“วิธีทำใจ กรณีสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก แบบฉับพลัน“
การสูญเสียแบบฉับพลันทันใดของบุคคลอันเป็นที่รัก เป็นเรื่องไม่ง่ายที่จะทำใจ กลไกทั่วไป ในแง่ของจิตใจ มี 5 รูปแบบ อาจเกิดขึ้นแบบเรียงไป หรือสลับกันก็ได้
(1) ข้อแรกร่างกายพยายามปกป้องตัวเองว่าไม่เชื่อไว้ก่อน ไม่ยอมรับ ปฏิเสธไว้ก่อน
(2) อีกกลไก คือความโกรธ โกรธต่อคนที่เอาข่าวร้ายมาบอก หาว่ากุเรื่อง หรือโกรธคนที่เกี่ยวข้อง โทษว่าเพราะคนนั้นทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ ระยะหลังๆ จะโกรธคุณหมอ ว่าหมอดูแลไม่ดี กลายเป็นเหยื่อของความโกรธ
(3) ถัดจากความโกรธคือเรื่องของการต่อรอง 'มันไม่จริงใช่ไหม บอกผิดหรือเปล่า' ใกล้เคียงกับการไม่ยอมรับ แต่ขยับมานิดคือการต่อรอง
(4) ต่อมาคือการเสียใจ โศกเศร้า ร้องไห้ โทษตัวเอง
(5) สุดท้ายคือการยอมรับ ถือว่าเป็นขั้นสูงสุดของกลไกการสูญเสีย ยอมรับโดยดุษณีว่า การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เป็นเรื่องธรรมชาติของชีวิต ขึ้นอยู่กับว่าใครมีวุฒิภาวะ มีการเรียนรู้ด้านจิตใจหรือมีประสบการณ์ คนที่มีวุฒิภาวะสูงกว่า จะยอมรับได้ง่ายกว่า เข้าสู่ความนิ่ง เกิดผลลบต่อด้านอื่นในชีวิตน้อยกว่า
ในทางกลับกัน คนที่วุฒิภาวะต่ำมาก อาจไม่เคยเจอปัญหา หรือเคยเจอ แต่ใช้กลไกการปรับตัวไม่ถูกต้องมาตลอด การแสดงออกไม่มีวุฒิภาวะ จึงเต็มไปด้วยปัญหาเช่นเดิม ทั้งอาจนำไปสู่ความสุูญเสียด้านอื่น ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่การงาน ทะเลาะกับคนไปทั่ว แย่ไปหมดทุกเรื่อง อาจมีปัญหาด้านสุขภาพรุนแรงตามมา อันเนื่องมาจากความเครียด
เราต้องเร่งพัฒนาวุฒิภาวะของเราเอง เตรียมใจให้พร้อมกับทุกสิ่งที่จะเกิดขึ้น เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ ต้องใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท
รายการ "โลกกว้าง ทางไม่แคบ"
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์
ดำเนินรายการโดย : อำมร บรรจง และกนกวรรณ กนกวนาวงศ์
เรียบเรียง : นฤปาณ ภัทรสิทธิสกุล