พระคาถา ชินบัญชร
รากศัพท์ของคำว่า "คาถา" มาจากภาษาบาลีว่า "กถา" แปลว่า "วาจาเป็นเครื่องกล่าว" ดังนั้น...คำพูดของคนเราทุกคำก็คือคาถาทั้งสิ้น แต่คาถาในความเข้าใจของทุกคน ไม่ใช่ความหมายเช่นนั้น...
คาถาที่เรารู้จักคือถ้อยคำอันศักดิ์สิทธิ์ ที่สามารถแสดงผลอันวิเศษแก่ผู้ที่ยึดถือท่องบ่น ในบรรดาคาถาที่ท่านผู้รู้ผูกขึ้นมานั้น คาถาชินบัญชรของสมเด็จพุฒาจารย์โต หรือหลวงพ่อโต วัดระฆัง นับว่าแพร่หลายที่สุด... คาถาชินบัญชรนี้เพียบพร้อมไปด้วยอรรถ และฉันทลักษณ์ ทั้งยังคงความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ยิ่ง พระเครื่องสมเด็จวัดระฆังที่ลือลั่นสนั่นเมือง ก็ปลุกเสกด้วยคาถานี้เอง... แต่ว่า...คาถาชินบัญชรนี้ก็ยังมีแปลกแตกต่างไปหลายฉบับ บางฉบับก็เพิ่มมาหนึ่งบท บางฉบับก็หดหายไปสองบรรทัด คาถาบางตัวก็ผิดเพี้ยนกันไป แต่นั่นไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร...
ความศักดิ์สิทธิ์ของคาถานั้น ขึ้นอยู่กับสมาธิจิตของผู้ท่องบ่น ต่อให้คาถาผิดพลาดเพียงไรก็ตาม หากจิตเป็นสมาธิแนบแน่นมั่นคงเสียแล้ว ผลก็เป็นไปตามการอธิษฐานทุกประการ... หากท่านผู้อ่านตัดความตะขิดตะขวงใจในตัวคาถาเสีย ตั้งใจท่องบ่นอย่างจริงจัง ผลดีย่อมบังเกิดแก่ท่านอย่างไม่ต้องสงสัย และต้องอัศจรรย์ใจในคาถาอันวิจิตรไพเราะ ที่เป็นผลผลิตจากอัจฉริยภาพของเจ้าประคุณสมเด็จท่านเป็นแน่แท้... อาตมาได้คาถานี้จาก "หนังสือลานโพธิ์" อ่านแล้วชอบใจตรงที่ว่าหากใครท่องบ่นด้วยความเลื่อมใสอย่างแท้จริง พระสมเด็จวัดระฆังที่หายากเป็นนักหนา จะเสด็จมาอยู่กับผู้ท่องบ่นเอง....
ด้วยความอยากได้พระสมเด็จวัดระฆัง อาตมาจึงพยายามหัดท่องคาถา วันแรกก็ตะกุกตะกักไม่เป็นท่า เหนื่อยขึ้นมาเลยเอาคาถาหนุนหัวหลับไป เกิดฝันว่าท่องคาถาได้คล่องปรื๋อเลยล่ะ...! ตื่นขึ้นมาก็ท่องได้จริง ๆ ....! นับว่าอัศจรรย์มาก เพราะความฝันกลายเป็นความจริงไปได้ อาตมาก็เลยท่องคาถาทุกวัน ท่องไปก็อธิษฐานไป ขอให้สมเด็จวัดระฆังเสด็จมาทีเถอะ...เจ้าประคุ้ณ...! เวลาผ่านไป...ผ่านไป ไม่เห็นมีวี่แววว่าสมเด็จวัดระฆังจะมาซักที จนอาตมาท่องคาถาจนชิน วันไหนไม่ได้ท่องเหมือนขาดอะไรไป ความอยากได้พระหายไปจากใจ กลายเป็นหน้าที่ประจำ ที่จะต้องท่องอย่างน้อยวันละ ๑ จบ...
ปีแล้ว...ปีเล่า...อาตมายังคงท่องคาถาโดยไม่เบื่อไม่หน่าย จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว ในปีที่ ๑๑ ของการท่องคาถาติดต่อกันนั่นเอง สมเด็จวัดระฆังที่อยากได้เป็นนักหนาก็ได้มาสมใจนึก... ผู้มอบให้เป็นนักสะสมพระเครื่องตัวยง ทั้งบ้านมีแต่ของเก่าแทบไม่มีที่จะเก็บ เขาติดหนี้บุญคุณอาตมาไม่ทราบจะทดแทนอย่างไร เลยมอบพระเครื่องสุดรักสุดหวงของตนให้อาตมา ๑ องค์...
นี่แหละ...ท่านผู้อ่านทั้งหลาย ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น ของทุกอย่างเขาดีจริงอยู่แล้ว ขอเพียงเราทำให้จริงเท่านั้น ผลสำเร็จย่อมเกิดขึ้นกับเราอย่างแน่นอน...
พระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
ตั้งนะโม ๓ จบ
ปุตตะกาโมละเภปุตตัง ธะนะกาโม ละเภ ธะนัง
อัตถิกาเยกายะญายะ เทวานังปิยะตังสุตตะวา
อิติปิโสภะคะวา ยะมะ ราชาโน ท้าวเวสสุวัณโณ
มรณังสุขัง อะระหังสุคะโต นะโมพุทธายะ
๑. ชะยาสะนาคะตา พุทธา เชตะวา มารัง สะวาหะนัง
จะตุสัจจาสะภัง ระสัง เย ปิวิงสุ นะราสะภา.
๒. ตัณหังกะราทะโย พุทธา อัฏฐะวีสะติ นายะกา
สัพเพ ปะติฏฐิตา มัยหัง มัตถะเก เต มุนิสสะรา.
๓. สีเส ปะติฏฐิโต มัยหัง พุทโธ ธัมโม ทะวิโลจะเน
สังโฆ ปะติฏฐิโต มัยหัง อุเร สัพพะคุณากะโร.
๔. หะทะเย เม อะนุรุทโธ สารีปุตโต จะ ทักขิเณ
โกณฑัญโญ ปิฏฐิภาคัสมิง โมคคัลลาโน จะวามะเก.
๕. ทักขิเณสะวะเน มัยหัง อาสุง อานันทะราหุโล
กัสสะโป จะ มะหานาโม อุภาสุง วามะโสตะเก.
๖. เกสะโต ปิฏฐิภาคัสมิง สุริโย วะ ปะภังกะโร
นิสินโน สิริสัมปันโน โสภิโต มุนิปุงคะโว.
๗. กุมาระกัสสะโป เถโร มะเหสี จิตตะวาทะโก
โส มัยหัง วะทะเนนัจจัง ปะติฏฐาสิ คุณากะโร.
๘. ปุณโณ อังคุลิมาโล จะ อุปาลี นันทะสีวะลี
เถรา ปัญจะ อิเม ชาตา นะลาเฏ ตีละกา มะมะ.
๙. เสสาสีติ มะหาเถรา วิชิตา ชินะสาวะกา
เอตาสีติ มะหาเถรา ชิตะวันโต ชิโนระสา
ชะลันตา สีละเต เชนะ อังคะมังเคสุ สัณฐิตา.
๑๐. ระตะนัง ปุระโต อาสิ ทักขิเณ เมตตะสุตตะกัง
ธะชัคคัง ปัจฉะโต อาสิ วาเม อังคุลิมาละกัง.
๑๑. ขันทะโมระปะริตตัญจะ อาฏานาฏิยะสุตตะกัง
อากาเส ฉะทะนัง อาสิ เสสา ปาการะสัณฐิตา.
๑๒. ชินาณา วะระสังยุตตา สัตตะปาการะลังกะตา
วาตะปิตตาทิสัญชาตา พาหิรัชณัตตุปัททะวา.
๑๓. อะเสสา วินะยัง ยันตุ อะนันตะชินะเตชะสา
วะสะโต เม สะกิจเจนะ สะทา สัมพุทธะปัญชะเร.
๑๔. ชินะปัญชะระมัชณัมหิ วิหะรันตัง มะฮีตะเล
สะทา ปาเลน ตุ มัง สัพเพ เต มะหาปุริสาสะภา.
๑๕. อิจเจวะมันโต สุคุโต สุรักโข
ชินานุภาเวนะ ชิตูปัททะโว
ธัมมานุภาเวนะ ชิตาริสังโฆ
สังฆานุภาเวนะ ชิตันตะราโย
สัทธัมมานุภาวะปาลิโต จะรามิ ชินะปัญชะเรติ.