หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

งานช่างสิบหมู่

โพสท์โดย phakri

 

งานช่างสิบหมู่ กล่าวได้ว่า เป็นงานช่างประเภทประณีตศิลป และ งานประเภทวิจิตรศิลปเป็นสำคัญ ทั้งนี้พึง ทราบได้ในชั้นต้น โดยชื่อที่ขนานนามหมู่ช่างพวกนี้ว่า “สิปป” คือ “ศิลป” บรรดาช่างสิบหมู่ จัดว่าเป็นผู้ที่มีฝีมือ ความสามารถ และ ชำนาญการในการสร้างสรรค์ “สิ่งดีของงาม” ที่เป็นศิลปกรรม เพื่อสนองความประสงค์ ของราชการในส่วนพระมหากษัตริย์ ในส่วนที่เนื่องด้วยการทำนุบำรุงพระศาสนา และ บริการแก่สังคม หรือ ผลงานที่ได้ สร้างให้เป็นผลสำเร็จ ด้วยฝีไม้ลายมือ และ ความสามารถทั้งในเชิงประณีตศิลปะ และ วิจิตรศิลปโดยแท้

ช่างสิบหมู่ หรือ บรรดาช่างทำการศิลปกรรมประเภทต่างๆ ซึ่งจะมีคำอธิบาย งานของช่างแต่ละหมู่ต่อไป ข้างหน้านี้ จัดว่าเป็นกลุ่มบุคคล ที่มีความสำคัญในการสร้างสรรค์แบบแผนของรูปลักษณะ ศิลปะลักษณะ ขนบนิยม และ ประเพณีนิยมขึ้นในงานศิลปกรรมแต่ละประเภท บริการแก่สังคม สมัยนิยม และ ค่านิยมในหมู่คนทั่วไป ในสังคม มักได้รับการชี้นำ หรือ กำหนดขึ้นจากแบบแผนทางรูปลักษณะ ของงานศิลปกรรมที่บรรดาช่างต่างๆ สร้างสรรค์ แสดงออก และ นำเสนอต่อสังคมแต่ละสมัย ช่างสิบหมู่แต่ละพวกๆ อาจดำเนินการสร้างสรรค์งานศิลปกรรมด้วยวัสดุ ที่ต่างกัน ระเบียบวิธีสร้างงานที่ต่างกันก็ดี และ เนื้อหาสาระที่นำเสนอต่างๆ กันก็ดี แต่มีประเด็นหนึ่งที่ควรพิจารณา คือ สาระสำคัญทางด้าน “รูปลักษณะ” ที่บรรดาช่างใช้เป็น “สื่อ” แสดงออกความนึกคิด นึกเห็นให้ปรากฏเป็น “รูปธรรม” จะได้รับการแสดงออกด้วย “รูปลักษณะ” เป็นไปตาม “ขนบ และ ประเพณีนิยม” ตามๆ กันไปทั้งสิ้น

“รูปลักษณะ” ของงานช่างสิบหมู่นี้ ยังมีประเด็นที่สำคัญ ซึ่งควรอธิบายต่อไปอีกประเด็นหนึ่ง คือ คติความเชื่อ หรือ ประเพณีนิยมเนื่องด้วยรูปแบบ และ ลักษณะของรูปแบบ ซึ่งแสดงออกในงานช่างสิบหมู่ ประเภทต่างๆ ซึ่งพึงสังเกต เห็นได้จากรูปลักษณะของรูปแบบ ภาพมนุษย์ ภาพสัตว์ ภาพไม้ใบ และไม้ดอก ภาพภูเขา และพื้นน้ำ ภาพปราสาท และบ้านเรือน เป็นต้น ล้วนแต่เป็นรูปลักษณะ ที่ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นตามคติความเชื่อหรือ ประเพณีนิยมเป็นข้อกำหนด โดยถือการสร้างรูปลักษณะขึ้นใหม่ (re form) จากรูปลักษณะเป็นปรกติตามธรรมชาติ (natural form) เป็นต้นแบบแห่งความดลใจ (source of inspiration) ให้เกิดการสร้างสรรค์ (created) อันประกอบไปด้วยรูปลักษณะเหนือความเป็นจริงตามธรรมชาติ และ ความงามตามอุดมคติ (ideal) หรือ ประเพณีนิยม (traditional) แห่งสังคมไทย ดังนี้ รูปลักษณะของสรรพสิ่งทั้งหลาย ที่ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ เช่น รูปลักษณะประเภทลวดลาย ภาพมนุษย์ ภาพสัตว์ ภาพต้นไม้ และเขามอ ภาพบ้านเมือง เป็นต้น แล้วถ่ายทอดลงไว้ ในงานศิลปกรรมต่างๆ เป็นต้น งานเขียนภาพ งานปั้น งานแกะ งานสลัก ฯลฯ จึงเป็นแต่รูปลักษณะที่เป็น “รูปแบบประดิษฐ์” (invented form) และ เป็นรูปลักษณะที่เป็นไปตามคติความเชื่อ หรือ ประเพณีนิยมตามระบบ “อุดมคตินิยม” (idealism) โดยแท้

อนึ่ง งานศิลปกรรม ที่ได้รับการสร้างขึ้นบริการแก่สังคมไทย ที่มีมาแต่อดีตสมัย และ ในภายหลังเป็นลำดับ มานั้นก็ล้วนแต่ได้ใช้รูปลักษณะ ที่เป็นรูปแบบประดิษฐ์ ตามระบบอุดมคตินิยมตามกล่าวนี้ ดังนี้ ศิลปกรรม ที่ได้รับการ สร้างขึ้นโดยเฉพาะ บรรดาช่างสิบหมู่ก็ดี ช่างหลวง ช่างเชลยศักดิ์ พระภิกษุช่างก็ดี จึงได้รับการขนานนามเรียกชื่อว่า “ศิลปกรรมแบบไทยประเพณี” (Thai Traditional Art)

งานของช่างสิบหมู่ หรือ งานช่างในกรมช่างสิบหมู่เดิม ลำดับตามความสำคัญของหมู่ช่าง ในทำเนียบที่เป็นมาแต่อดีต มีช่างต่างๆ จัดลำดับขึ้นไว้ดังนี้

ช่างสิบหมู่แต่ละหมู่ ย่อมมีแบบฉบับในการใช้วัสดุ เครื่องมือ อุปกรณ์ ระเบียบวิธีทำงาน และ กลวิธีในการสร้าง สรรค์งานศิลปกรรมแต่ละประเภทๆ แตกต่างกันออกไป และ เป็นไปเฉพาะหมู่หนึ่งๆ ซึ่งสาระของงานช่างสิบหมู่ที่ว่านี้ จะได้พรรณนาให้ทราบตามลำดับความสำคัญก่อน และหลัง ภายใต้หัวข้อว่าด้วยช่างต่างๆ ๆ ต่อไปนี้

 

๑.ช่างเขียน

ช่างเขียน (จากหนังสือ “ช่างสิบหมู่” โดย การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย) 

งานเขียนระบายสีน้ำกาว 

งานเขียนน้ำยาปิดทองรดน้ำ 

กระบวนการ หรือ ขั้นตอนงานเขียนน้ำยาปิดทองรดน้ำ 

การร่าง และ ทำแบบโรยเพื่อถ่ายแบบในงานเขียนน้ำยาปิดทองรดน้ำ 

งานขั้นสุดท้ายที่สุด สำหรับการเขียนน้ำยาปิดทองรดน้ำ คือ “การรดน้ำ” 

งานเขียนระบายสีกำมะลอ 

การปฏิบัติงานเขียนระบายสีกำมะลอ 

๑.ช่างเขียน (จากหนังสือ “ช่างสิบหมู่” โดย การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย)

ช่างเขียน คือ บุคคลที่มีฝีมือ และ ความสามารถกระทำการช่าง ในทางวาดเขียน และ ระบายสี ให้เกิดเป็นลวดลาย หรือ รูปภาพต่างๆ ได้อย่างงดงาม เป็นที่พิศวง และ เป็นสิ่งน่าพึงตาพอใจแก่ผู้ได้พบเห็น

สมุดข่อยวัดหัวกระบือ กรุงเทพมหานคร

รูปภาพ สมุดข่อยที่วัดหัวกระบือ กรุงเทพมหานคร 

ช่างเขียนแต่โบราณ หรือ แต่ละพื้นถิ่นสยามประเทศ ได้มีคำเรียกต่างกันออกไป อาทิ ช่างแต้ม ช่างเขียนสี น้ำกาว ช่างเขียนลายรดน้ำ เป็นต้น

ในบรรดาช่างประเภทต่างๆ ในหมวดช่างสิบหมู่ด้วยกัน ช่างเขียน จัดว่าเป็นช่างที่มีความสำคัญยิ่งกว่าช่าง หมู่ใดๆ ทั้งนี้ เนื่องจากการวาดเขียน และ การเขียนระบายสี เป็นที่ยอมรับนับถือว่า เป็นสื่อที่มีศักยภาพยิ่ง สำหรับ ถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์ออกมา ให้ปรากฏในลักษณะรูปธรรมที่ชัดเจน สามารถใช้เป็นต้นแบบ นำไปสร้างสิ่งต่างๆ ได้ต้องตามความประสงค์ หรือ เป็นต้นแบบที่มีความสำเร็จ และ มีคุณค่าเฉพาะในตัวชิ้นงานนั้นโดยตรง ดังมีหลักฐาน เป็นที่ปรากฏ โดยสำนวนภาษาในหมู่ช่างไทยแต่ก่อนพูดติดปากต่อๆ กันมาว่า

“ช่างกลึงพึ่งช่างชัก ช่างสลักแบบอย่างพึ่งช่างเขียน ช่างติ และช่างเตียน ดันตะบึงไม่พึ่งใคร”

อนึ่ง ช่างเขียน หรือ สาระสำคัญของวิชาช่างเขียน ยังได้รับความนับถือว่า เป็นหลักใหญ่ที่มีความสำคัญ กว่าวิชาการช่างศิลปะแบบไทยประเพณีทั้งหลาย ดังจะเห็นได้ว่า ในโอกาสที่ประกอบการพิธีไหว้ครูช่างประจำปี และ มีการรับผู้เข้ามามอบตัว เป็นศิษย์ใหม่ในสำนักช่างนั้นๆ บุคคลผู้เป็นครูช่าง หัวหน้าสำนักช่าง หรือ เจ้าพิธีไหว้ครูจะทำ การ “ครอบ” หรือ “ประสิทธิประสาธน์” ให้ผู้ที่เข้าเป็นศิษย์ใหม่ ให้เป็นผู้ได้รับวิชา และ การฝึกหัดเป็นช่างต่อไป ได้ทำการ “ครอบ” แก่ศิษย์ใหม่ เป็นปฐมก็คือวิชาช่างเขียน โดยผู้ครอบ จับมือศิษย์ใหม่ให้เขียนลายหรือ รูปภาพตามรอยเส้นลายมือของครูเป็นประเดิม

งานของช่างเขียน ซึ่งเป็นงานที่มีความสำคัญยิ่ง ในงานช่างสิบหมู่นั้น มีงานด้านการเขียนวาด เขียนระบายสี และ เขียนน้ำยาชนิดต่างๆ อยู่หลายอย่างหลายชนิด ที่นำมาลำดับสาระ และ อธิบายให้ทราบได้ ดังต่อไปนี้

งานเขียนระบายสีน้ำกาว

งานเขียนระบายสีน้ำกาว คือ งานเขียนระบายรูปภาพต่างๆ ด้วยสีฝุ่นสีต่างๆ ผสมกับน้ำกาว หรือ ยางไม้บาง ชนิด เพื่อให้สีจับติดพื้นที่ใช้รองรับสีนั้น อยู่ทนได้นาน ช่างเขียนรูปภาพแบบไทยประเพณี แต่กาลก่อนจึงเรียกว่า งานเขียนระบายสีน้ำกาว และ เรียกรูปภาพ หรือ ลวดลาย ซึ่งเขียนด้วยวิธีการเช่นนี้ว่า ภาพหรือลายสีน้ำกาว

อนึ่ง งานเขียนรูปภาพตามวิธีที่อ้างมานี้ ในชั้นหลังได้มีผู้เรียกว่า ภาพเขียนสีฝุ่น ก็มี ทั้งนี้เนื่องมาแต่ “สี” ต่างๆ ที่ช่างเขียนภาพแบบไทยประเพณี ใช้เขียนระบายรูปภาพนั้น ลักษณะเป็นผง หรือเป็นฝุ่น ก่อนที่จะนำมาผสมกับน้ำกาว หรือยางไม้บางชนิด ให้มีคุณสมบัติพร้อมใช้ เขียนระบายรูปภาพสีต่างๆ เหล่านี้ได้จากวัสดุที่เป็นสีต่างชนิดต่าง ประเภท คือ

  • สีประเภทที่ได้จากดิน ได้แก่ สีดินขาว สีดินเหลือง สีดินแดง
  • สีประเภทที่ได้จากพืช ได้แก่ สีเหลืองจากยางของต้นรง สีครามได้จากต้นคราม สีแดงชาดได้จากต้นชาด หรคุณ สีแดงจากเมล็ดในลูกคำเงาะ
  • สีประเภทที่ได้จากสัตว์ ได้แก่ สีดำจากถ่านงาช้าง
  • สีประเภทที่ได้จากสารประกอบ ได้แก่ สีขาวฝุ่นได้จากสารประกอบสังกะสี สีเขียวได้จากสารประกอบทองแดง สีแดงแสด ได้จากสารประกอบตะกั่ว

 

งานเขียนระบายสีน้ำกาว (ต่อจากหน้าที่ผ่านมา)

สีแต่ละประเภท ตามกล่าวนี้ ได้รับการเตรียม ด้วยการป่นให้เป็นฝุ่น มีคุณลักษณะเป็นสี แต่ไม่มีคุณสมบัติใน การจับติดพื้นที่จะใช้รองรับการเขียนระบาย ดังนี้ สีแต่ละสีจึงต้องการสิ่งช่วยประสานสี ให้จับติดพื้นที่ต้องการเขียนระบายนั้น สิ่งที่ว่านี้คือ กาว และ ยางไม้อย่างใดอย่างหนึ่ง ช่างเขียนรูปภาพแบบไทยประเพณีแต่สมัยโบราณนิยม ใช้ยางไม้ที่เก็บจากต้นมะขวิด นำมาละลายในน้ำร้อน ให้เป็นน้ำยางเหลว และ ใสใช้ผสมสีฝุ่นสำหรับเขียนระบายรูปภาพ และลวดลาย สมัยหลังช่างเขียน เปลี่ยนไปนิยมใช้กาวชนิดหนึ่ง เรียกว่า “กาวกระถิน” แทน เนื่องจากสามารถหาซื้อได้ง่ายกว่า กาวหรือยางไม้ ซึ่งช่างเขียนได้ใช้ผสมกับสีฝุ่น เพื่อใช้ระบายรูปภาพ หรือลวดลาย บางทีเรียกว่า “น้ำยา”

งานเขียนรูปภาพแบบไทยประเพณี มีคตินิยมที่สำคัญประการหนึ่ง คือ นิยมใช้ทองคำเปลว ปิดประกอบร่วมกับการเขียน เพื่อแสดงให้เห็นความสำคัญ หรือ แสดงคุณค่าขององค์ประกอบของรูปภาพ หรือ ลวดลายตามความประสงค์ของช่างเขียน ซึ่งช่างเขียนได้ใช้ยางไม้ชนิดหนึ่ง คือ ยางสด ที่กรีด และ เก็บมาจากต้นมะเดื่อชุมพร ลักษณะเป็น น้ำยางสีขาว เหนียวพอสมควร ใช้ทาลงบนพื้น บริเวณที่ต้องการจะปิดทองคำเปลวแต่เพียงบางๆ ผึ่งทิ้งไว้ให้ยางหมาดพอสมควร จึงปิดทองคำเปลว ติดเข้ากับบริเวณที่ทายางไว้ ทองคำเปลวจะติดแนบกับพื้นถาวร

รูปภาพ จิตกรรมฝาผนัง วัดท่าสุทธาวาส จังหวัดอ่างทอง

รูปภาพ จิตกรรมฝาผนัง วัดท่าสุทธาวาส จังหวัดอ่างทอง 

ในการปฏิบัติงานเขียนระบายรูปภาพ ช่างเขียนแต่กาลก่อน ต้องเตรียมการจัดหาวัสดุ เตรียมทำเครื่องมือ สำหรับเขียนระบายรูปภาพ ด้วยตนเองทั้งสิ้น ทั้งนี้เนื่องด้วยไม่มีที่จะหาซื้อสี น้ำยา เครื่องมือ ฯลฯ ได้ง่ายดังเช่นในปัจจุบัน ช่างเขียนแต่ก่อน ต้องเรียนรู้ และ ฝึกหัดทำพู่กันด้วยขนหูวัว ทำแปรงสำหรับระบายสีขึ้น จากเปลือกต้นกระดังงา และรากของต้นลำเจียก เป็นต้น และ ยังได้ใช้กะลามะพร้าวซีกที่เรียกว่า “กะลาตัวเมีย” คือกะลาซีก ที่ไม่มีรู นำมาใส่สี แต่ละสี และ ผสมน้ำยาไว้พร้อมที่จะเขียนระบายรูปภาพ

งานเขียนระบายรูปภาพ ด้วยสีน้ำกาว หรือสีฝุ่น อาจทำลงบนพื้นได้หลายชนิดด้วยกัน คือพื้นฝาผนังถือปูน บนโครงสร้างก่อด้วยอิฐ พื้นผนังที่เป็นไม้ พื้นชนิดผ้า และพื้นชนิดกระดาษ

งานของช่างเขียน ในขั้นปฏิบัติการเขียนระบายสี ทำเป็นรูปภาพแบบไทยประเพณี ที่ได้ถือเป็นแบบแผนกันอยู่ในหมู่ช่างเขียน มาแต่กาลก่อน อาจลำดับการปฏิบัติการเขียนระบายสี เป็นขั้นตอนต่อไปนี้

งานปฏิบัติการเขียนร่างภาพ จัดเป็นการปฏิบัติงานขั้นพื้นฐาน ของการเขียนระบายสี ให้เป็นรูปภาพ ช่างเขียนแต่ก่อน ร่างภาพขึ้นด้วยการใช้ “ถ่านไม้” ซึ่งทำด้วยต้นพริกเผา ให้เป็นถ่านแท่งขนาดเสมอด้วยแท่งดินสอดำ ในปัจจุบันมักใช้ร่างภาพบนฝาผนัง บนพื้นไม้ และ บนพื้นผ้า ส่วนการร่างภาพบนกระดาษ จะใช้ดินสอโบราณชนิดหนึ่ง เรียกว่า “ดินสอแก้ว” ทำด้วยตะกั่วตีเป็นแท่งกลม ปลายทั้งสองทำให้เรียวแหลม ใช้ร่างเส้นลงบนกระดาษ จะปรากฏเป็นเส้นสีเทาอ่อน การร่างรูปภาพ หรือ ลวดลายสำหรับเป็นเค้าโครง เพื่อจะได้เขียนระบายสีทับลง เป็นรูปภาพ หรือ ลวดลายให้ชัดเจน และ สวยงามนั้น มักร่างด้วยเส้นขึ้นเป็นรูปภาพหยาบๆ พอให้เป็นเค้ารูป พอเป็นกลุ่มองค์ประกอบ ที่มีความสัมพันธ์กันพอประมาณ ยังไม่จำเป็นต้องเขียนส่วนย่อย ส่วนละเอียดแต่อย่างใด

งานปฏิบัติการเขียนระบายสี การระบายสี หรือ ภาษาช่างเขียนเรียกว่า “ลงสี” ช่างเขียนมักลงสี บริเวณพื้นที่ ส่วนที่เป็นฉากหลัง เช่น พื้นดินเขามอ ป่าไม้ ท้องทะเล ท้องฟ้า บ้านเมือง เสียก่อน จึงลงสีในส่วนที่เป็นรูปภาพคน ภาพสัตว์ ที่แสดงเรื่องราวต่างๆ อยู่บนฉากหลัง

เมื่องานระบายสี หรือ ลงสีทำเป็นรูปภาพชั้นต้นล่วงแล้ว งานของช่างเขียน ขั้นถัดมาคือ งานปิดทองคำเปลว เพื่อประสงค์ ในการเน้นความสำคัญของตัวภาพเด่นๆ หรือ ส่วนประกอบร่วม ตอนใดตอนหนึ่ง เป็นต้นว่า เครื่องศิราภรณ์ เครื่องประดับร่างกาย ยานพาหนะ พระราชมณเฑียร ฯลฯ ให้ปรากฏโดดเด่น เป็นที่น่าสนใจยิ่ง

งานเขียนระบายสีน้ำกาว (การเขียนส่วนย่อย และ รายละเอียดในรูปภาพ) หน้าที่ ๓

งานของช่างเขียน ในขั้นหลังสุดที่จะต้องทำต่อไป จากการปิดทองคำเปลว เพื่อเสริมสร้างสิ่งน่าสนใจ ขึ้นสำหรับภาพเขียน คือ การเขียนส่วนย่อย และ รายละเอียดในรูปภาพ ให้ครบถ้วน ตามแบบแผนอันเป็นขนบนิยม ในงานจิตรกรรมแบบไทยประเพณี ด้วย “เส้น” ที่มีขนาดความหนาบางต่างกัน คือ

  • เส้นที่มีขนาดหนา เรียกว่า เส้นกัน หรือ เส้นกาฬ ใช้สำหรับเขียนล้อมรูปนอกของรูปภาพต่างๆ หรือ ใช้เขียนกันพื้นที่ ส่วนที่เป็นรูปภาพ ให้เห็นเป็นส่วนหนึ่งต่างหาก จากพื้นฉากหลัง
  • เส้นที่มีขนาดบาง เรียกว่า เส้นรูป ใช้สำหรับ เขียนแสดงส่วนย่อยส่วนที่เป็นรายละเอียดในรูปภาพ
  • เส้นที่มีขนาดหนาบางไม่เท่ากัน เรียกว่า เส้นแร มีลักษณะพิเศษ คือโคนเส้นหนา ปลายเส้นบาง และเรียวแหลม และเป็นเส้นสั้นๆ ใช้เขียนแรแทนเงา เพื่อแสดงตำแหน่งของวัตถุที่วางซ้อนเหลื่อมกัน

นอกจากนี้ ยังมีขั้นตอนเก็บงานในส่วนละเอียด นอกไปจากการใช้เส้นขนาดต่างๆ เขียนแสดงสาระสำคัญ ของรูปภาพ เช่น การเขียนโฉบ คือ การระบายสี ที่เป็นสีวรรณะอ่อน เช่นสีขาว ระบายโฉบส่วนปลายของลายกระหนก การเขียนแร คือการระบายสี ที่เป็นสีวรรณะแก่ หรือ สีคล้ำกว่าสีของส่วนพื้นเดิม ที่จะระบายทับลง การเขียนประ และการเขียนกระทุ้ง สำหรับภาพพุ่มต้นไม้ชนิดต่างๆ ตัวอย่างของงานเขียนภาพประเภทต่างๆ ที่ช่างเขียนแต่ก่อนได้ เขียนไว้เช่น

  • ภาพเขียนฝาผนังประจำพระอุโบสถ พระพุทธปรางค์ ศาลาการเปรียญ ศาลาราย
  • ภาพเขียนบนผืนผ้า ที่เรียกว่า ภาพพระบฎ
  • ภาพเขียนในสมุดไทย ที่เรียกว่า สมุดธาตุ มีภาพเขียนในหน้าสมุด ซึ่งทำด้วยกระดาษข่อยบ้าง กระดาษสาบ้าง เป็นเรื่องไตรภูมิ เรื่องพระมาลัย
  • ภาพเขียนบนเครื่องกั้นบังตา ที่เรียกว่า ฉากตั้ง ฉากพับ ลับแล ซึ่งมักเขียนเป็นภาพจากวรรณคดีไทยเรื่องต่างๆ
  • ภาพเขียนประกอบตำราต่างๆ ซึ่งเขียนลงบนกระดาษสมุดไทย มีเป็นต้นว่า ภาพแผนที่ ภาพแบบอย่างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ภาพประกอบตำราไม้ดัด และเขามอ ภาพประกอบตำราพิไชยสงคราม ฯลฯ
  • ภาพเขียนประกอบพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งเขียนลงบนกระดาษบ้าง บนไม้บ้าง หรือ บนวัสดุอื่นๆ มีเช่น ภาพเจว็ด ภาพเทวดานพเคราะห์ ภาพนางสงกรานต์ประจำแต่ละปี

ภาพเขียน เป็นแบบอย่างสำหรับใช้ทำสิ่งของต่างๆ เช่น แบบพระราชลัญจกร แบบดวงตราในราชการ แบบเครื่องยศ แบบเครื่องแบบข้าราชการ แบบเครื่องศาสตราวุธ

นอกจากงานหลักๆ ดังที่ได้กล่าวมานี้ ยังมีงานเขียนจิปาถะ ที่ต้องการใช้ฝีมือ และความสามารถของช่างเขียน เป็นผู้ให้แบบอย่างอีกมิใช่น้อย อาทิ งานเขียนลายปักพัดยศ ลายปักเครื่องแต่งตัว ของผู้แสดงโขน และ ละคร งานเขียนให้แบบ สำหรับทำเครื่องประดับตกแต่งต่างๆ ซึ่งล้วนจะต้องอาศัยการเขียนขึ้นเป็นรูป เป็นภาพขึ้นก่อน จะนำไปทำการสร้างทำเป็นสิ่งนั้น สิ่งนี้ให้ต้องตามความประสงค์

 

 

ขอขอบคุณแหล่งที่มา:  http://changsipmu.com/thaiart_p12.html

ขอบคุณที่มา: http://changsipmu.com/thaiart_p12.html
⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
phakri's profile


โพสท์โดย: phakri
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
16 VOTES (4/5 จาก 4 คน)
VOTED: ซาอิ, Tabebuia, แมวฮั่ว แมวขี้น้อยใจ
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
แก๊งค์เชื่อมจิต 8 ชีวิต เข้ารับทราบข้อกล่าวหา โดนยกก๊วน 3 ข้อหาสพฐ. เปิดคะแนน ‘ครูเบญ’ สอบไม่ผ่าน ได้คะแนนไม่ถึง 60%“เบสท์ คำสิงห์” ทัวร์ลงยับ เหตุจอดรถรับน้องชาย ในพื้นที่ขาว-แดงน่ากลัวมาก!! แท่งคอนกรีตร่วงจากหลังรถบรรทุก ทับรถยนต์ Tesla ที่อยู่ข้างๆ เละ โชคดีคนขับไม่ได้รับบาดเจ็บ 😢สุดเหี้ยม รุ่นพี่ ม.1-2 รุมยำเด็ก ป.6 บังคับก้มกราบ ก่อนกระทืบซ้ำฟันร่วงอินฟลูฝรั่ง โจมตีสวนสัตว์เขาเขียว เลี้ยง ‘หมูเด้ง’ หวังยอดวิว ทัวร์ถล่มยับผู้นำรัสเซียแนะ ให้ประชาชนซั่มกันช่วงพักเที่ยงมาทำความรู้จักกับ มะม่วงหิมพานต์ กันเถอะสลด สาว 27 ดิ่งคอนโดหรูดับสยอง ตร.เร่งสอบปมมรณะชายชาวจีนเกือบตๅย หลังติดเชื้อรุนแรง เพราะบีบสิวแค่เม็ดเดียวด่วน!!!เงิน10000เงินดิจิทัลล่าสุดสส.ไอซ์ รักชนก ตอบแล้ว ไม่ใช่คนในคลิปสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่สภา วอนช่วยแก้ข่าว
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
มาทำความรู้จักกับ มะม่วงหิมพานต์ กันเถอะด่วน!!!เงิน10000เงินดิจิทัลล่าสุดน่ากลัวมาก!! แท่งคอนกรีตร่วงจากหลังรถบรรทุก ทับรถยนต์ Tesla ที่อยู่ข้างๆ เละ โชคดีคนขับไม่ได้รับบาดเจ็บ 😢
กระทู้อื่นๆในบอร์ด สาระ เกร็ดน่ารู้
มาทำความรู้จักกับ มะม่วงหิมพานต์ กันเถอะจริงหรือไม่!! "ลายมือ" จะบอกนิสัยใจคอของคนเขียนได้Ayam Cemani ไก่สายพันธุ์หายากและลึกลับจากอินโดนีเซียเมนูลดความอ้วน น้ำพริกอ่องอกไก่
ตั้งกระทู้ใหม่