ชายรักชาย- จะเลี้ยงลูกให้ดีได้ไหม
ปิดมุมมองชีวิตรักไม่ต่างเพศ ต่อกรณีการต่อสู้ของครอบครัว “เด็กหญิงคาร์เมน เลค”
นับเป็นเวลากว่า 15 เดือน ที่คู่รักชาวอเมริกันและชาวสเปน “กอร์ดอน แอลลัน เลค” กับ “มานูเอล” ต้องยืนหยัดต่อสู้เพื่อนำตัว “เด็กหญิงคาร์เมน เลค” กลับบ้าน หลังหญิงผู้รับจ้างอุ้มบุญไม่ยอมเซ็นเอกสาร
ให้คู่รักชายรักชายพาลูกสาวกลับประเทศสเปน โดยอ้างว่าเพราะเป็นคู่รักชายรักชาย ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ และไม่น่าจะสามารถเลี้ยงดูเด็กหญิงได้ดีเท่ากับครอบครัวที่มีพ่อเป็นชายแม่เป็นหญิง
กระทั่งล่าสุด เมื่อวันที่ 26 เม.ย. ที่ผ่านมา การต่อสู้ของครอบครัวเลคได้สิ้นสุดลง หลังศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง มีคำสั่งให้เด็กหญิงคาร์เมนเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามคำร้องของนายกอร์ดอน เนื่องจากพิเคราะห์แล้วเห็นว่า “พยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำมาไต่สวนมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า ผู้ร้องอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิงด้วยความรักและเอาใจใส่”
ชัยชนะของครอบครัวเลคที่ต้องแลกมาด้วยการต่อสู้ ทั้งในด้านกฎหมายและระเบียบความเชื่อทางสังคม สะท้อนให้เห็นว่าแม้ขณะนี้สังคมไทย จะเปิดรับเพศที่สามมากขึ้นตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนบางกลุ่มยังคงมีคำถาม เกี่ยวกับความรักของเพศที่สามว่าจะมั่นคง และสามารถเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งให้เติบโต เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพได้หรือไม่
“แม้ตอนนี้สังคมไทยกำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีการเปิดโอกาสหรือยอมรับบุคคลเพศที่สามมากขึ้น แต่ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าบางคน ยังคงมีความเชื่อ หรือติดภาพที่ไม่ดีเกี่ยวกับความรักเพศเดียวกัน” วิทยา แสงอรุณ หรือ “ยอด” คอลัมนิสต์ผู้มากประสบการณ์ ซึ่งปัจจุบันยังคงสวีทหวานกับ พัฒนฉัตร มนต์คาถา หรือ “ปูเป้” คู่รักเพศเดียวกันเหมือนครั้งแรกที่พบเจอ แม้ชีวิตคู่ของพวกเขาจะย่างเข้าสู่ปีที่ 7 แล้วก็ตาม สะท้อนถึงมุมมองความรักที่สังคมไทยมีต่อความรักเพศเดียวกันในปัจจุบัน
ยอด มองว่า กรณีการต่อสู้ของครอบครัวน้องคาร์เมน ซึ่งเหตุผลหนึ่งที่หญิงผู้รับจ้างอุ้มบุญบอกว่า ไม่มั่นใจว่าครอบครัวนี้จะเลี้ยงเด็กหญิงได้ดีเท่ากับตนเองหรือไม่ ส่วนตัวมองว่าเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เพราะทุกวันนี้ในต่างประเทศเด็กที่เติบโตในครอบครัวคู่รักเพศเดียวกันมีเยอะมาก และเท่าที่รู้จักเด็กที่อยู่ในครอบครัวประเภทนี้ ก็ไม่เห็นมีปัญหาตามที่สังคมไทยมักกล่าวอ้าง
“จริงๆ แล้วการออกมาพูดในลักษณะนี้ของผู้รับจ้างอุ้มบุญ ไม่มีใครรู้ว่าตัวเขาเองเคยมีเบื้องหลังอะไรหรือไม่ แต่ที่ชัดเจนคือการเอาอคติของตัวเองเป็นที่ตั้ง ถ้าไปดูในต่างประเทศจะเห็นชัดว่า เขาก้าวข้ามเรื่องพวกนี้ไปกันหมดแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องโฟกัสอยู่ที่ว่าคนเหล่านี้ เลี้ยงลูกเป็นไหม รักเด็กจริงๆ หรือเปล่า ที่สำคัญคือมีกำลังทรัพย์พร้อมที่จะเลี้ยงดูหรือไม่มากกว่า”
ไม่ต่างจาก ปูเป้ ที่มองว่า การที่คู่รักเพศเดียวกันมีความประสงค์จะมีลูก ถึงขั้นอาศัยเทคโนโลยีทางการแพทย์เช่นนี้ สะท้อนว่าอย่างน้อยพวกเขามีความพร้อมในด้านฐานะทางการเงิน ขณะเดียวกันเมื่อมองถึงการต่อสู้และความทุ่มเทในช่วงที่ผ่านมา ก็จะเห็นว่าพวกเขาต่างมีความรักต่อลูกสาวตัวน้อยจริงๆ ส่วนตัวจึงเชื่อว่าเด็กหญิงคนนี้จะได้รับความรัก และเติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพในอนาคตอย่างแน่นอน
แน่นอนว่าในด้านความพร้อมทั้งทางการเงิน และความรักที่คู่รักเพศเดียวกันมีต่อเด็กคนหนึ่ง อาจทำให้ชีวิตของเด็กน้อยสุขสบาย แต่อีกมุมหนึ่งก็ยังคงมีเสียงสะท้อนเกี่ยวกับ ความกังวลว่าเด็กที่เติบโตในครอบครัวประเภทนี้ จะมีพฤติกรรมเลียนแบบและเกิดเป็นความเบี่ยงเบนในอนาคตหรือไม่..
ต่อมุมมองนี้ทั้ง ยอด และ ปูเป้ มองว่าเป็นความเชื่อและมุมมองแบบเก่าที่ต้องคิดใหม่ เพราะจริงๆ แล้วคำว่าเบี่ยงเบนทางเพศนั้นไม่มีจริง เนื่องจากความพึงพอใจของคนเราติดตัวมาตั้งแต่เกิด พอเราไปตั้งว่าอิทธิพลภายนอกคือปัจจัยที่ทำให้ คนเราไม่ได้รักหรือชื่นชอบเพศตรงข้าม ถือเป็นความเบี่ยงเบนซึ่งไม่ถูกต้อง การเอาคำนี้ไปตีตราเป็นการสร้างภาพลบทำให้คนกลัว ปัจจุบันคำว่าเบี่ยงเบนจึงถูกเลิกใช้ไปแล้ว
“การที่เด็กอยู่กับพ่อแม่ที่เป็นเกย์ ไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องกลายเป็นเกย์ไปด้วย ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของแต่ละคน ถ้าเด็กที่เกิดมาไม่เป็นเกย์ทำอย่างไรก็ไม่เป็น แต่ถ้าสมมติว่าเป็นเกย์ขึ้นมาจริงๆ จะให้เปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ทำไม่ได้ ส่วนประเด็นการเลี้ยงดูว่าจะดีเทียบเท่ากับครอบครัวปกติหรือไม่นั้น อยากให้ทุกคนเปิดใจว่าปัญหานี้จริงๆ แล้วอยู่ที่ตรงไหนกันแน่” พวกเขาทิ้งท้าย