ขบวนการลูกนกฮูก หนึ่งเดียวในตำนานละครวิทยุผี
เรื่อง : อาศิรา พนาราม
“ความกลัวผีจัดอยู่ในความกลัวอันดับต้นๆ ของคนเรา แต่ยิ่งกลัวบางทีก็ยิ่งชอบ”
การเล่าเรื่องผีหรือเรื่องลึกลับต่างๆ นั้นมีให้เห็นในทุกยุคทุกสมัยและในทุกสังคม ไม่ว่าสังคมนั้นจะทันสมัยเพียงใด ฉะนั้น จึงเป็นธรรมดาที่สังคมไทยซึ่งยังแนบแน่นกับเรื่องผีและสิ่งลี้ลับ จะมีเรื่องผีฝังตัวอยู่ในสื่อต่างๆ อย่างที่เห็นในทุกวันนี้ ก่อนหน้านี้ในช่วงที่สื่อสมัยใหม่อย่างวิทยุกำลังมีบทบาทในสังคม เรื่องผีก็ได้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “ละครวิทยุผี” ที่ออกอากาศยาวนานที่สุดถึง 15 ปี ก่อนที่จะเลิกราไปเมื่อราว 10 กว่าปีที่แล้ว
วันนี้ เราจะมาทำความรู้จักกับคณะละครวิทยุผีที่โด่งดังมากในอดีต นั่นก็คือ “ชมรมเรื่องผี โดยขบวนการลูกนกฮูก” คุณจำเริญ รัตนะ หัวหน้าคณะรุ่นที่ 2 ทายาทของคุณสุจิตต์ รัตนะ (หรือ ส.รัตนะ นักจัดรายการวิทยุ และผู้ก่อตั้งคณะนกฮูกการละคร) ได้ดำเนินรอยตามบิดาโดยจัดรายการวิทยุเพลงลูกทุ่ง สร้างละครวิทยุผี และจัดเวทีประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง ซึ่งงานที่สืบต่อมาจนถึงปัจจุบันก็คือ รายการชุมทางเสียงทอง ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7
การเติบโตของ “ลูกนกฮูก” ในยุคเฟื่องของวิทยุเอเอ็ม
ช่วงราวปีพ.ศ. 2500 คณะนกฮูกการละคร จาก ส.รัตนะ โด่งดังขึ้นจากงานละครวิทยุ 2 แนว คือ แนวละคร 18 มงกุฏ และละครผี คุณจำเริญซึ่งสมัยนั้นยังเป็นนักศึกษาวิทยาลัยเพาะช่างได้แต่นั่งดูการดำเนินงานของพ่ออยู่ห่างๆ จนกระทั่งถึงวันที่ ส.รัตนะ จากโลกไป เขาจึงได้เข้ามารับงานละครวิทยุแทนทั้งหมด โดยอาศัยคนในคณะละครที่มีองค์ความรู้เดิมอยู่แล้ว รวมทั้งได้ให้กำเนิดชื่อใหม่ในวงการว่า “ขบวนการลูกนกฮูก” ในปีพ.ศ. 2524
ในยุคของ “ลูกนกฮูก” ต้องเรียกว่า เป็นยุคเฟื่องของละครวิทยุ เพราะเทคโนโลยีโทรทัศน์ที่เพิ่งเข้ามายังมีราคาแพงมาก (5,000 - 6,000 บาท) ใช่ว่าใครๆ ก็จะมีกันได้ ละครวิทยุจึงเป็นความบันเทิงคู่บ้านของคนไทยยุคนั้นเลยทีเดียว ส่วนการที่คุณจำเริญเลือกทำละครผีนั้น เพราะมันเป็นงานที่แปลกไม่เหมือนใคร ในขณะที่ตลาดละครวิทยุส่วนใหญ่เน้นละครชีวิตแนวรักใคร่ ขบวนการลูกนกฮูกเป็นผู้เดียวที่จับละครผี ที่สำคัญ คนไทยในยุคก่อนยังมีความเชื่อเรื่องผีอย่างเหนียวแน่น ซึ่งก็เป็นตัวช่วยในเรื่องฐานเสียงผู้ฟัง ประกอบกับคุณจำเริญทำรายการเพลงลูกทุ่งควบคู่ไปด้วย รายการของเขาจึงฟังได้ฟังดีในกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลาย
"ละครวิทยุจัดเป็นสื่อที่แพร่หลายมากในยุคนั้น ผมไปไหนมาไหน ไม่มีใครรู้จักหน้าตาผม แต่พอผมขึ้นแท็กซี่แล้วพูดออกมา คนขับแท็กซี่รู้ทันทีว่าเป็นผม เขาทักขึ้นเลย 'คุณจำเริญใช่รึป่าว' แค่นั้นผมก็แฮปปี้แล้ว"
แต่สิ่งที่ทำให้คุณจำเริญแฮปปี้คงไม่ใช่แค่นั้น รายการวิทยุที่ออกอากาศในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดอีก 30 สถานี ทำให้เขาทำงานแทบไม่ได้เห็นเดือนเห็นตะวัน เขาซื้อเวลาทำรายการวิทยุถึง 7 รายการ เฉพาะรายการละครผีมีอยู่ 2 ช่วงเวลา คือ ที่สถานีสวนมิสกวัน AM 1062 เวลา 19.30 -20.00 น. และ สวนมิสกวัน AM 630 ช่วง 20.30-21.00 น. ซึ่งหากเราจินตนาการย้อนกลับไปในสมัยที่ผู้คนลั่นดาลประตูปิดไฟนอนแต่หัวค่ำ ช่วงเวลาเหล่านั้นก็วังเวงเหมาะแก่การฟังเรื่องผี (คั่นด้วยเพลงลูกทุ่งเพื่อผ่อนคลายความกลัว) เสียจริง
ละครผีและสื่อโฆษณาทางวิทยุ
สมัยก่อนเมืองไทยยังไม่มี “เอเจนซี่” มาคอยหาโฆษณาให้ หัวหน้าขบวนการคือผู้ที่ต้องทำหน้าที่นี้เอง โฆษณาสมัยนั้นก็หายากไม่ต่างจากสมัยนี้ คุณจำเริญต้องไปพบลูกค้า พรีเซนท์งานเอง ขอค่าเปิดเพลง ฯลฯ อย่างไรก็ดี ข้อดีอย่างหนึ่งที่ช่วยให้เขาหาโฆษณาได้ง่ายขึ้นก็คือ การจัดทั้งรายการเพลงลูกทุ่ง ละครวิทยุผี และเวทีประกวดร้องเพลง สามงานนี้ทำให้เขาสามารถขายโฆษณาได้เป็นแพคเกจ สามารถเข้าถึงผู้ฟังที่ต่างกันทั้ง 3 กลุ่ม ดังนั้น คุณจำเริญจึงการันตีกับลูกค้าเลยว่า ภายใน 3 เดือน ลูกค้าของเขาจะขายสินค้าได้และเรียกชิ้นส่วนได้แน่นอน (สมัยก่อนวัดยอดขายและเรตติ้งรายการจากการให้ส่งชิ้นส่วนไปที่บริษัท) ซึ่งเขาก็ทำได้อย่างที่พูด ราคาค่าโฆษณาในรายการวิทยุสมัยนั้นคือ ชั่วโมงละ 8,000 บาท รายการผีของขบวนการลูกนกฮูกออกอากาศครึ่งชั่วโมง (เน้นละครสั้น จบในตอน) ก็ได้ครั้งละ 4,000 บาท บวกกับค่าเปิดเพลงอีกเพลงละ 1,000 บาท รวมๆ กันแล้ว ก็สามารถมีรายได้พอให้ทีมงานเลี้ยงตัวเองได้แบบสบายๆ
“ภูติผีปีศาจและพญามัจจุราชมีจริงหรือไม่”
จากสโลแกนประจำชมรมเรื่องผีนี้ คล้ายกับการตั้งคำถามให้ผู้ฟังเข้ามาพิสูจน์เองว่า “จะเชื่อเรื่องเล่าดังกล่าวหรือไม่” แต่สำหรับคุณจำเริญเองเขาเชื่อว่า เรื่องผีมีจริง และความมืดก็เป็นองค์ประกอบหลักของเรื่องผีเสียด้วย ด้วยเหตุนี้ เขาจึงสร้างบรรยากาศของละครตั้งแต่ขั้นตอนการบันทึกเสียง ด้วยการเลือกบันทึกเสียงในเวลาหลังตะวันตกดินเท่านั้น ซึ่งนอกจากบรรยากาศยามค่ำคืนจะเป็นใจแล้ว บางครั้งก็ยังมีเรื่องชวนขนหัวลุกแบบ “ผีซ้อนผี” เกิดขึ้นกับเขาด้วย
“สมัยนั้น เราบันทึกเสียงที่ตึกแห่งหนึ่งซึ่งมีดาดฟ้า นักแสดงผู้หญิงคนหนึ่งเขาไปรับร่างที่สำนักคนทรงมา พอถึงเวลาทำงานนักแสดงคนนี้ก็หายตัวไปไหนไม่รู้ ผมส่งคนไปตามจึงพบเขายืนพูดกับศาลพระภูมิอยู่ที่ดาดฟ้า พอเรียกเขาลงมาอัดละครได้ ระหว่างที่เล่นอยู่เขาก็พูดขึ้นมาว่า 'อย่าซิ อย่ากวนเวลาทำงาน ทำงานอยู่' ทุกคนก็งงว่า เขาเป็นอะไร เขาเป็นอย่างนี้จนพวกผมต้องหยุดทำงานเพื่อถามว่าเป็นอะไรแน่ เขาก็บอกว่ามีพี่ที่ศาลพระภูมิมาหาหนูทุกครั้งที่หนูมาทำงานที่นี่ เราก็เลยพาเขาไปส่งที่บ้าน เพราะท่าทางไม่ไหวแล้ว ในที่สุดเขาก็ไม่ได้มาทำงานอีก และต้องเข้าโรงพยาบาลศรีธัญญาไป”
“เห็นว่าเขารับร่างโดยไม่ได้ครอบครู ของก็อาจเข้าตัว ผมว่าเรื่องนี้มีจริงนะ พวกเราทำงานด้านนี้ต้องไปครอบครูทุกปี จะว่าเขาป่วยก็อาจจะใช่ แต่ของอย่างนี้ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เพราะเขาก็อยู่แต่ในบ้าน แต่พอจะมีใครมาเยี่ยม เขาสามารถบอกที่บ้านล่วงหน้าได้ว่าจะมีคนนี้คนนั้นมาหาเขา โดยไม่ได้มีใครโทรไปบอกก่อนด้วยซ้ำ”
ยุคหลังของละครวิทยุผี
แม้ว่าความกลัวที่ผู้คนได้รับจากละครวิทยุจะไม่ได้เลือนหายไป แต่ความแพร่หลายของโทรทัศน์และความนิยมของคลื่นเอฟเอ็ม ก็ค่อยๆ เบียดละครวิทยุช่องเอเอ็มให้ตกไป จนมาถึงช่วงปีที่ฟองสบู่แตก คุณจำเริญจึงต้องหยุดขบวนการลูกนกฮูกลงให้เหลือแค่ตำนาน อย่างไรก็ดี แม้ในวันที่ไม่ได้ออนแอร์แล้ว ผลงานของขบวนการลูกนกฮูกก็ยังเป็นที่ต้องการของตลาดบางกลุ่ม ยังมีคนมาติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ละครวิทยุผีไปขายในรูปแบบเทปคาสเส็ทท์และซีดี นอกจากนั้น ก็มีรายการวิทยุต่างๆ มาขอซื้อละครวิทยุผีไปเปิดในรายการด้วย ส่วนในระยะหลังๆ มานี้ คุณจำเริญเลือกที่จะเผยแพร่ผลงานสยองขวัญผ่านทางเว็บไซท์ของตนเอง (www.jumreon.com) โดยลงผลงานให้ฟังสัปดาห์ละ 2 เรื่อง ใครที่นึกไม่ออกว่า ละครวิทยุผีนั้นเป็นยังไง (สยองมากน้อยแค่ไหน) ก็ต้องลองคลิกไปฟังกัน
ทุกวันนี้ “ละครวิทยุ” ถือเป็นศิลปะที่เข้าข่าย “คลาสสิค” ไปแล้ว (เพราะหาฟังกันไม่ได้ง่ายๆ) บวกกับที่ “ความอยากรู้อยากเห็น” และ “ชอบเรื่องลี้ลับตื่นเต้น” ก็ไม่เคยสูญหายไปจากใจผู้บริโภคชาวไทย นี่เองทำให้ “เรื่องผี” ที่ไม่ว่าจะถูกเล่าขานผ่านสื่อคราใด ก็จะได้รับเสียงตอบรับฮือฮากลับมาเสมอ ส่วนตัวผู้เขียนเองเชื่อว่า จินตนาการสร้างสรรค์แบบนี้น่าจะถูกต่อยอดไปได้เรื่อยๆ โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดอยู่กับสื่อใดสื่อหนึ่ง และยิ่งหากเราทำให้แตกต่างได้ ทำให้คนยุคใหม่เข้าถึง เราก็อาจสร้างตำนานลี้ลับฉบับใหม่ขึ้นได้ เช่นเดียวกับที่ขบวนการลูกนกฮูกเคยทำไว้สำเร็จในวันวาน
พอดีไปอ่านเจอครับ เคยฟังสมัยเด็กๆ เผื่อเคยมีคนเคยฟังเหมือนผมบ้าง เลยนำมาให้อ่านกันครับ !