เพจความรู้วิทยาศาสตร์เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อโฆษณาขาย “ไบโอบูสเตอร์” อ้างรักษาได้สารพัดโรคแค่แปะบริเวณปวด-ดื่มน้ำเขย่า หลังพบออกบูธชวนเชื่อ มีคนลองรักษาฟรีอื้อ มาดูคำชี้แจงเรื่องนี้กัน
วันที่ 16 พฤษภาคม 2560 เฟซบุ๊กแฟนเพจ WiTcast ที่ให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์เตือนเรื่อง “ไบโอบูสเตอร์” หลังมีผู้สื่อข่าวของเพจพบเรื่องราวที่ดูไม่เป็นวิทยาศาสตร์และส่งข้อมูลเข้ามาว่า พบว่ามีการตั้งบูธขายไบโอบูสเตอร์ที่ห้างย่านฝั่งธนฯ โดยโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณรักษาโรคมากมายจนดูเกินจริง
ตามข้อมูลที่ได้มา ไบโอบูสเตอร์มาในรูปตลับกลม ๆ เพียงนำไปแปะไว้บริเวณที่ปวดหรือมีอาการเจ็บป่วย ก็จะช่วยบรรเทาความเจ็บป่วยให้ดีขึ้นได้ โดยผู้ขายอ้างว่าหลักการคือคลื่นฟาร์อินฟราเรด (far infrared) และประจุลบ ที่ได้จากสารสกัดโสมแดงที่ปลูกในที่ดินเก่าแก่ของต้นตระกูลคิม เข้าไปกระตุ้นถึงเซลล์ให้รักษาจุดที่เจ็บป่วย เปรียบเสมือนกระตุ้นแอนตี้บอดี้ให้ทำงาน และนอกจากรักษาด้วยวิธีการแปะไว้ตามจุดที่มีอาการแล้ว เพียงดื่มน้ำที่ได้จากการนำไบโอบูสเตอร์แปะข้างขวดน้ำแล้วเขย่า 20 ครั้ง น้ำนั้นจะดีต่อสุขภาพช่วยชะล้างอวัยวะภายในร่างกาย
ในแผ่นข้อมูลยังมีรายละเอียดอ้างสรรพคุณอีกมากมายดังภาพ
ทางเพจเห็นว่าการอวดอ้างสรรพคุณรักษาโรคสารพัดนี้ไม่น่าเชื่อถือในทางวิทยาศาสตร์ จึงได้นำมาประกาศเตือนกัน และสำหรับประเด็นนี้ ยังมีข้อมูลสนับสนุนจาก คุณเดียว แอดมินเพจ โปรดใช้วิจารณญาณในการฟัง ให้คำอธิบายกับสับปะรดเพิ่มเติม (สามารถอ่านคำอธิบายฉบับเต็มได้ในลิงก์ของเพจ) เพื่อประกอบการพิจารณาว่าสรรพคุณรักษาสารพัดโรคของไบโอบูสเตอร์นั้นดูเป็นจริงมากน้อยเพียงไร ใน 3 ประเด็นดังนี้
1. ความน่าเชื่อถือ
ตัวผลิตภัณฑ์ “ไบโอบูสเตอร์” ไม่ปรากฎชัดว่าได้การรับรองจาก อย. แล้วหรือไม่ และถึงมีก็เป็นเพียงเครื่องหมายรับรองว่าผลิตภัณฑ์ปลอดภัยต่อการใช้ ไม่ได้หมายความว่ามีผลในการรักษา ส่วนการอ้างสรรพคุณในการรักษานั้นก็ยังไม่ปรากฎแน่ชัดว่าได้รับการยอมรับจากวงการแพทย์ โดยหากมีการศึกษาผลการรักษาหรือตัวผลิตภัณฑ์แล้ว ก็จะต้องมีฉลากยา วิธีใช้ คำเตือน อันเป็นเครื่องหมายว่าผลิตภัณฑ์ได้ถูกศึกษาทดลองแล้วจริง
2. หลักการทางวิทยาศาสตร์
ไบโอบูสเตอร์อ้างการรักษาโดยอาศัยคลื่นฟาร์อินฟราเรดและไอออนลบนั้น ในความเป็นจริงแล้ว “ฟาร์อินฟราเรด” หรือ “คลื่นอินฟราเรดย่านไกล” คือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าย่านความถี่ต่ำ คนไม่สามารถมองเห็นแต่รับรู้มันได้ในรูปแบบของ “ความร้อน” ซึ่งร่างกายมนุษย์เองก็สามารถปล่อยความร้อนได้เช่นกัน นั่นคืออุณหภูมิจากร่างกายที่แผ่ออกมานั่นเอง แต่ในส่วนทีอ้างว่าไบโอบูสเตอร์ปล่อยคลื่นความถี่ที่ตรงกับสมองและหัวใจนั้นไม่เป็นความจริง โดยคลื่นฟาร์อินฟราเรดมีความถี่ในย่าน 20 THz to 300 GHz (20,000,000,000,000-300,000,000,000 รอบต่อวินาที) ขณะที่คลื่นสมองมีความถี่อยู่ในระดับ 4-30 รอบต่อวินาที เห็นได้ว่าห่างกันโดยสิ้นเชิง ส่วนคลื่นหัวใจนั้นก็คือการวัดความถี่การเต้นของหัวใจ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคลื่นอินฟราเรดแต่อย่างใด
ยิ่งไปกว่านั้นในส่วนของ “ไออนลบ” หรือ “ประจุลบ” ที่อ้างว่าช่วยในการรักษา ข้อเท็จจริงคือมันเป็นอะตอมที่มีค่าทางไฟฟ้าเป็นลบ ซึ่งในแง่การรักษาไม่ได้ความหมายอะไร
ส่วนที่อ้างว่าเมื่อนำไปแปะแล้วรู้สึกร้อน มีไอน้ำที่เกิดจากการสลายของพังผืด จากกระบวนการสลายหินปูนในกระดูกซึมออกมา ในความเป็นจริงร่างกายมนุษย์ไม่ได้พรุนขนาดสิ่งที่อยู่ในร่างกายจะซึมทะลุผ่านกล้ามเนื้อ เส้นเลือด เนื้อเยื่อ ผิวหนังออกมาได้ ไอน้ำที่เห็นแท้จริงไม่ใช่สิ่งอื่นใด นอกจากเหงื่อเท่านั้นเอง
จึงเห็นได้ว่าการอ้างหลักการของไบโอบูสเตอร์ไม่มีมูลความจริงมากพอที่จะแสดงให้เห็นถึงเหตุผลและความเข้าใจทางการแพทย์หรือแม้แต่หลักวิทยาศาสตร์เบื้องต้นเลย
3. เหตุใดถึงมีคนเชื่อ
ในประเด็นนี้อาจเป็นเพราะหลังประคบแล้วผู้ทดลองเกิดความรู้สึกสบายตัว เลือดลมไหลเวียนดีขึ้น เส้นเอ็นยืดหยุ่นดีขึ้น ลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อได้จริง แต่ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลที่เกิดขึ้นได้ตามปกติทั่วไปเมื่อทำการ “ประคบร้อน” ซึ่งตัวไบโอบูสเตอร์ที่อ้างว่าเป็นวัตถุให้คลื่นอินฟราเรด หรือแผ่ความร้อนออกมาได้นั้น ก็ย่อมให้ผลด้านรู้สึกผ่อนคลายสบายตัวในแบบเดียวกัน ซึ่งผลเรื่องความสบายเนื้อตัวขึ้นจากการประคบร้อนนี้ก็เป็นที่ยอมรับกันในวงการแพทย์ แต่ก็ไม่ได้มีสรรพคุณรักษาโรคไมเกรน เบาหวาน ภูมิแพ้ วัยทอง ฯลฯ ดังที่ผลิตภัณฑ์ไบโอบูสเตอร์อ้างไว้แต่อย่างใด
ท้ายที่สุดอยากเตือนประชาชนไม่ให้หลงเชื่อไปกับยาหรือการรักษาใด ๆ ที่ดูเกินจริง โดยขาดการศึกษาและใช้พิจารณาที่รอบคอบก่อน ผลจากการหลงเชื่อไปลองรักษา นอกจากเสียสตางค์โดยใช่เหตุ โรคไม่หายจริงเพราะรักษาไม่ถูกหลักแล้ว ยังทำลายโอกาสที่จะเข้าถึงการรักษาที่ถูกต้องเพราะกว่าจะรู้ตัวอาการเจ็บป่วยก็อาจทรุดลงมากแล้วอีกด้วย และขอฝากข้อสังเกตเรื่องยาปลอมหรือการรักษาหลอกลวงเอาไว้ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาหากได้เจอกรณีที่คล้ายคลึงเช่นนี้อีก
1. อ้างว่ารักษาได้หลายโรค โดยบางโรคดูไม่เชื่อมโยงกับโรคอื่น ๆ เช่น รักษาไขข้อพร้อมกับรักษาไต ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้
2. อ้างเรื่องราวยืดยาว แต่ไม่มีงานวิจัยหรืองานศึกษาอ้างอิงอย่างเป็นระบบ
3. อ้างความรู้โบราณหรือความรู้จากสิ่งหนือธรรมชาติ
4. อ้างว่าดีเพราะมาจากธรรมชาติ
5. อาจมีคำโฆษณาว่า “สิ่งที่หมอไม่เคยบอก”, “สิ่งที่แม้แต่หมอก็ไม่รู้”