แปลก! อะไรที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการ มักไม่ได้
โครงการพัฒนาดีๆ ของภาครัฐ ที่ประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุน กลับไม่ได้รับการตอบสนอง และมักได้รับการขัดขวางจากเอ็นจีโอเสียอีก
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ อะไรก็ตามที่ประชาชนส่วนใหญ่ปรารถนา อยากได้ เพราะเป็นการเอื้ออำนวยแก่ประชาชนโดยรวม มักไม่ได้ แปลกใจจริงๆ ว่าประชาชนคือเจ้าของประเทศหรือไม่ ผมมีตัวอย่างให้ดูหลายตัวอย่างเลย
ตัวอย่างที่ผมขอยกให้ดูประกอบด้วย
1. โรงไฟฟ้ากระบี่ กว่า 90% ของประชาชนในพื้นที่ (http://bit.ly/2kOq7Zm)
2. กระเช้าภูกระดึง 97% ของชาวภูกระดึงเรียกร้อง (http://bit.ly/1povC3l)
3. เขื่อนแม่วงก์ 79% ของชาวนครสวรรค์ (http://bit.ly/2c17hdD)
4. เหมืองทอง 78% ของชาวบ้านต้องการให้อยู่ต่อ (http://bit.ly/1slFPir)
แต่สิ่งที่ NGOs กฎหมู่ คนถ่อยเถื่อน คนส่วนน้อย ขัดขวาง มักสำเร็จ จัดการกันโดยละมุนละม่อม ไม่ให้กระเทือนซางกัน ขนาดยกพวกมาชุมนุมหน้าทำเนียบ บริเวณศูนย์อำนาจ-กล่องดวงใจของรัฐบาล นายกฯ ยังต้องหนีออกทางประตูข้างเลย http://bit.ly/2ly42lw)
กรณีโรงไฟฟ้ากระบี่
ขนาดว่าประชาชนกว่า 90% ในพื้นที่สนับสนุน แต่คนคัดค้านเพียงหยิบมือเดียวกลับสามารถคัดง้างได้ ดูอย่างมาเลเซียยังมีโรงไฟฟ้าถ่านหินอีก 4 แห่งของมาเลเซียตั้งอยู่
1. โรงไฟฟ้าแมนจุงตั้งอยู่ใกล้กับรีสอร์ตหรูและชุมชน ตั้งอยู่ติดชายทะเล และห่างจากโรงไฟฟ้ากระบี่เพียง 455 กิโลเมตร
2. โรงไฟฟ้าจิมาห์ก็ตั้งอยู่ติดทะเล ในขณะที่โรงไฟฟ้ากระบี่ห่างจากทะเลถึงราว 10 กิโลเมตร โรงไฟฟ้านี้ตั้งอยู่ใกล้เขตเมืองและมีรีสอร์ตหรูและโรงแรมตั้งอยู่ใกล้ๆ จำนวนมากมาย
3. โรงไฟฟ้า เคพีเออาร์ เป็นตัวอย่างที่ 3 โรงนี้ตั้งอยู่ห่างจากกรุงกัวลาลัมเปอร์เพียง 56 กิโลเมตร ถ้าไม่ปลอดภัยจามลพิษ โรงไฟฟ้านี้คงไม่สามารถตั้งอยู่ได้
4. โรงไฟฟ้าตันจุงบิน ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากสิงคโปร์เพียง 9 กิโลเมตร โรงไฟฟ้านี้และท่าเรือขนาดยักษ์ตั้งอยู่บนพื้นที่ชุ่มน้ำเสียด้วย แต่ในกรณีไทย คนไทยกลับถูกหลอกให้เชื่อว่า พื้นที่ชุมน้ำเป็นเสมือน “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ที่แตะต้องมิได้
โรงไฟฟ้ากระบี่ ได้เปิดดำเนินการในช่วงปี 2507 ถึง 2538 โดยใช้ถ่านหินลิกไนต์ที่มีคุณภาพต่ำกว่าถ่านหินบิทูมินัส แต่จำนวนรีสอร์ตหรูกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นี่แสดงว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินไมได้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
กรณีกระเช้าขึ้นภูกระดึง
ประชาชนถึงประมาณ 97% ต้องการให้มีการสร้างกระเช้าไฟฟ้า การที่ประชาชนในพื้นที่แทบทั้งหมดต้องการให้มีการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้านี้ แสดงถึงมติมหาชนที่พึงเคารพ และเป็นการแสดงถึงภูมิปัญญาของประชาชนที่ผ่านการเรียนรู้มาด้วยตนเองว่ากระเช้าไฟฟ้านี้มีประโยชน์จริง ไม่เฉพาะแก่ประชาชนในพื้นที่ แต่มีประโยชน์ต่อประชาชนทั้งประเทศที่มาใช้บริการ ส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สร้างรายได้ให้กับทางราชการในการนำเงินมาอนุรักษ์ธรรมชาติและป่าไม้จนก่อให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ความต้องการของประชาชนภูกระดึงนี้จึงไม่ใช่การครอบครองทรัพยากรของชาติไปใช้เพื่อประโยชน์ของกลุ่มตนถ่ายเดียว
ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์สมบูรณ์ เหมาะที่จะก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้านี้ เพื่อศึกษาเรียนรู้ชื่นชมธรรมชาติโดยไม่แตะต้อง (คงไม่มีใครสร้างกระเช้าขึ้นภูหัวโล้น) การพัฒนาที่ดีจะสร้างรายได้เพื่อนำมาพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้ยั่งยืนและมีคุณภาพยิ่งขึ้น แม้แต่ลูกหาบก็ได้ประโยชน์จากการที่กิจการท่องเที่ยวดีขึ้น ยิ่งกว่านั้นในอนาคตยังสามารถพัฒนาจัดระเบียบการค้าและบริการเพิ่มมูลค่าเช่นเดียวกับในต่างประเทศ ทำให้ทางราชการมีทรัพยากรเพียงพอต่อการส่งเสริมการปลูกป่า และปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า
กรณีเขื่อนแม่วงก์
ประชาชนถึง 79% ต้องการให้สร้าง ยิ่งถ้าเป็นชาวนาอาจกล่าวได้ว่าแทบจะ 100% ต้องการให้สร้าง เพราะจะเป็นประโยชน์อย่างอเนกอนันต์ ดูเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนรัชชประภา ฯลฯ โดยจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อ
1. ป่าไม้ การที่จะมีผืนน้ำ 13,000 ไร่มาหล่อเลี้ยงแทนคลองเล็กๆ ในพื้นที่ ก็มีน้ำไว้ดับไฟป่าที่เกิดขึ้นนับร้อยครั้งต่อปี การนำพื้นที่ 0.1% ของผืนป่ามาทำเขื่อน ก็จะยิ่งทำให้ป่าไม้ขยายตัว
2. สัตว์ป่า เมื่อป่ารกชัฏ ก็จะมีอาหารให้สัตว์ป่าอยู่ได้มากขึ้น สัตว์ป่าก็จะยิ่งมีมากขึ้นอีก
3. ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการป้องกันน้ำท่วม แก้ปัญหาภัยแล้ง มีระบบชลประทานที่ดี สามารถใช้ผลิตไฟฟ้าได้ ซึ่งขณะนี้ธนาคารโลกก็สนับสนุนเพราะลดโลกร้อน รวมทั้งยังเป็นประโยชน์ในการทำน้ำประปา ประมง และท่องเที่ยว เป็นต้น
ความสูญเสียจากการไม่มีเขื่อนแม่วงก์นั้นมีมหาศาล ประชาชนต้องขุดบ่อบาดาลเอง โดยเสียค่าใช้จ่ายนับหมื่นๆ บาท น้ำที่ได้ก็มีสนิม ไม่อาจดื่มได้ ในกรณีน้ำท่วม ชาวนาก็ต้องรีบเกี่ยวข้าวขายขาดทุนเหลือเกวียนละ 3,000-4,000 บาท แต่ละปีรัฐบาลต้องชดเชยให้ประชาชนในพื้นที่จากภัยแล้งและน้ำท่วมหลายร้อยล้านบาทต่อปี
กรณีเหมืองทองอัครา
ประชาชนส่วนใหญ่ถึง 78% หรือราวสี่ในห้า ต้องการให้เหมืองเปิดดำเนินการต่อไป มีเพียงส่วนน้อยราว 22% ที่เห็นควรให้ปิดเหมืองตามคำสั่งของทางราชการ การนี้จึงแสดงให้เห็นว่าความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่คือความต้องการเหมือง ส่วนที่มีประชาชนจำนวนหนึ่งออกมาคัดค้านนั้น ในแง่หนึ่งเป็นคนส่วนน้อย (ซึ่งก็พึงรับฟัง) และในอีกแง่หนึ่งก็เป็นกลุ่มบุคคลภายนอกที่ไมได้รับรู้ข้อมูลโดยตรงจากการอยู่อาศัยในพื้นที่
ประชาชนไม่ได้เสียชีวิตเพราะเหมือง
ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิต เช่นกรณีนายสมคิด ธรรมพเวช ที่เสียชีวิตจากสาเหตุปอดอักเสบบวม และภาวะลิ่มเลือดอุดตันในเนื้อปอด ไม่มีสาเหตุมาจากการทำงานในเหมืองแร่ทองคำชาตรี โดยภริยานายสมคิดระบุว่า "แต่ยังมีผู้ไม่หวังดีแอบอ้างการเสียชีวิตของสามีตน นำไปเป็นข้ออ้างในการต่อต้านเหมืองแร่ทองคำชาตรีอยู่อีก นอกจากนี้ ยังมีการไปแอบอ้างรับบริจาคเงินด้วย โดยที่ตนเองและครอบครัวไม่ได้อนุญาต และไม่ได้รับเงินที่รับบริจาค"
โดยสรุปแล้ว การที่รัฐบาลไม่ได้ตอบสนองต่อความต้องการจำเป็นของคนส่วนใหญ่ จะทำให้รัฐบาลตกอยู่ในภาวะลำบาก และประชาชนก็ได้รับความยากลำบากด้วย รัฐบาลจึงไม่ควรฟังเสียงเอ็นจีโอ