ใครอายเรื่องแม่...อ่านเรื่องนี้!! ‘ดร.กุลชาติ จุลเพ็ญ’ มีวันนี้..เพราะ‘ขยะของแม่’
จากเด็กเกเร ซึ่งเป็นผลจากครอบครัวแตกแยก ภายหลังกลับกลายเป็น “ดอกเตอร์” สำเร็จปริญญาเอกสาขาเทคโนโลยีการขึ้นรูปโลหะ จาก Nippon Institute of Technology ประเทศญี่ปุ่น ด้วยวัย 34 ปี “ดร.กุลชาติ จุลเพ็ญ” ปัจจุบันเขาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ชีวิตดอกเตอร์คนนี้พลิกผันน่าสนใจ แต่หัวใจแห่งการ “มีวันนี้ได้” ของเขาคนนี้...ที่สำคัญที่สุดคือ “เพราะแม่” ...
ดร.กุลชาติ จุลเพ็ญ เล่าย้อนชีวิตให้ฟังว่า ตอนเกิดมาก็มีพี่สาว 2 คน พี่ชาย 1 คน คือก่อนที่พ่อแม่จะมาเจอกัน ต่างฝ่ายต่างมีลูกมีครอบครัวกันมาก่อนแล้ว ส่วนพี่น้องพ่อแม่เดียวกันก็มีตนเองและน้องสาวหนึ่งคน แล้วภายหลังพ่อแม่ก็แยกทางกัน ต่างฝ่ายต่างก็ไปมีครอบครัวใหม่กันอีก เขาและน้องสาวอยู่กับแม่ และแม่ก็มีน้องชายอีกคน รวมพี่รวมน้องแล้วก็หลายคนจนชวนให้งง แต่ตอนหลังก็เหลือกันเพียงพี่น้องรวม 4 คน คือมีพี่ชาย ตัวเขา น้องสาว และน้องชาย
“อาชีพของแม่คือเก็บเศษขยะที่สามารถขายได้เอาไปขาย ผมกับแม่ก็เคยเดินคุ้ยเขี่ยหาเศษขยะที่มีค่าไปขายด้วยกัน ตั้งแต่ผมอายุประมาณ 7 ขวบ จนปัจจุบันนี้แม่ผมก็ยังทำอาชีพนี้อยู่เหมือนเดิม” ดร.กุลชาติเล่า
ก่อนจะย้อนอดีตให้ฟังอีกว่า เดิมทีแม่ไม่ได้ทำอาชีพเก็บขยะ เป็นแม่บ้านอยู่บ้านคอยเลี้ยงลูก ๆ ส่วนพ่อมีอาชีพขับรถทัวร์ปรับอากาศ สายกรุงเทพฯ-ชุมพร พ่อไปทำงานแต่ละครั้งใช้เวลา 2-3 วันถึงจะได้กลับบ้าน จำได้ว่าทุกครั้งที่พ่อกลับมาบ้านจะมีขนมที่เหลือแจกผู้โดยสารบนรถทัวร์มาฝากให้ลูก ๆ ได้กินเสมอ ช่วงเวลานั้นเป็นภาพความทรงจำที่ดีเสมอเวลาที่ตนเองคิดถึงพ่อ และส่วนตัวก็เห็นว่าตอนนั้นก็อยู่กันในครอบครัวอย่างมีความสุขดี
“หลังจากนั้น พ่อเริ่มออกไปทำงานนานขึ้น หายไปเป็นอาทิตย์หรือสองอาทิตย์ถึงกลับบ้าน และกลับมาอยู่บ้านได้วันเดียวก็ออกไปต่ออีก จนแม่ต้องออกตามหาพ่อว่าพ่อไปพักอยู่ที่ไหนบ้าง ตอนนั้นพี่ชายและพี่สาวผมเรียนชั้น ม.1-ม.2 กันอยู่ ช่วงที่แม่ขึ้นมาตามหาพ่อที่กรุงเทพฯ แม่ให้พี่ทั้งสองคนพาผมและน้องสาวไปโรงเรียนด้วย และนั่งในห้องเรียนของพี่ด้วย และด้วยความเป็นห่วงของครูประจำชั้น เขาจึงพาผมและน้องสาวไปฝากเรียนกับชั้นอนุบาลของโรงเรียนทุกวันที่พวกพี่ ๆ ผมไปโรงเรียน พอกลับบ้านพวกพี่ ๆ ก็จะคอยดูแลหาอาหารให้น้อง ๆ กิน”
ดร.กุลชาติ เล่าต่อไปว่า จนกระทั่งเขาอายุประมาณ 5 ขวบ เหตุการณ์เลวร้ายที่สุดก็เกิดขึ้นในชีวิต พ่อแม่ทะเลาะกันอย่างรุนแรงมาก ถึงขั้นทำลายข้าวของทุกอย่างในบ้านเสียหายหมด และเขากลับบ้านมาเห็นเหตุการณ์พอดี หลังจากนั้นแม่ก็ย้ายบ้านไปเช่าห้องเล็ก ๆ ที่กั้นฝาแบ่งออกมาจากโกดังเก็บของ บริเวณด้านหลังสถานี บขส.ชุมพร
“แม่บอกพี่ทั้งสองคนว่าให้ดูแลน้องด้วย เพราะแม่ต้องออกไปทำงานหาเงินมาให้ มาส่งลูกเรียน ผมรู้ว่าแม่ไปทำงานอยู่ร้านอาหารที่ทับสะแก เป็นร้านอาหารที่รถทัวร์ที่ขึ้นกรุงเทพฯต้องแวะจอดให้ลูกค้าลงไปรับประทาน แม่บอกว่าจะฝากเงินมาให้กับรถที่เข้ามาจอดที่ท่ารถ บขส.ทุกเดือน ให้พวกผมไปรอรับเอา”
หลังจากนั้น ชีวิตของเขาเริ่มเปลี่ยนแปลงไป พี่ ๆ และเขามีอิสระเป็นอย่างมาก ไม่มีคนมาดูแลหรือเคี่ยวเข็ญอะไร และก็ไม่รู้ว่าพี่ ๆ ไปเรียนหนังสือกันบ้างไหม แต่ที่แน่ ๆ คือเขาเองไม่อยากไปเรียนหนังสือแล้ว และเริ่มรู้จักเพื่อนใหม่ที่ส่วนใหญ่เป็นลูกของแม่ค้าที่ค้าขายอยู่ข้าง ๆ บขส. ก็รวมแก๊งกัน มี 3 คน ก็เริ่มโดดเรียน หนีเรียน
“ไปเที่ยวกัน ไปเล่นน้ำคลองกันบ้าง ไปอยู่ตามร้านเกม ในนั้นมีตู้ม้า ตู้เกมกด ตู้สล็อต ผมนั่งดูเขาเล่นเกมได้เป็นวัน ๆ ช่วงปีแรก ๆ ผมก็ได้รับเงินจากแม่ตลอด แต่พอเริ่มย่างเข้าปีที่สองผมไม่ค่อยได้เห็นเงินจากแม่ของผมแล้ว เพราะเหตุนี้จึงทำให้พี่สาวคนโตตัดสินใจหนีความลำบากไปอยู่กับแฟน และพี่ชายหนีไปอยู่กับเพื่อน ได้ข่าวว่าไปออกทะเลหาปลากับเพื่อน ๆ สุดท้ายเหลือผมและพี่สาวอีกหนึ่งคน ช่วงนั้นนับว่าลำบากมากที่สุดในชีวิตเลยก็ว่าได้ พี่สาวต้องเก็บผักบุ้งมาผัดกับน้ำเปล่า ขอข้าวจากคนข้างบ้านกินบ้าง เริ่มขอเงินคนอื่นบ้าง ไม่นานพี่สาวคนนี้ก็จากไปอีก...”
ดร.กุลชาติ ยังเล่าอีกว่า เรื่องการเรียนนั้น จำได้ว่าตอนนั้นไปเรียนบ้าง ไม่เรียนบ้าง ถ้าวันไหนเพื่อน ๆ ไปเรียนกันหมด ก็ไปเรียน ส่วนการบ้านไม่เคยทำเลย และไม่เคยคิดที่จะทำด้วย ส่วนใหญ่จะไปเรียนเฉพาะวันที่โรงเรียนมีแจกน้ำนมถั่วเหลือง แจกนมโรงเรียน หรือมีกิจกรรมเสริมอะไรเท่านั้น
“เมื่อไม่มีเงินจะซื้อข้าว ผมและเพื่อน ๆก็เริ่มหาเงินด้วยวิธีใหม่ คือใช้มือโกยตามร่องน้ำเพื่อคลำหาเศษเหรียญกัน มีคืนหนึ่ง เจอเงินกันเยอะมาก ได้กันคนละ 30-50 บาท ส่วนใหญ่จะเจอเหรียญบาทและเหรียญห้ากันเยอะ ทำให้มีเงินใช้ซื้อข้าวกินได้เป็นอาทิตย์ และก็มีบ้างที่ต้องขโมยเขากิน”
ใช้ชีวิตคล้ายเด็กเร่ร่อน ส่วนที่บ้านก็ถูกตัดไฟ-ตัดน้ำ แต่ก็ทนนอนจนหลับได้เป็นวัน ๆ และก็ใช้ชีวิตแบบนี้เรื่อย ๆ อยู่นานทีเดียว จนกระทั่งแม่กลับบ้าน...ชีวิตใหม่จึงเริ่มต้นขึ้น... โดย ดร.กุลชาติ เล่าว่า แม่เคี่ยวเข็ญให้เรียนหนังสือ ตั้งแต่ชั้น ป.3 จนกระทั่งปี 2538 จบ ปวช. สาขาช่างเชื่อมและโลหะแผ่น จากวิทยาลัยเทคนิคชุมพร
แม่เคี่ยวเข็ญให้เรียน โดยวิธีการทั้งทุบ ทั้งตี แม่ตีด้วยทุกอย่างที่อยู่ใกล้มือ จนเรียนจบ ปวช. แม่ก็อยากให้ออกมาทำงาน เพราะแม่เป็นมะเร็ง กลัวจะทำงานต่อไปไม่ไหว แล้วไม่มีใครดูแลน้อง แต่ก็คิดว่าหากเรียนน้อยก็คงจะมีรายได้น้อยตาม จึงขอแม่ให้ส่งเรียนต่อ ปวส. สาขาช่างโลหะ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคใต้ จ.สงขลา และได้เรียนปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ ที่ศูนย์กลางสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล คลองหก จ.ปทุมธานี ซึ่งสุดท้ายก็ได้เป็นอาจารย์ที่นี่ โดยช่วงที่เรียนก็พยายามบอกแม่ว่ายิ่งเรียนสูงรายได้ก็สูงตามนะ แต่ระหว่างเรียนก็หารายได้พิเศษไปด้วย
หลังจากได้เป็นอาจารย์ที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ภายหลังเขาคนนี้ก็ได้ทุนจากสถาบันนี้ไปเรียนต่อปริญญาโท สาขาเทคโนโลยีการขึ้นรูปโลหะที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และปริญญาเอก สาขาเทคโนโลยีการขึ้นรูปโลหะ ที่ Nippon Institute of Technology ประเทศญี่ปุ่น จนล่าสุดก็มาเปิดเผยถึงเรื่องราวชีวิตจากวันวาน…
ชีวิตที่ “มีวันนี้ได้ก็เพราะแม่”
ดร.กุลชาติ จุลเพ็ญ เล่าทิ้งท้ายว่า “ถึงแม้วันนี้ผมเรียนจบปริญญาเอกแล้ว แต่แม่ก็ยังเก็บขยะอยู่เหมือนเดิม ซึ่งจริง ๆ ผมส่งเงินให้แม่ใช้ทุกเดือนตั้งแต่ตอนเรียนปริญญาตรี โดยแบ่งจากเงินทุนที่ได้รับ เพื่อช่วยส่งเสียน้องและช่วยจ่ายค่าเช่าบ้าน แต่ก็ยังไม่พอ แม่ก็เลยต้องทำงานเก็บของเก่าเก็บขยะขายเหมือนเดิม...
แต่ผมก็ไม่เคยอายที่แม่ทำอาชีพนี้”
เครดิต...เดลีนิวส์