เป้สะพายหลังพลังแสงอาทิตย์หรือโซล่า แบคแพค (Solar backpack) กำลังจะเข้ามาแทนที่แบคแพคธรรมดา
แบคแพคได้รับความนิยมมากในหมู่นักศึกษา คนหนุ่มสาว แม้กระทั่งนักเดินทางท่องเที่ยว นักปีนเขา นักผจญภัย สามารถใส่เสื้อผ้าของใช้ส่วนตัว อุปกรณ์ต่างๆได้อย่างครบครัน เหมือนกับชาวต่างชาติที่มาพักและใช้ที่พักย่านถนนข้าวสาร ในกทม.เป็นที่พักก็มักจะเรียกว่าพวกนักท่องเที่ยวแบคแพค เป็นต้น
ยุคต่อไปของแบคแพคมีการผลิตแล้วคือ“เป้สะพายหลังพลังแสงอาทิตย์” (Solar backpack) ขออนุญาตแปลตรงตัวไปก่อนเพราะยังไม่มีศัพท์บัญญัติขึ้นมา อาจใช้คำว่า “แบคแพคพลังแสงอาทิตย์”หรือ“โซล่า แบคแพค”ก็ได้ คำที่มาจากต่างประเทศ เรามักใช้ทับศัพท์ไปตรงๆเช่นคำว่า ฟุตบอล (Football) เราไม่ใช้คำว่า “หมากตีน”
สำหรับโซล่า แบคแพคนอกจากจะเป็นกระเป๋าใส่อุปกรณ์ เสื้อผ้าต่างๆแล้วยังจะมีองค์ประกอบคือแผ่นฟิล์มบางรับพลังแสงอาทิตย์และมีแบตเตอรี โดยแผงแผ่นโซล่า เซลล์จะเปลี่ยนพลังงานแสงแดดเป็นพลังงานไฟฟ้าและเก็บพลังงานไว้ในแบตเตอรี่ ซึ่งสามารถนำพลังงานมาใช้ได้กับโทรศัพท์มือถือ, mp3 players
ปกติโซล่า แบคแพคจะมีแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์,แบตเตอรี,ตัวควบคุมการชาร์จไฟ,ปลั๊ก,สายไฟและหลอดไฟ สามารถใช้พลังงานได้ถึง 120 วัตต์ชั่วโมง/วัน และใช้งานได้กับเครื่องอิเลคทรอนิคต่างๆได้ถึง 300 วัตต์ ดังนั้นจึงนำไปใช้งานในระดับนานาชาติ,การช่วยเมื่อเกิดภัยพิบัติ,เป็นพลังงานฉุกเฉินและใช้ในงานวิจัยภาคสนามได้ด้วย
ระบบโซล่า แบคแพครู้จักกันในนาม Rucksack Enhanced Portable Power System (REPPS) พัฒนาขึ้นมาโดยสำนักงานค้นคว้าการสื่อสารอิเลคทรอนิก,ศูนย์กลางพัฒนาและวิศวกรรม กองทัพบกสหรัฐ เริ่มจากการทำผ้าห่มด้วยพลังงานจากแสงอาทิตย์โดยจัดทำเป็นผ้าห่มแบคแพคขนาด 62 วัตต์เพื่อให้ทหารกองทัพบกสหรัฐที่ประจำอยู่ในประเทศอัฟกานิสถานได้ใช้
ทางด้านกองทัพอากาศสหรัฐให้บริษัทล็อคฮีต มาร์ติน เป็นผู้พัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใช้ได้กับตู้ขนส่งสินค้า ขณะที่นาวิกโยธิน( Marines) พัฒนากระเป๋าเดินทางที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้นำไปใช้ได้กับแบคแพค อุปกรณ์การสื่อสารของกองทัพสหรัฐอาทิเช่นระบบวิทยุและระบบค้นหาตำแหน่งในโลก (GPS)ต้องการพลังงานจำนวนมาก การออกแบบเพื่อให้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์กับอุปกรณ์เคลื่อนย้ายได้ง่ายเข้ามาทดแทนการใช้พลังงานจากน้ำมันในสนามรบ
ปัจจุบัน REPPS ใช้กับกองบินยุทธการ 173 ในเมืองโลการ์ ประเทศอัฟกานิสถาน โดยใช้กับแบคแพคขนาดน้ำมนัก 10 ปอนด์สะดวกในการเคลื่อนย้ายและใช้เวลาชาร์จแบตเตอรีเพียง 6 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังเปลี่ยนพลังงานไปใช้ไฟ ac ที่มีปลั๊กเสียบกับผนังเพื่อชาร์จแบตเตอรีรถยนต์ได้ด้วย
โซล่า แบคแพคใช้เป็นพลังงานกับคอมพิวเตอร์แลปท็อปได้ถึง 3 ชั่วโมง
หลังจากชาร์จพลังงานแสงอาทิตย์ 6 ชั่วโมงแล้วสามารถใช้เป็นแสงไฟได้นานถึง 14 ชั่วโมง
โซล่า แบคแพคยังใช้เป็นพลังงานของเครื่องมือทางการแพทย์ได้ นำไปช่วยเมื่อเกิดภัยพิบัติต่างๆในกรณีที่พลังงานไฟฟ้าในเขตนั้นๆไม่อาจใช้งานได้
ในเขตทุรกันดารสามารถช่วยพลังงานด้านกล้องถ่ายภาพได้
สรุปก็คือโซลา แบคแพคใช้พลังงานสีเขียวดีต่อสภาพแวดล้อม หากเทียบกับค่าไฟฟ้าแล้วถูกกว่า 10-20 % ลดค่าใช้จ่ายได้ โซลาแบคแพคเบา,เคลื่อนที่ได้และที่สำคัญยังกันน้ำ (waterproof)ได้อีกด้วย
ธุรกิจ 2.7 พันล้านดอลลาร์
แบคแพคธรรมดาเริ่มผลิตโดยบริษัท JanSport เมื่อ 50 ปีมาแล้ว ปัจจุบันยอดขายแบคแพคในสหรัฐตกปีละ 2.7 พันล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2016 แบคแพคมียอดขายประมาณ 174 ล้านอัน ทั้งนักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยวต้องใช้ โดยเฉพาะช่วงเปิดเทอมหรือ back-to-school มีการเลือกซื้อหากันมาก
โซลา แบคแพคที่ออกมาใหม่ก็มีหลายบริษัทผลิตจำหน่ายราคาตกประมาณ 59-159 ดอลลาร์ต่ออันขึ้นอยู่กับแบบและวัสดุที่นำมาจัดทำ บางบริษัทมีแบคแพคเป็นกึ่งหนังให้เลือกราคาก็จะแพงขึ้นกว่าปกติ แต่โดยทั่วไปแล้วราคาไม่แพงนักเพราะลูกค้าแบคแพคจะเป็นนักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยว นักกีฬา นักไต่เขา ฯลฯ
บริษัทผู้ผลิตมีหลายยี่ห้อเช่น JanSport ,Eastpak, Timberland, North Face และ BirkSun เป็นต้น
ปัจจุบัน โซล่า แบคแพคมีจำหน่ายทั่วไป อาทิเช่นที่ อะเมซอนด๊อทคอม เป็นต้น