โครงการเจ๊งพุ่ง 8,609 หน่วยในครึ่งหลังปี 59 ยังไม่วิกฤติ!
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา
เพียงเฉพาะครึ่งหลังของปี 2559 มีโครงการที่อยู่อาศัยที่หยุดการขายไปทั้งหมด 8,609 หน่วย รวมมูลค่า 12,182 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ เพียงแต่ขาย "ฝืดหนัก"!!!
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) เปิดเผยผลการสำรวจตลาดที่อยู่อาศัย ณ ปี 2559 โดยสำรวจไว้ในต้นปี 2560 จากจำนวนโครงการทั้งหมด 1,837 โครงการ พบว่า มีอยู่ 165 โครงการ (ไม่รวมอยู่ใน 1,837 โครงการ) ที่ "เจ๊ง" ไปแล้ว รวมจำนวนหน่วย 47,256 หน่วย รวมมูลค่า 118,155 ล้านบาท จำนวนนี้เท่ากับประมาณ 26% ของหน่วยเหลือขาย 184,329 หน่วย และเท่ากับ 16% ของมูลค่าการพัฒนาที่ 714,324 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ณ ครึ่งแรกของปี 2559 มีโครงการยกเลิกการขายไปรวม 150 โครงการ รวม 38,647 หน่วย รวมมูลค่า 105,973 ล้านบาท และ ณ สิ้นปี 2558 มีอยู่ 139 โครงการที่เจ๊ง รวม 37,723 หน่วย รวมมูลค่า 99,499 ล้านบาท จึงอาจกล่าวได้ว่าในปี 2559 ทั้งปี มีหน่วยขายเจ๊งไป 9,533 หน่วย รวมมูลค่า 18,656 ล้านบาท จะสังเกตได้ว่าโครงการที่เจ๊งส่วนมากเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 แสดงว่าภาวะในขณะนี้เริ่มเห็นความเสี่ยงอยู่พอสมควร เพียงแต่ว่าความเสี่ยงนี้ยังไม่เข้าถึงขั้นวิกฤติแต่อย่างใด
ในจำนวนที่เจ๊ง 47,256 หน่วยนั้น เป็นห้องชุดมากที่สุดถึง 29,058 หน่วย หรือ 61% ของทั้งหมด โดยเฉพาะห้องชุดที่ขายในราคา 1-2 ล้านบาท (12,822 หน่วย) อย่างไรก็ตามหากพิจารณาตามมูลค่าที่เจ๊งจะพบว่า ห้องชุดราคา 3-5 ล้านบาท เจ๊งมากที่สุดถึง 20,488 ล้านบาท (รวม 5,764 หน่วย) ส่วนบ้านเดี่ยว กลุ่มที่มีปัญหามากที่สุดทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่าก็คือบ้านเดี่ยวราคา 5-10 ล้านบาทที่เจ๊งสะสมถึง 1,545 หน่วย รวมมูลค่า 11,263 ล้านบาท
สาเหตุของการเจ๊งประกอบด้วย
1. สถาบันการเงินไม่อำนวยสินเชื่อ 43 โครงการ รวม 26% ของหน่วยขายที่
2. ไม่ผ่านการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม 39 โครงการรวม 24% ของหน่วยขายทั้งหมด
3. ขายไม่ออก รูปแบบสินค้าไม่เหมาะสม 26 โครงการรวม 16% ของหน่วยขายทั้งหมด
นอกนั้นเป็นเหตุผลอื่นที่คล้ายคลึงกัน เช่น รอปรับราคาใหม่ เปลี่ยนรูปแบบโครงการ ทำเลที่ตั้งห่างไกลสิ่งอำนวยความสะดวก ฯลฯ
ดร.โสภณคาดว่าอัตราการเจ๊งในปี 2560 น่าจะลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่อาจดีขึ้น (ตามคำบอกเล่าของรัฐบาล) แต่หากไม่เป็นเช่นนั้น ก็อาจมีมากขึ้น และหากมีการเจ๊งถึงเกือบหมื่นหน่วยเช่นช่วงครึ่งหลังของปี 2559 สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอาจต้องได้รับการประเมินสถานการณ์ใหม่ ซึ่งการนี้คงต้องติดตามโดยใกล้ชิดต่อไป อย่างไรก็ตามโครงการที่เจ๊งนั้นยังนับว่าน้อยกว่าที่จะเกิดวิกฤติได้ สาธารณชนจึงพึงวางใจ
ติดตามสถานการณ์จากศูนย์ข้อมูลฯ AREA โดยใกล้ชิด เพื่อความไม่ประมาท ดร.โสภณ กล่าว