"ชั่วเคี้ยวหมากแหลก" มันเป็นระยะเวลาประมาณกี่นาทีกันนิ
พระมหากษัตริย์ : ระยะทางจากที่นี่ถึงที่นั่น ไกลสักเท่าไร
ทาส : เห็นจะมิเกิน "ชั่วเคี้ยวหมากแหลก" พระเจ้าค่า
เห็นละคร/หนัง โบราณหลายๆเรื่อง ชอบใช้การบอกระยะเวลาด้วย ประโยคนี้
มีใครพอจะทราบไหมครับ ว่ามันนานประมาณกี่นาที ได้ยินประโยคนี้บ่อยๆ ผมก็คิดทุกที แต่ก็ประมาณไม่ถูก เพราะไม่เคยเคี้ยวหมากไทย
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา Office of the Royal Society
ชั่วเคี้ยวหมากจืด เป็นสำนวนที่ใช้บอกเวลา โดยเทียบกับระยะเวลาในการเคี้ยวหมาก ๑ คำ คือตั้งแต่เริ่มเคี้ยวหมากจนหมากจืดหมดคำ. การเคี้ยวหมากของคนแต่ก่อนเรียกว่า กินหมาก แต่ไม่ได้กินจริง ส่วนมากจะนำหมาก ใบพลูที่บ้ายปูนแล้ว เคี้ยวรวมไปกับเกล็ดพิมเสน กานพลู สีเสียด ใบเนียม และเครื่องหอมอื่น ๆ. เคี้ยวไปพอหมากพลูผสมกับน้ำลายกลายเป็นน้ำหมากสีแดงก็บ้วนทิ้งเสียครั้งหนึ่งแล้วเคี้ยวต่อไป. พอมีน้ำหมากก็บ้วนน้ำหมากทิ้ง ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนหมากหมดรส เรียกว่า หมากจืด จึงคายชานหมากทิ้ง. คนโบราณกะระยะเวลาที่เคี้ยวหมากคำหนึ่ง ๆ จนจืด ซึ่งเป็นเวลาประมาณ ๒๐-๓๐ นาที มาใช้อธิบายช่วงเวลาหนึ่ง เช่น เรารออยู่นานชั่วเคี้ยวหมากจืดเห็นจะได้ กว่าเขาจะพาเราเข้าไปพบท่านเจ้าคุณ. จากที่นี่ถ้าเดินไปบ้านกำนัน ก็ไกลชั่วเคี้ยวหมากจืดนั่นแหละ. ในสมัยโบราณยังไม่มีนาฬิกาบอกเวลา จึงมักคำนวณเวลาด้วยการเปรียบเทียบกับสิ่งที่ทำอยู่เป็นประจำ สำนวน ชั่วเคี้ยวหมากจืด ปัจจุบันคนที่ไม่เข้าใจจึงใช้แผลงว่า *ชั่วเคี้ยวหมากแหลก ซึ่งไม่ถูก