ตำนานรักเทพเฮดีสเทพแห่งโลกหลังความตาย กับ เทพธิดาเพอร์ซิโฟเนเทพธิดาแห่งฤดูใบไม้ผลิ
ตำนานเฮดีส และ เพอร์ซิโฟเน เป็นเรื่องราวความรักของเทพผู้ปกครองนรก และ เทพีแห่งฤดูใบไม้ผลิ...ใครจะคิดว่าเทพผู้ปกครองยมโลกจะไม่รู้จักความรัก ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นซักหน่อย ขนาดเทพแห่งความรักหรือเรารู้จักกันในนามกามเทพยังมีความรักกับไซคีซึ่งเป็นมนุษย์ธรรมดาได้เลย แต่ก่อนอื่นก็ต้องขอพูดถึงพระเอกของเรื่องก่อนละกันว่าเทพเฮดีสเป็นใคร มีที่มายังไง ก่อนที่จะพูดถึงความรักของทั้ง 2 ว่าเกิดขึ้นได้ยังไง
เฮดีส (หรือ เฮเดส หรือ อีกชื่อนึงคือ ฮาเดส ในเซนต์เซย่า) ชาวโรมันเรียกว่า พลูโต (Pluto) เทพเจ้าผู้ปกครองนรกและโลกหลังความตาย ในตำนานถือว่ามีศักดิ์เป็นพระเชษฐาของ ซูส ราชาแห่งเหล่าเทพ และยังถือได้ว่าเป็นเจ้าแห่งทรัพย์เพราะเทพเฮดีสมีสิทธิ์ในทรัพย์สินทุกอย่างภายใต้พื้นพิภพ จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ดีส (Dis) ซึ่งแปลตรงตัวว่า ทรัพย์สิน เฮดีส แท้ที่จริงแล้วเป็นเทพที่มีความยิ่งใหญ่อีกองค์หนึ่งเช่นเดียวกับซูส หรือ โพไซดอน เนื่องจากเป็นพี่น้องกัน แต่ทว่าความที่เฮดีสเป็นผู้ปกครองนรกซึ่งเป็นโลกใต้ดินซึ่งมีแต่ความมืดมิดและน่ากลัว จึงไม่ใคร่ขึ้นไปยังเขาโอลิมปัส อีกทั้งเทพองค์อื่น ๆ ก็ไม่ใคร่ที่จะต้อนรับเฮดีสด้วย ดังนั้น เฮดีสจึงไม่มีชื่อเป็นหนึ่งในเทพโอลิมปัสเฉกเช่นเทพองค์อื่น ๆ
เฮดีส ได้ชื่อว่าเป็นเทพที่มีความเที่ยงธรรมอย่างมาก ตัดสินความดีชอบของคนตายโดยปราศจากอคติใด ๆ ทั้งสิ้น กล่าวกันว่า พระองค์มีหมวกวิเศษอยู่ใบหนึ่งที่สามารถทำให้ผู้สวมหายตัวได้ ซึ่งในครั้งที่ทำสงครามกับเหล่าไททันส์นั้น เฮดีสใช้หมวกนี้ลอบเข้าไปทำลายอาวุธของไททันส์ก่อนการต่อสู้ และพระองค์มีเทพผู้ช่วยในการตัดสินความดีชั่วในยมโลกอีก 3 องค์คือ ราดาแมนทีส, ไมนอส, ไออาคอส (คุ้นๆชื่อเหมือนกับชื่อตัวละครในเซนต์เซย่าเลย) และยังมีฮิปนอส เทพแห่งการหลับไหล และ ทานาทอส เทพแห่งความตายคอยช่วยอีก ชาวกรีกโบราณจะถวายการสักการะแด่เฮดีสด้วยแกะดำ และเป็นพิธีกรรมที่เร้นลับสืบมาที่ได้ค่อนข้างยาก แต่ก็สืบทอดกันมาว่า หากจะบูชาเทพแห่งความตายหรือเทพอันใดที่เป็นสัญลักษณ์ของความน่ากลัวหรือชั่วร้าย ต้องบูชายัญด้วยแพะหรือแกะดำ
เพอร์ซิโฟเน (Persephone) เป็นธิดาของดิมีเทอร์เทวีแห่งธัญพืชและการเกษตรกับเทพซูส พระนางมีทั้งรูปโฉมที่สวยสะคราญและน้ำเสียงอันไพเราะที่สามารถปลุกชีวิตชีวาให้แก่ธรรมชาติ เหล่าสัตว์ป่ามักจะชอบเข้ามาคลอเคลียกับพระนาง ไม่ว่าเยื้องกรายไปทางไหน พืชพันธุ์ที่เคยเหี่ยวแห้งก็จะฟื้นกลับมาอุดมสมบูรณ์ เทพีดิมีเทอร์จึงรักพระธิดาองค์เดียวอย่างสุดสวาทขาดใจ ในยามเยาว์เพอร์ซิโฟเนมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะประพฤติตนเป็นเทพพรหมจารย์เช่นเดียวกับ เฮสเทีย ผู้เป็นป้า และอธีนากับอาร์เทอมีสผู้เป็นพี่สาว แต่ความตั้งใจนี้สร้างความไม่พอใจให้แก่เทพีอโฟรไดต์ ผู้เป็นเทวีแห่งความรักเป็นอย่างมาก เพราะการมีเทพที่ประพฤติตนเป็นพรหมจารีย์มากถึง 3 องค์นั้นมากเกินพออยู่แล้วสำหรับนาง ประกอบกับในขณะนั้นเฮดีสเทพแห่งโลกใต้พิภพเองก็ไร้คู่ เนื่องจากไม่มีเทวีองค์ใดต้องการที่จะลงไปใช้ชีวิตอยู่ใต้พิภพที่มืดมิดและเงียบเหงา อะโฟรไดต์จึงส่งอีรอส หรือ กามเทพ ไปหาโอกาสทำให้เทพเฮดีสและเทวีเพอร์ซิโฟเนหลงรักกันให้ได้
จนกระทั่งวันหนึ่งเทพ เฮดีสแห่งยมโลกได้ขึ้นมายังพื้นโลก อีรอสจึงยิงลูกศรกามเทพปักอกเทพแห่งยมโลกอย่างจัง และคนแรกที่เทพเฮดีสได้พบก็คือ เทวีคนงาม เพอร์ซิโฟเน นั่นเอง ทำให้เทพเฮดีสหลงรักเทพีผู้เป็นหลานสาวอย่างสุดหัวใจ ทันใดนั้นเองเทพเฮดีสก็ได้ตัดสินใจคว้าร่างเทพีเพอร์ซิโฟเน่ขึ้นมาบนรถม้า และตรงดิ่งลงไปยังใต้พิภพและแต่งตั้งนางให้เป็นราชินีแห่งโลกใต้พิภพ
ภาพเฮดีสขณะลักพาตัวเพอร์ซิโฟเน
เทพีดิมีเทอร์เศร้าโศกเสียใจอย่างหนักที่ธิดาสุดที่รักหายตัวไปจนกระทั่งพืชผลเหี่ยวแห้งทั่วโลก ชาวมนุษย์เดือดร้อนอดตายเป็นจำนวนมาก เทพซูสจึงเรียกตัวพี่ชาย เทพเฮดีส ขึ้นมา เพื่อขอเทพีเพอร์ซิโฟเนคืน แต่ทว่าในระหว่างที่อยู่ในยมโลก เทพีเพอร์ซิโฟเนได้เสวยอาหารทิพย์เม็ดเล็กๆ หรือในบางตำนานว่าเมล็ดของผลทับทิมของยมโลกไป 3 เมล็ด ซึ่งผู้ใดได้รับประทานอาหารชนิดนี้ไปแล้วจะต้องผูกพันอยู่กับโลกใต้พิภพและจะจากไปไม่ได้ เทพซูสจึงทำข้อสัญญาตกลงกันว่า จะให้เทพีเพอร์ซิโฟเนอยู่บนโลกตามใจชอบเป็นเวลา 9 เดือน จากนั้นก็ให้กลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่ยมโลกเป็นเวลาอีก 3 เดือน ซึ่งในระหว่างที่ธิดาไม่อยู่ เทพีดิมีเทอร์ก็จะเศร้าโศก พืชผลก็จะปลูกไม่ขึ้น แห้งแล้ง แต่เมื่อองค์ธิดากลับมาสู่อ้อมอก พืชผลก็จะกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของฤดูกาลนั่นเอง เทพีเพอร์ซิโฟเน ยังเป็นเทพีแห่งฤดูใบไม้ผลิด้วย ในตำนานมักระบุว่าเพอร์ซิโฟเนเป็นราชินีแห่งยมโลกผู้เย็นชาไม่ต่างจากพระสวามี มีเพียงคราวที่ออร์ฟิอุสเดินทางมายังยมโลกและเล่นดนตรีเล่าถึงความโศกเศร้าที่ต้องจากคนรักคือนางยูริดิซีเท่านั้น ที่ทั้งนางและเฮดีสถึงกับกรรแสง
ออร์ฟิอุสเดินทางมายังยมโลกและเล่นดนตรีให้เฮเดสและเพอร์ซิโฟเนฟัง
เพอร์ซิโฟเนเดินทางกลับมายังโลก
เฮดีส ยังเป็นชื่อที่หมายถึงยมโลกด้วย เป็นคำเรียกที่ย่อมาจาก The House of Hades เมื่อคนตายแล้ว วิญญาณก็จะเดินทางมายังยมโลก โดยเครอนจะเป็นผู้แจวเรือพาดวงวิญญาณข้ามแม่น้ำสติ๊กซ์ และมีสุนัขสามหัวเซอร์บิรัสเป็นผู้เฝ้าปากทาง เซอร์บิรัสจะยอมให้วิญญาณผ่านเข้าไป แต่ไม่ยอมให้ผ่านออกมา หากวิญญาณของผู้ใดที่ทำบาปหนา และถูกพิพากษาให้ต้องถูกทรมานชั่วกัปป์ชั่วกัลป์ วิญญาณก็จะถูกส่งไปยังอเวจีทาร์ทารัส (Tartarus) ซึ่งมืดมิดยิ่งกว่าราตรีที่มืดที่สุด เป็นที่ๆวิญญาณบาปจะถูกจองจำไปตลอดกาล และเป็นที่จองจำเทพไทแทน “ไทแทนเนส” ด้วย
แม่น้ำสติกซ์ Styx
ขณะที่เพอร์ซิโฟเนเป็นราชินีแห่งคนตายช่วยเฮเดสปกครองยมโลกนั้นเธอเปลี่ยนนิสัยไปเป็นราชินีผู้ไร้อารมณ์พอๆกับเฮเดส แต่เพอร์ซิโฟเนนั้นนานๆทีก็เอาอารมณ์ตัวเองมาปนกับงานบ้าง เช่น ในเรื่องของ แอดเมทุส ซึ่งได้รับพรจากอพอลโลให้เลื่อนอายุขัยไปได้ ถ้าหาคนที่ยอมตายแทนได้ ปรากฏว่าคนเดียวที่ยอมตายแทนแอดเมทุสก็คือภรรยา อัลเคทิส เมื่อเพอร์ซิโฟเนเห็นทานาทอส (เทพแห่งความตาย ซึ่งตำนานหลายๆสำนวนจะยกบทคนนำทางคนตายไปยมโลกของทานาทอสให้เฮอเมสแทน) พาอัลเคทิสมาแทนแอดเมทุสก็เลยถามไถ่จนได้ใจความ ซึ่งตรงนี้มีสองสำนวน อันแรกนั้น แอดเมทุสเศร้าที่ภรรยายอมตายแทนมาก เพอร์ซิโฟเนเลยเห็นใจทั้งสองคน โดยเฉพาะอัลเคทิสที่ยอมตายแทนสามีได้ เลยบอกให้ทานาทอสพาอัลเคทิสกลับไปโลกเบื้องบน เพราะยังไงเธอก็ไม่ใช่คนตายอยู่แล้ว แต่อีกสำนวนนั้น แอดเมทุสดีใจออกนอกหน้าที่ภรรยายอมตายแทน เพอร์ซิโฟเนเลยโมโหมาก สั่งให้ทานาทอสจัดการให้ทุกอย่างถูกต้องตามเดิม นั่นคือพาอัลเคทิสกลับไปแล้วเอาแอดเมทุสมาแทน แม้เฮเดสจะทันทานโดยบอกว่าอพอลโลไปตกลงกับ “มอยรี” (สามเทพธิดาแห่งชะตากรรม) ไว้แล้ว เธอก็ไม่ยอมฟัง เป็นอันว่าแอดเมทุสก็เลยตายไปอย่างขัดชะตากรรมไม่ได้ (จริงๆแล้วเรื่องของแอดเมทุสนี้มีอีกสำนวน คือเฮราเคลสที่ผ่านมาร่วมงานศพล่วงหน้าของอัลเคทิส พอรู้เรื่องก็สงสารทั้งคู่ เลยรอให้ทานาทอสโผล่มาแล้วอัดซะน่วม ทานาทอสนั้นยอมรับว่าเฮราเคลสเหนือกว่าตน นั่นคือเท่ากับเป็นผู้มีชัยชนะเหนือความตาย และยอมให้อัลเคทิสมีชีวิตอยู่ต่อไป) อีกครั้งนึงก็ตอนที่ออร์ฟิอุสเล่นดนตรีบรรยายความเศร้าที่ต้องแยกจากยูริดิซีผู้เป็นคนรัก ในครั้งนั้นแม้แต่เฮเดสก็ยังอดร้องไห้ไม่ได้
เฮเดสนั้นเป็นเจ้าของทรัพย์ในดินทั้งมวล จึงมักหาเอาเพชรนิลจินดามาเอาใจเพอร์ซิโฟเนเสมอเสมอ ส่วนเพอร์ซิโฟเนนั้นก็หวงเฮเดสพอดู เคยมีนางพรายชื่อ “มินเธ” หลงรักเฮเดส ซึ่งไปไหนมาไหนด้วยราชรถทองคำส่องประกายอลังการ เธอก็เลยพยายามยั่วยวนเฮเดส แต่ไม่ทันที่เฮเดส จะได้ทำอะไร เพอร์ซิโฟเนก็สาปมินเธให้กลายเป็นต้นมินต์ไป ฮาเดสคงจะสงสารมินเธก็เลยให้ “มินต์”เป็นต้นไม้ประจำตัวเองเสียเลย ซึ่งชาวกรีกโบราณก็เอาต้นมินต์มาประกอบ “พิธีศพ” อยู่ประจำ (บางสำนวนว่าคนที่สาปมินเธก็คือดีมิเทอร์ที่กลัวว่าลูกเขยจะนอกใจลูกสาวของนางเลยจัดการตัดไฟตั้งแต่ต้นลมซะเลย) นางไม้อีกนางที่เจอแบบเดียวกันก็คือ “เลอเค” ซึ่งกลายเป็น “ต้นพ็อปลาขาว” แต่บางสำนวนว่ากรณีของเลอเคนั้นเพอร์ซิโฟเนยอมรับให้เป็นอนุของฮาเดสได้ และเธอก็ป่วยตายตามอายุขัยก่อนที่เพอร์ซิโฟเนจะแปลงนางเป็นต้นไม้ และต้นพ็อปลาขาวนี้ก็เป็นตัวแทนของเพอร์ซิโฟเนด้วย
เท่าที่ปรากฏนั้น เพอร์ซิโฟเนไม่มีลูกกับเฮเดส แต่อโฟรไดท์(เทพีแห่งความรัก)เคยเอาเด็กทารกชื่อ “อโดนิส” มาฝากให้เลี้ยง ปรากฏว่าพออโดนิสโตเป็นหนุ่มแล้วเพอร์ซิโฟเนกลับไม่ยอมคืนให้อโฟรไดท์ ร้อนถึงซุสต้องมาตัดสินให้ โดยให้อโดนิสเลือกอยู่กับคนใดคนหนึ่งเสียหนึ่งในสามของแต่ละปี ส่วนที่เหลือก็อยู่กับอีกคน ซึ่งอโดนิสเลือกอยู่กับอโฟรไดท์มากกว่า
ถึงจะเป็นราชินีแห่งยมโลกแล้ว กิตติศัพท์เรื่องความงามของเพอร์ซิโฟเนก็ยังอยู่ ครั้งหนึ่งเมื่อ ไพริโธอัส ( Pirithous ) กษัตริย์ของพวก แลพิธ ( Lapith ) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของกรีซ กลายเป็นพ่อม่าย จึงให้สหายของตนคือ ธีซิอัส ( Theseus ) กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของเอเธนส์ ให้ช่วยหาเจ้าสาวคนใหม่และผู้ที่ไพริโธอัส สนใจคือ “เพอร์ซิโฟเน” ราชินีแห่งยมโลก
ธีซีอัส เคยให้สัญญาว่าจะช่วยเหลือเพื่อนในทุกเรื่อง จึงไม่อาจปฎิเสธคำขอร้องของไพริโธอัสได้ ทั้งสองลงสู่ยมโลกและทูลความตามประสงค์ในการมาให้เฮเดสทรงทราบ แต่เมื่อได้รับเชิญให้นั่งลงบนม้านั่งวิเศษของเฮเดส ทั้งสองก็ไม่สามารถลุกขึ้นได้ จนวันหนึ่ง เฮอร์คิวลิสได้ลงมาในยมโลกจึงช่วยธีซิอัสขึ้นมาได้สำเร็จ และพากลับสู่เมืองมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย แต่นับจากนั้นมาชาวเอเธนส์ซึ่งเป็นเชื้อสายของกษัตริย์ ธีซิอัสจึงมีต้นขาเรียวบาง เพราะส่วนหนึ่งของร่างกายยังคง ติดอยู่บนม้านั่งวิเศษในยมโลก
ส่วนไพริโธอัส เฮอร์คิวลิสไม่สามารถช่วยดึงให้ลุกขึ้นจากม้านั่งวิเศษได้ เนื่องจากเกิดแผ่นดินไหวเพราะเทพเจ้าทั้งหลายไม่ยอมให้เฮอร์คิวลิสช่วย ที่เป็นแบบนี้เพราะเทพเจ้าทั้งหลายไม่พอใจในความไม่เจียมตัวของไพริโธอัสนั่นเอง
ซ้ำขออภัยค่ะ