ประวัติความเป็นมาของชุดไทยพระราชนิยม
สตรีไทยได้มีแบบอย่างการแต่งกายชุดประจำชาติขึ้น โดยพระมหากรุณาในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงมีพระราชวิริยะ อุตสาหะ ศึกษาพิจารณาถึงแบบแผนการแต่งกายซึ่งปรากฏในบรรพสมัยนับแต่ก่อนสมัยสุโขทัย จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และทรงอาศัยเค้าแบบเหล่านั้น กำหนดเป็นพระราชนิยมจัดแบบแต่งกายของสตรีไทยเป็นชุดประจำชาติของสตรีนับตั้งแต่พุทธศักราช 2503 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน ชุดเหล่านี้ภายหลังเรียกว่า “ ชุดไทยพระราชนิยม”
ความหมายของชุดไทยพระราชนิยม
ชุดไทยพระราชนิยม ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า Thai Costume หมายถึง ชุดเครื่องแต่งกายประจำชาติไทย ซึ่งแสดงถึงวัฒนธรรม ประเพณี เชื้อชาติ เอกลักษณ์ความเป็นคนไทยไว้อย่างชัดเจน เค้าโครงของแบบชุดได้จากเครื่องแบบของสตรีไทยโบราณ เช่น การนุ่งซิ่น การนุ่งจีบ การห่มผ้าแพร และมีการห่มผ้าสไบในลักษณะต่าง ๆ ชุดไทยพระราชนิยมส่วนใหญ่ยังคงเค้าโครงเดิมอยู่ สังเกตได้จากผ้าซิ่นป้าย ผ้าซิ่นจับจีบหน้านาง และการห่มผ้าสไบ แต่ได้มีการตัดเย็บ การตกแต่งให้เหมาะสมกับการแต่งกายสมัยปัจจุบัน ผ้าที่นำมาตัดเย็บชุดแบบต่าง ๆใช้ผ้าไทย คนไทยในสมัยโบราณมีชื่อเสียงมากในเรื่องการทอผ้าไหมและผ้าฝ้ายสำหรับทำเครื่องนุ่งห่มมาเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว การทอผ้าเป็นหัตถกรรมในครัวเรือน ส่วนใหญ่ทอผ้าใช้ในครอบครัว เมื่อทอผ้าได้เป็นจำนวนมากก็นำสินค้าไปจำหน่าย ผ้าที่คนไทยทอใช้เอง มีชื่อเรียกหลายสิบชนิด ผ้าที่รู้จักกันมานาน คือ ผ้าพื้น ผ้ามัดหมี่ ผ้าลายขิด ผ้าหางกระรอก และผ้ายก เป็นต้น
ประวัติของชุดไทยพระราชนิยม
เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ฯ เสด็จขึ้นครองราชย์และอภิเษกสมรสแล้ว ทรงรับคำกราบบังคมทูลเชิญให้เสด็จไปเยือนประเทศต่าง ๆ ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกา เพื่อเป็นการเจริญพระราชไมตรี และสร้างความสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ อันจะเป็นผลทำให้ทั่วโลกรู้จักประเทศไทยดีขึ้น
ในปลายปีพุทธศักราช 2502 ต่อต้นปีพุทธศักราช 2503 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเยี่ยมประเทศใกล้เคียงต่าง ๆ ในทวีปเอเชีย ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย และพม่า ซึ่งมีหมายกำหนดการจะต้องเสด็จพระราชดำเนินสักการะพุทธสถานต่าง ๆ เช่น พระสถูปบูโรพุทโธ และพระเจดีย์ชเวดากอง เป็นต้น ฉลองพระองค์ในระยะแรก ๆ นี้ ยังมิได้มีแบบเครื่องแต่งกายประจำชาติแน่นอน แต่พระราชอัธยาศัยและพระราชนิยมของพระองค์ เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไปว่าทรงมีพระราชนิยมเรื่องการใช้ผ้าไทยมาตั้งแต่ยังทรงเป็น ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร พระองค์ทรงใช้ผ้าไทย เช่น ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมโคราช และผ้าไหมเชียงใหม่ ทั้งชนิดผ้าพื้น และชนิดผ้าพิมพ์ เป็นต้น
ภาพที่ 1.1 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
ทรงนุ่งพระภูษาจีบ ฉลองพระองค์แบบไทย ในระยะที่ยังไม่มีชุดประจำชาติที่แน่นอน
ที่มา : อเนก นาวิกมูล. 2547 : 205
ภาพที่ 1.2 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
ในชุดประยุกต์แบบแรก ๆ มีลักษณะเป็นฉลองพระองค์ แขนสั้น ผ่าหน้า คอตั้ง พระภูษาป้ายมีเชิง
ที่มา : จักรกฤษณ์ ดวงพัตรา และวิไลวรรณ สมโสภณ. 2541 : 8
ภาพที่ 1.3 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
ขณะเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการเจดีย์ชเวดากอง ประเทศพม่า มีนาคม 2503
ที่มา : จักรกฤษ์ ดวงพัตรา และวิไลวรรณ สมโสภณ. 2541 : 3
ภาพที่ 1.4 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
ขณะเสด็จพระราชดำเนินไปสักการะพระสถูปบูโรพุทโธ ประเทศอินโดนีเซีย กุมภาพันธ์ 2503
ที่มา : จักรกฤษณ์ ดวงพัตรา และวิไลวรรณ สมโสภณ. 2541 : 3
ต่อมาในปีพุทธศักราช 2503 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเยี่ยมประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรป และอเมริกา เป็นเวลาหลายเดือนในหลายฤดูกาล แต่คนไทยยังไม่มีชุดประจำชาติซึ่งจะบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของชาติไทย อย่างเช่นประเทศอื่น ๆ ในแถบเอเชีย เช่น ชุดกิโมโนเป็นชุดของชาวญี่ปุ่น ชุดส่าหรีของชาวอินเดีย อันเป็นปฐมเหตุถึงความจำเป็น ที่จะต้องมีเครื่องแต่งกายประจำชาติของสุภาพสตรีไทย สำหรับใช้เป็นฉลองพระองค์เองและเป็นเครื่องแต่งกายของข้าราชบริพารฝ่ายใน
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงทรงสอบค้นข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะเครื่องแต่งกายโดยทรงศึกษาจากเครื่องแต่งกายก่อนสมัยสุโขทัย จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ และจากพระบรมฉายาลักษณ์และฉายาลักษณ์อดีตสมเด็จพระบรมวงศ์ฝ่ายในหลาย ๆ พระองค์ ย้อนไปตั้งแต่ครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นมา พร้อมกันนั้น ได้ทรงมีพระราชวินิจฉัยถึงความเหมาะควรต่าง ๆ ในอันที่จะทรงเลือกนำมาใช้เป็นแบบอย่างสำหรับฉลองพระองค์
นอกจากจะทรงศึกษาค้นคว้าด้วยพระองค์เองแล้ว ยังทรงมีพระราชเสาวนีย์โปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค (หม่อมหลวงมณีรัตน์ บุนนาค นางสนองพระโอษฐ์ในขณะนั้น) ประสานงานกับผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมประเพณีไทย ได้แก่ ศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน เพื่อศึกษาคนคว้าเครื่องแต่งกายสตรีไทยสมัยต่าง ๆ และนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายให้ทอดพระเนตรอีกครั้งหนึ่ง ในการนั้น มีอาจารย์สมศรี สุกุมลนันท์ (อาจารย์ประจำแผนกวิชาผ้าและเครื่องแต่งกาย วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพในขณะนั้น) เป็นผู้ออกแบบร่างตามข้อมูลที่ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค และศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน ได้ร่วมกันค้นคว้า
แบบชุดไทยที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงเลือกไว้นั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ คุณไพเราะ พงษ์เจริญ ตัดเย็บเป็นฉลองพระองค์ถวาย ต่อจากนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้คุณหญิงอุไร ลืออำรุง ช่างฉลองพระองค์ในขณะนั้นช่วยเลือกแบบ และนำมาผสมผสานกันจนเกิดชุดไทยแบบต่าง ๆ ขึ้นหลายชุด แต่ยังมิได้มีชื่อเรียกขานเฉพาะแต่อย่างใด
ภาพที่ 1.5 สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ 4
ทรงเครื่องกษัตริย์อย่างโบราณราชประเพณีพร้อมเครื่องราชกุธภัณฑ์ ทรงสไบ 2 ชั้น
ชั้นในสไบแพร ชั้นนอกเป็นสไบตาดทองยกดอก ห่มสไบเฉียง ทรงพระภูษาจีบผ้าตาดทองยกดอก
ที่มา : จารุพรรณ ทรัพย์ปรุง. 2543 : 80
ภาพที่ 1.6 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 5
ในฉลองพระองค์ชุดออกงานพระราชพิธี ทรงเครื่องเต็มยศ สายสะพายมหาจักรีบรมราชวงศ์
ที่มา : เอนก นาวิกมูล. 2547 : 122
ภาพที่ 1.7 พระนางเธอลักษมีลาวัณ ในรัชกาลที่ 6 ทรงนุ่งซิ่น
ที่มา : เอนก นาวิกมูล. 2547 : 143
ภาพที่ 1.8 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7
ฉลองพระองค์ชุดเมื่อราชาภิเษก
ที่มา : เอนก นาวิกมูล. 2547 : 161
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้ทรงเตรียมฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมทั้งแบบไทยและสากล ซึ่งเหมาะสมและงดงามตามสมัยนิยม ได้ทรงกำหนดชุดไทยพระราชนิยมในโอกาสต่าง ๆ ไว้หลายชุด ใช้ผ้าไหม ผ้าฝ้ายและผ้ายกทั้งสิ้น การเสด็จพระราชดำเนินไปเจริญพระราชไมตรีในครั้งนั้นได้เป็นเครื่องชูพระเกียรติให้ปรากฏในนานาอารยประเทศ ในการที่ทรงแต่งพระองค์ได้งามเลิศจนบรรดาผู้เชี่ยวชาญการออกแบบเครื่องแต่งกายสตรีทั้งหลาย ซึ่งมีชาติฝรั่งเศสและอิตาลี เป็นต้น ยกย่องพระเกียรติว่าทรงเป็นสตรีที่แต่งกายได้ยอดเยี่ยมที่สุดในรอบปี
ภาพที่ 1.9 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ
ทรงประทับให้ถ่ายพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมกับประธานาธิบดีไอเซนเฮาว์ และภริยา
ก่อนพิธีเลี้ยงพระกระยาหารค่ำที่ทางการสหรัฐอเมริกาจัดถวาย เป็นพระเกียรติแด่
ทั้งสองพระองค์ที่ทำเนียบขาว (ไวท์เฮ้าส์) เมื่อวันอังคารที่ 28 มิถุนายน 2503
ที่มา : อเนก นาวิกมูล. 2547 : 213
นิตยสารชั้นนำของประเทศเยอรมนี ชื่อ NEUE ILLUSTRIERTE ได้อัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ในฉลองพระองค์ชุดไทยประยุกต์ไปเป็นปก เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศในยุโรป
ภาพที่ 1.10 สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ
ฉลองพระองค์ชุดไทยเป็นปกนิตยสาร NEUE ILLUSTRIERTE ประเทศเยอรมนี
ที่มา : จักรกฤษณ์ ดวงพัตรา และวิไลวรรณ สมโสภณ. 2541 : 10
หลังจากเสด็จนิวัติพระนครครั้งนั้นแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็ยังทรงฉลองพระองค์ชุดไทยแบบต่าง ๆ นับตามโอกาส จนกระทั่งในปีพุทธศักราช 2507 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งทรงมีพระราชวินิจฉัยเลือกแบบชุดไทย 8 ชุด และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯโปรดกระหม่อมให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เป็นผู้คิดตั้งชื่อชุดให้เหมาะสมกับแบบชุดนั้น ๆ ได้นำชื่อพระตำหนักและพระที่นั่งต่าง ๆ มาใช้เป็นชื่อชุดไทยต่าง ๆ ทั้ง 8 ชุด โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของแบบ ตลอดจนโอกาสในการเลือกใช้ชุด สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นผู้นำในการแต่งกายชุดไทยพระราชนิยมในโอกาสต่าง ๆ เสมอ ประชาชนต่างตามเสด็จใช้ชุดไทยแบบต่าง ๆ กัน
แพร่หลายขึ้น และนิยมเรียกชุดไทยแบบต่าง ๆ ว่า “ชุดไทยพระราชนิยม”
เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2547 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทูลเกล้า ฯ ถวายปริญญาศิลปกรรมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาศิลปะการออกแบบพัตราภรณ์ แด่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาประจำปี 2546 ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยพระองค์ทรงปรีชาสามารถในสรรพวิทยาการหลายสาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรม ทรงเน้นคุณค่าและสร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรมและศิลปหัตถกรรมมานานกว่า 30 ปี โดยมีพระราชประสงค์เพื่อช่วยกระจายรายได้ไปสู่ราษฎรอย่างทั่วถึง ช่วยให้คนชนบทสามารถพึ่งตนเองได้ ทรงมีพระอัจฉริภาพและพระปรีชาชาญด้านอนุรักษ์ฟื้นฟู และส่งเสริมการทอผ้าประเภทต่าง ๆ ตลอดจนการออกแบบเครื่องแต่งกายชุดไทยให้เป็นไปตามประเพณีที่ดีงาม พระองค์ฉลองพระองค์ชุดไทยพระราชนิยมเป็นแบบอย่างและเผยแพร่ในประเทศและในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ จนผ้าไทยและชุดไทยพระราชนิยมเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย และได้รับการชื่นชมทั่วไป กล่าวได้ว่า พระองค์ทรงมีส่วนอย่างสำคัญในการช่วยธำรง และเชิดชูเอกลักษณ์ความเป็นไทย ให้ธำรงอยู่จวบจนปัจจุบัน
ชุดไทยเรือนต้น
เป็นชุดไทยพระราชนิยมแบบหนึ่ง สำหรับใช้ในโอกาสลำลอง ไม่เป็นพิธีการ เช่น งานกฐิน งานทำบุญต่างๆ ผ้าซิ่นมีริ้วตามยาว หรือขวางยาวจรดข้อเท้า ป้ายหน้า สีของเสื้อจะกลมกลืนหรือตัดกันกับ ผ้าซิ่นก็ได้ เป็นชุดคนละ ท่อน แขนสามส่วนผ่าอก กระดุมห้าเม็ดคอกลมตืนไม่มีขอบ เครื่อง ประดับ ที่ใช้นิยมติด เข็มกลัดขนาดใหญ่พอสมควร เหนืออกเสื้อด้านซ้าย ตุ้มหู ต้องเป็นแบบติดกับใบหู สร้อยคอประเภท ไข่มุกหรือ สร้อยทองสามสาย ไม่ต้องคาดเข็มขัด
ชุดไทยจิตรลดา
สำหรับใช้ในพิธีกลางวัน ใช้ผ้าไหมเกลี้ยง มีเชิง หรือ ยกดอกทั้งตัว ผ้าซิ่นยาวป้ายหน้า คนละท่อนกับตัวเสื้อ ซึ่ง แขนยาว ผ่าอก คอกลม มีขอบตั้งน้อยๆ สำหรับงานพระราชพิธีนิยมเครื่องประดับ ที่หรูหรา ขึ้น ไม่ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์และไม่ต้องคาดเข็มขัด ควรประดับด้วย สร้อยคอ ติดกระดุมทอง สร้อยข้อมือ และต่างหูให้สวยงาม
ชุดไทยอมรินทร์
สำหรับงานพิธีตอนค่ำ ไม่คาดเข็มขัด ใช้ผ้ายกไหม ที่มีทองแถบ หรือยกทอง ทั้งชุด ผู้สูงอายุใช้คอกลมกว้าง ไม่มีขอบตั้ง และแขนสามส่วนได้ เครื่องประดับ เป็นชุดสร้อยคอ ต่างหู สร้อยข้อมือ กระดุมทอง และสร้อยข้อมือ ซึ่งเลือกใช้ ให้เหมาะสม กับงานเฉพาะ วันเฉลิมพระชนมพรรษา หญิง ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์
ชุดไทยบรมพิมาน
ใช้ในพิธีตอนค่ำ ที่ใช้เข็มขัดใช้ยกผ้าไหม หรือ ยกทอง มีเชิงหรือยกทั้งตัวก็ได้ เป็นชุดติดกัน ซิ่นมีจีบยกข้างหน้า ยาวจรดข้อเท้า ที่ชายพก ใช้เข็มขัดไทยคาด เสื้อแขนยาว คอกลม มีขอบตั้ง ผ่าด้านหน้า หรือด้านหลังก็ได้ ชุดไทยแบบนี้ นี้ใช้ในงานเต็มยศ หรือครึ่งยศ งานเลี้ยงอย่างเป็น ทางการใช้ เครื่องประดับงดงาม เป็นชุดที่เจ้าสาวนิยมใช้ใส่ในการเข้ารับ พระราชทานน้ำสังข์ หรือพิธีรดน้ำสังข์ ชุดนี้ต้องคาดเข็มขัดทอง ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สวมสร้อยคอ ต่างหู สร้อยข้อมือและเกี้ยว ประดับผม
ชุดไทยดุสิต
เน้นการปักตกแต่งเสื้อ ผ้าซิ่นยกไทยหรือทอง คาดชายพก ด้วยเข็มขัดไทย ตัวเสื้อแบบคอกลมกว้าง ไม่มีแขน ผ่าหลังปัก แต่งลวดลาย ที่ตัวเสื้อใช้ในงานพระราชพิธี ที่กำหนด ให้แต่งเต็มยศ เป็นอีกชุดที่ เจ้าสาว นิยมใช้เป็นชุด ในงานเลี้ยง ฉลองสมรส ควรสวม สร้อยคอ สร้อยข้อมือ ต่างหู และเข็มขัด โดยใช้เครื่องประดับ ที่เป็นชุดกัน
ชุดไทยจักรี
เป็นชุดไทยแบบหนึ่งของชุดไทยพระราชนิยม ใช้ในพิธีเต็มยศงานราตรี ผ้านุ่งจีบยกข้างหน้ามีชายพก คาดเข็มขัดไทย และห่มสไบ ผ้ายกเป็นแบบมีเชิง หรือยกทั้งตัว ท่อนสไบ จะเย็บติดกับซิ่นหรือแยกต่างหากก็ได้ เปิดบ่าข้างหนึ่ง ชายสไบคลุมไหล่ ทิ้งชายยาวด้านหลังพอสมควร เหมาะกับพิธี เลี้ยงฉลองสมรส สามารถ สวมเครื่องประดับทองครบชุด อันได้แก่ สร้อยคอ สร้อยสังวาล สร้อยข้อมือ ต่างหู รัดแขน และเข็มขัด เป็นต้น
ชุดไทยศิวาลัย
ใช้ผ้ายกไหมหรือยกทอง ตัดแบบติดกันซิ่นยาวจีบ หน้านางมีชายพก ใช้เข็มขัดไทยคาด ตัวเสื้อแขนยาว คอกลม มีขอบตั้ง เล็กน้อย ผ่าหลัง ตัวเสื้อตัดติดกับซิ่นคล้ายแบบไทย บรมพิมาน แต่ห่มผ้า ปักลายไทยใช้ในโอกาสพิเศษ ที่กำหนดให้ แต่งกายเต็มยศ เจ้าสาวของ ไทยมักนิยมใส่ชุดไทยชุดนี้ ในพิธีรดน้ำสังข์หรือพิธีเลี้ยง ฉลองงานใน ตอนค่ำ และมักประดับด้วยเครื่องประดับทองได้แก่ สร้อยคอ สร้อยสังวาล เข็มขัด ต่างหู และรัดเกล้า
ชุดไทยจักรพรรดิ
ใช้ผ้ายกทั้งตัว มีเชิงยกไหมทองหรือดิ้นทอง ผ้าซิ่นจีบ หน้านางมีชายพกคาด เข็มขัดไทย แล้วห่มสไบ ปักด้วยดิ้นและพลอย ทับบนสไบอัดจีบใช้เครื่องประดับสวยงามที่สุด เจ้าสาวโดยทั่วไป นิยมสวมใส่ชุดไทยชุดนี้ในงานเลี้ยงช่วงค่ำ และมักประดับด้วยสร้อยคอ สร้อยสังวาล สร้อยข้อมือ เข็มขัด รัดเกล้า และต่างหู
ซ้ำขออภัยค่ะ