อาหารของ ฮองเฮา เหล่าสนม และนางในสมัยราชวงศ์ชิง
ในสมัยราชวงศ์ชิงนั้นมีการคัดเลือกเหล่าสนมนางในจากทั่วแผ่นดิน ตระกูลต่างๆก็อยากให้ลูกสาวได้เข้ามาอยู่ในวัง เพื่อที่จะได้สุขสบาย และอาจได้มีอำนาจวาสนาเพิ่มขึ้น นางในที่เข้ามาอยู่ในวังนั้น มีตั้งแต่ยศสูงส่งคือพระพันปีหลวง ยันต่ำสุดคือนางข้าหลวงตัวน้อย ล้วนแต่ได้รับเงินปีกันโดยทั่วหน้า วันนี้จะพาไปดูอาหารการกินของนางเหล่านี้กัน
ใน ๑ วันราชสำนักแมนจูจะรับประทานอาหาร ๓ มื้อ ถ้านับตามธรรมเนียมปฏิบัติของฮ่องเต้ มื้อเช้าประมาณ ๖.๐๐ นาฬิกา ๑ มื้อ มื้อเที่ยงตอน ๑๔.๐๐ ๑ มื้อ และมื้อเย็นตอน ๑๗.๐๐ นาฬิกาจะเป็นเครื่องว่าง ที่ไม่ค่อยจะเบานัก อาทิ ไก่ทอด หมูทอด ซาลาเปา จากธรรมเนียมปฏิบัติดังกล่าว อาจจะสันนิษฐานว่าเหล่านางในแต่ละวันกินกี่มื้อ และมื้อหนึ่งกินกี่โมงคงไม่ได้แตกต่างไปจากฮ่องเต้เท่าใดนัก
ทางด้านชนิดของอาหารที่จะทำให้นางในกินนั้นไม่ได้กำหนดชนิดตายตัว ขึ้นอยู่กับห้องเครื่องหลวงจะทำถวาย อันนี้อย่าได้คิดว่าอาหารในวังจีนนั้นจะเป็นหนวดเต่าเขากระต่ายเป็นพื้น จริงๆก็ใช้เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อเป็ด เนื้อแพะธรรมดาๆนี้เอง ของแปลกๆก็มีมาเรื่อยๆตามแต่ว่ามีใครส่งมาเป็นบรรณาการประจำปี ที่ผิดจากอาหารคนธรรมดาคือของนั้นแม้จะเป็นของธรรมดาๆ แต่ว่าจะเป็นของชั้นเลิศ อาทิ แป้งที่ใช้ประกอบอาหารในวังจะโม่ถึง ๖ ครั้ง ขณะที่บ้านชาวบ้านจะโม่แค่ ๒ ครั้งเท่านั้น
ห้องเครื่องสำหรับปรุงอาหารถวายพระสนมจะแยกเป็นเอกเทศไม่ยุ่งเกี่ยวกับห้องเครื่องของฮ่องเต้ และฮ่องไทเฮา ห้องเครื่องจะทำอะไรมาถวายแก่นางในนั้นเป็นสิ่งที่นางในเลือกไม่ได้ แต่อาจจะสั่งได้ว่าไม่กินอะไร หรือไม่ก็ถ้าทำมาแล้วไม่ถูกใจจะสั่งออกไปว่าให้ทำอะไรเพิ่มมาก็ได้เช่นกัน หรือไม่ก็สั่งนางข้าหลวงและขันทีออกไปซื้อจากนอกวังมาให้กิน ไม่ก็ทำกินเองเพิ่มเติมก็ได้ แต่ปรกติแล้วอาหารปริมาณมากขนาดนั้น มันคงมีอะไรถูกใจสักอย่าง
ปริมาณมากนี้มากแค่ไหนลองมาดูกัน
ปริมาณอาหารที่จะทำให้นางในแต่ละคน จะแบ่งจำนวนตำลำดับศักดิ์ของนางในยิ่งสูงมากปริมาณยิ่งมาก ต่อไปนี้คือปริมาณเนื้อสัตว์ที่ใช้ปรุงอาหารถวายนางในแต่ละลำดับในวันๆหนึ่ง แต่ก่อนที่จะกล่าว ทั้งนี้ ขออธิบายเล็กน้อยเกี่ยวกับอัตราชั่งตัววัดของจีนโบราณกล่าวคือ ๑ ถาด หรือเรียกว่า “ผาน”(盘: pan) เท่ากับ ๑๖ จิน (斤: jin) ๑ จิน เท่ากับ ๕๙๖.๙๒ กรัม และ๑ จิน เท่ากับ ๑๖ เหลี่ยง (两:liang) โดย ๑ เหลี่ยงเท่ากับ ๓๑. ๒๕ กรัม
ต่อไปนี้คือปริมาณเนื้อสัตว์ที่เป็นส่วนแบ่งให้นางในแต่ละลำดับศักดิ์ในแต่ละวัน
๑. ฮองไทเฮา – หมู ๑ ตัว แพะ ๑ ตัว ไก่เป็ด อย่างละ ๑ ตัว
๒. ฮองเฮา – หมู ๑ ถาด (๙.๖ กิโลกรัม) แพะ ๑ ถาด (๙.๖ กิโลกรัม)ไก่เป็ด อย่างละ ๑ ตัว
๓. ฮวงกุ่ยเฟย – หมู ๑๒ จิน (๗.๒ กิโลกรัม) แพะ ๑ ถาด (๙.๖ กิโลกรัม) ไก่ หรือเป็ด อย่างละ ๑ ตัว
๔. กุ่ยเฟย – หมู ๙ จิน ๒ เหลี่ยง (๕.๙๒ กิโลกรัม) เป็ดไก่รวมแล้วเดือนละ ๑๕ ตัว แพะเดือนละ ๑๕ ถาด(๑๔๓.๒๘ กิโลกรัม)
๕. เฟย – หมู ๙ จิน (๕.๔ กิโลกรัม) เป็ดไก่รวมแล้วเดือนละ ๑๐ ตัว แพะเดือนละ ๑๕ ถาด(๑๔๓.๒๘ กิโลกรัม)
๖. ผิน – หมู ๖ จิน (๓.๕๖ กิโลกรัม) เป็ดไก่รวมแล้วเดือนละ ๑๐ ตัว แพะเดือนละ ๑๕ ถาด(๑๔๓.๒๘ กิโลกรัม)
๗. กุ่ยเหริน – หมู ๖ จิน (๓.๕๖ กิโลกรัม) เป็ดไก่รวมแล้วเดือนละ ๘ ตัว แพะเดือนละ ๑๕ ถาด(๑๔๓.๒๘ กิโลกรัม)
๘. ฉางจ้าย – หมู ๕ จิน (๒.๙๘ กิโลกรัม) เป็ดไก่รวมแล้วเดือนละ ๕ ตัว แพะเดือนละ ๑๕ ถาด(๑๔๓.๒๘ กิโลกรัม)
๙. ตาอิ้ง – หมู ๑ จิน ๒ เหลี่ยง (๖๕๙.๔๒ กรัม) เนื้อสัตว์อื่นๆและผักในแต่ละวัน รวมแล้ว ๒ จิน (๑.๒๐ กิโลกรัม)
๑๐. กวนนู่ (นางพนักงาน) – หมู ๑ จิน (๕๙๖.๙๒ กรัม) เนื้อสัตว์อื่นๆและผักในแต่ละวัน ๑๒ เหลี่ยง (๓๗๕ กรัม)
๑๑. กงนู่ (นางข้าหลวง) – หมู ๑ จิน (๕๙๖.๙๒ กรัม) เนื้อสัตว์อื่นๆและผักในแต่ละวัน ๑๐เหลี่ยง (๓๑๒.๕ กรัม)
จากปริมาณเฉพาะเนื้อสัตว์ ยังไม่นับรวมผัก รวมข้าว จะเห็นได้ว่าอาหารที่ให้นางในรวมถึงนางพนักงานและนางข้าหลวงในแต่ละวันนั้นมากมายมหาศาล ถ้ากินหมดคงไม่ใช่มนุษย์ และแน่นอนไม่มีใครกินหมด แต่อาหารที่เหลือนั้นจะไม่ถูกทิ้งเด็ดขาด แต่ว่าจะเหลือให้เหล่าบ่าวไพร่ในวังกินต่อ อาทิ ฮ่องเต้เสวยอาหารเหลือ (มื้อหนึ่งประมาณ ๒๐ กว่าชนิด) จะประทานอาหารที่เหลือนั้นให้แก่เจ้านาย เชื้อพระวงศ์ ขุนนาง รวมไปถึงขันทีที่รับใช้
สำหรับอาหารที่เหลือ นางในเองก็ไม่ได้ต่างกัน หลังจากเหล่าพระสนมเสวยเสร็จ นางข้าหลวงขันทีจำนวนไม่น้อยก็กินต่อ หลักฐานมีปรากฎในบันทึกคุณหญิงเต๋อหลิง (德龄公主:de ling gong zhu) นางสนองพระโอษฐ์พระนางสูซีไทเฮา คุณหญิงเล่าว่า หลังจากที่พระนางเสวยเสร็จแล้ว ฮ่องเฮา และเหล่าเชื้อพระวงศ์ที่คอยถวายงาน รวมไปถึงนางสนองพระโอษฐ์ก็จะนำของเสวยมากินร่วมกัน กินเสร็จแล้วเหล่านางข้าหลวงและขันทีก็จะนำไปกินต่อ สรุปง่ายๆคืออาหารเหลือนั้นไม่มีทางเหลือทิ้ง เพราะคนงานในวังนี้มากมายเหลือจะนับ แต่ถ้าสงสัยว่าทำไมไม่ทำเฉพาะนายกิน และทำเฉพาะบ่าวกิน ก็มีคำอธิบายว่า นายที่ดี ควรจะให้บ่าวร่วมสุขด้วย มีของกินดีๆก็ควรแบ่งเหลือไว้ให้บ่าวกิน ไม่เช่นนั้นจะบ่งว่านายนี้เหนียวเกินจะรับใช้