูปแบบ กระทั่งนำเอาออกมาได้เกือบหมด ก่อนหน้าที่พระพุทธรูปบามิยันจะถูกทำลาย และอัฟกานิสถานถูกกองทัพสัมพันธมิตรถล่ม
เอกสารพระคัมภีร์ที่ทยอยนำมานั้น เมื่อรวมกันตั้งแต่ต้นแล้ว ปัจจุบันมีอยู่ราวๆ 5,000 ชิ้น ที่ยังเป็นรูปเป็นร่าง กล่าวคือเป็นชิ้นส่วนของแผ่นจารึก ใบลาน เปลือกไม้และหนังแกะ ที่มีขนาดตั้งแต่ 2 ตารางเซนติเมตร ไปจนเป็น แผ่นที่สมบูรณ์ นอกนั้นเป็นเศษกระจิริดอีกราว 8,000 ชิ้น เมื่อได้รับชิ้นส่วนพระคัมภีร์มาแล้ว ทางพิพิธภัณฑ์จะทำความสะอาดจัดเตรียมเก็บ ทำก๊อบปี้ และลงหมายเลขกำกับแต่ละชิ้นไว้ เพื่อทำการศึกษาค้นคว้าต่อไป
ซึ่งในการ “ชำระ” สังคายนาพระคัมภีร์ที่ได้มานี้ มิใช่ของง่ายเลยครับ จัดเป็นงานระดับยักษ์ที่ต้องอาศัย ผู้รู้จริงจำนวนมาก ทางพิพิธภัณฑ์ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2540 โดย มีการสัมมนาครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 2540 และท้ายสุดครั้งที่สี่ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2542 ที่เมือง เกียวโต, ญี่ปุ่น โดยมีการเชิญนักโบราณคดีนานาชาติมาร่วมงาน มีการจัดพิมพ์เผยแพร่บางเรื่องที่ได้แปล และเรียบเรียงเสร็จแล้ว เช่น เรื่องของพระเจ้าอโศกมหาราช, พระเจ้าอชาตศัตรู และมหาปรินิพพานสูตร เป็นต้น