ดราม่าหลังสอบตก 2016 Toyota Hilux Revo ไม่ผ่าน Moose Test
ดราม่าสอบตก?! 2016 Toyota Hilux Revo (โตโยต้า ไฮลักซ์ รีโว่) ไม่ผ่านการทดสอบ Moose Test
หลังจากที่ Teknikensvarld สื่อมวลชนสายรถยนต์จากประเทศสวีเดน ได้เผยแพร่คลิปทดสอบรถกระบะยอดนิยมหลายรุ่นในเรื่องของ Moose Test หรือการทดสอบการหลบหลีกสิ่งกีดขวางในระยะประชิด โดย 1 ในรถที่ทำการทดสอบก็คือ Toyota Hilux Revo รุ่นล่าสุด ซึ่งผลที่ออกมาก็คือ ไม่ผ่านการทดสอบ และแน่นอนว่า ผลของการทดสอบครั้งนี้ส่งผลกระทบในเรื่องความเชื่อมั่นในรถรุ่นนี้ไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย
นั่นทำให้ ทาง Toyota สวีเดน ได้ออกมาตอบโต้นิตยสารดังกล่าว โดยชี้ประเด็นไปยังปัจจัยต่างๆที่ทำให้ผลที่ได้ออกมาเป็นอย่างที่เห็น ซึ่งถือว่า ซ้ำรอยเดิมที่ Hilux ไม่ผ่านการทดสอบนี้เมื่อ 9 ปีที่แล้ว ชึ่งนอกจาก Toyota สวีเดนแล้ว ยังมีสื่อมวลชนสายรถยนต์บางรายได้ออกมาชี้แจงให้กับ Toyota ด้วยเช่นกัน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่เกินความคาดหมาย
เรื่องที่น่าสนใจจึงไม่ใช่แค่เรื่องของการทดสอบรถยนต์เท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานของสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศว่า การทดสอบรถยนต์แต่ละครั้งเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร? แล้วสื่ออย่าง Teknikensvarld เขื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน?
Teknikensvarld เป็นนิตยสารรถยนต์ชื่อดังของสวีเดนที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1948 หรือเกือบ 70 ปีมาแล้ว เรียกว่าก่อตั้งมาก่อนที่จะมีการนิยามการทดสอบรถยนต์แบบ Moose Test ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศสวีเดนเมื่อช่วงทศวรรษ 1970 ด้วยซ้ำ ซึ่งตอนนั้น เป็นการทดสอบที่จำลองการขับหลบหลีกกวางมูสที่โผล่ออกมาขวางเส้นทางรถยนต์โดยกระทันหัน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ Moose Test และมีการทดสอบในลักษณะนี้มาอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งที่ผ่านมา Toyota ไม่ใช่แค่รถยนต์ยี่ห้อเดียวที่ไม่ผ่านการทดสอบ การทดสอบรถยนต์ที่ทำให้ Teknikensvarld โด่งดังทั่วโลกเกิดขึ้นในปี 1997 เมื่อ Robert Collin นักข่าวของนิตยสารดังกล่าว ได้ทำการทดสอบ Moose Test กับ Mercedes-Benz A-Class โฉมใหม่ในขณะนั้น จนพลิกคว่ำ ในขณะที่รถรุ่นเก่ากว่ามากอย่าง Trabant แบรนด์รถยนต์จากเยอรมันตะวันออกซึ่งปัจจุบันได้เลิกผลิตไปแล้ว สามารถผ่านการทดสอบได้อย่างน่าประทับใจ
สำหรับการทดสอบ Toyota Hilux Revo ในครั้งนี้ ต่างฝ่ายต่างยกเหตุผลต่างๆขึ้นมาอธิบายว่า ทำไมการทดสอบจึงออกมาเป็นอย่างที่เห็น ซึ่งมีการพูดถึงเรื่องของสภาพรถยนต์ที่ใช้ทดสอบ ไม่ว่าจะเป็นช่วงล่าง สภาพยางและลมยาง จำนวนการทดสอบ สภาพถนนที่ใช้ทดสอบ โหลดหรือน้ำหนัก
ของรถ ความเร็ว และที่สำคัญที่สุดก็คือ ผู้ทำการทดสอบที่เป็นผู้ควบคุมรถ ซึ่งแน่นอนว่า ทางฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยพุ่งประเด็นไปที่ผู้ทดสอบไม่มีความเป็นกลางและจากคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ออกมา การทดสอบในครั้งนี้เป็นการทดสอบระยะทางสั้นๆ และขับด้วยความเร็วไม่สูงมาก ซึ่งแน่นอนว่า หลายปัจจัยที่ถูกหยิบยกขึ้นมา แทบจะไม่มีผลในการพิจารณา เพราะจะถูกกำหนดให้เหมือนๆกัน จากที่เห็นด้วยตาผ่านคลิปดังกล่าว เช่น สภาพถนนที่ใช้ทดสอบ ระยะทาง ความกว้างของถนน การจัดวางสิ่งกีดขวาง
ทำให้พอสรุปได้ว่า ปัจจัยแปรผันส่วนใหญ่ถูกใช้กับรถที่ถูกทดสอบเหมือนๆกัน และการที่ระยะทางสั้นและความเร็วที่ไม่สูงมาก ก็ทำให้เกิดความผิดพลาดในการทดสอบน้อยลงเช่นกัน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การขับขี่ของผู้ทดสอบมีผลน้อยต่อการทดสอบ ซึ่งต่างจากการทดสอบในระยะทางไกลและความเร็วสูง ที่การเลี้ยวพวงมาลัยที่ต่างกันเพียงเล็กน้อย อาจจะทำให้ผลการขับขี่ที่ได้ มีผลลัพธ์ที่ออกมาแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด พูดตรงไปตรงมาก็คือ การทดสอบที่ตั้งใจให้ไม่ผ่านการทดสอบ น่าจะเป็นไปได้น้อยนั่นเอง
อย่างไรก็ตามการทดสอบรถยนต์โดยสื่อมวลชน ยังเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันอีกต่อไปว่า น่าเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน เพราะในการทดสอบแต่ละครั้งจะมีข้อมูลที่วัดได้ จับต้องได้ หรือมองเห็น กับข้อมูลที่เกิดจากผู้ทดสอบรถยนต์ที่เป็นลักษณะ subjective หรือขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ความชำนาญ
ทักษะต่างๆ รวมถึงปัจจัยที่สำคัญที่สุดก็คือ ทัศนคติต่อแบรนด์รถยนต์ที่นำมาทดสอบ ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ร่วมกัน หรือแม้แต่ความขัดแย้งที่มีต่อกัน