ทำไมเกรตแบร์ริเออร์รีฟถึงกำลังวิกฤต
เขียน โดย Justin Hawk
ปลาหลากหลายสีและสายพันธุ์แหวกว่ายไปตามปะการัง ท่ามกลางแสงแดดที่ส่องลงมาจากผืนน้ำ ปลากระเบนว่ายผ่านไปอย่างช้า ๆ ราวกับกำลังพักผ่อน นี่คือภาพที่ย้ำเตือนฉันว่าแท้จริงแล้วโลกแห่งธรรมชาตินั้นมหัศจรรย์เพียงใด ทว่ามีความเป็นไปได้ว่าประการังเหล่านั้นสามารถสูญพันธุ์ไปได้ตลอดกาล เกรตแบร์ริเออร์รีฟ (The Great Barrier Reef) ซึ่งเป็นแนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลกกำลังเสื่อมโทรมลงอย่างน่าตกใจ ในเวลา 30 ปีที่ผ่านมา เราสูญเสียปะการังไปกว่าครึ่ง ถ้าอยากให้ที่แห่งนี้มีชีวิตอยู่ต่อไปอีกหลายทศวรรษ ณ เวลานี้ พวกเราจะต้องลงมือทำอะไรสักอย่างแล้ว
การทำความเข้าใจว่าอะไรที่ทำให้ปะการังทรุดโทรมลงดูจะเป็นเรื่องยาก เนื่องจากมีหลายสาเหตุและปัจจัย แล้วอะไรคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปะการังตาย
อุตสาหกรรมถ่านหิน ปะการังฟอกขาว และน้ำเสีย คือหนึ่งในหลายสาเหตุที่มาจากน้ำมือมนุษย์ ซึ่งกำลังทำร้ายเกรตแบร์ริเออร์รีฟ หากเราอยากจะเก็บสิ่งมหัศจรรย์นี้ไว้ให้ลูกหลานได้ชื่นชม ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องร่วมกับปกป้อง
ถ่านหิน
หินสีดำ ๆ ก้อนเล็กก้อนน้อยมีส่วนอย่างมากในการทำลายความเป็นอยู่ของปะการัง รัฐบาลควีนสแลนด์ ประเทศออสเตรเลียได้ให้การสนับสนุนขยายเหมืองถ่านหินและท่าเรือด้วยเหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผล อุตสาหกรรมถ่านหินถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่อันตรายต่อชีวิตและทำลายสุขภาพของเกรตแบร์ริเออรีฟ
หากเหมืองถ่านหิน Carmichael ผ่านการอนุมัติโครงการจะกลายเป็นเหมืองถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศออสเตรเลีย จะสร้างมลพิษและทิ้งรอยเท้านิเวศขนาดใหญ่กว่าเมืองซิดนีย์ถึงสิบเท่า นอกจากนี้ยังใช้น้ำปริมาณเท่าสระน้ำโอลิมปิกทุก ๆ สองชั่วโมง อย่างไรก็ดี เนื่องจากสถานะทางการตลาดของถ่านหิน ทำให้ผู้เชี่ยวชาญเรียกเหมืองแห่งนี้ว่า “หายนะทางเศรษฐกิจ” ขณะนี้โครงการเหมืองถ่านหินแห่งนี้กำลังอยู่ในระหว่างการถูกฟ้องร้องจากองค์กรสิ่งแวดล้อมในประเทศออสเตรเลีย
ภาพของท่าเรือถ่านหิน Abbot Point Coal Terminal ที่รัฐควีนสแลนด์
อุตสาหกรรมถ่านหินที่กำลังขยายใหญ่ขึ้น หมายถึงจำนวนเรือและมลพิษที่มากขึ้น ถ่านหินถือเป็นแหล่งพลังงานสกปรกที่เป็นตัวเร่งภาวะโลกร้อน เรือที่แล่นเร็วที่สุดในเอเชียเทียบท่าในบริเวณที่ใกล้กับแนวปะการังแห่งนั้น เป็นเหตุผลว่าทำไมบริษัทถ่านหินถึงวางแผนที่จะขุดลอกบริเวณใกล้เคียง ซึ่งการกระทำเหล่านี้จะทำให้เต่าทะเลและปลาการ์ตูนตกอยู่ในอันตราย การขยับขยายท่าเรือถ่านหิน Abbot Point Coal Terminal จะต้องขุดดิน 1.1 ล้านคิวบิกเมตรในบริเวณใกล้เคียงกับแนวปะการังนั้นและนำไปทิ้งที่พื้นที่ชุ่มน้ำที่อยู่ถัดไปไม่ไกลนัก
ปะการังฟอกขาว
ปะการังสีสันสดใสเปลี่ยนเป็นสีขาวซีดอย่างรวดเร็ว นับว่าเป็นปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวที่แย่ที่สุดในประวัติศาสตร์ อุทยานแห่งชาติทางทะเลเกรตแบร์ริเออร์รีฟ (The Great Barrier Reef Marine Park Authority หรือ GBRMPA) ได้วัดระดับการตอบสนองต่อการฟอกขาวทางตอนเหนือของแนวปะการังและพบว่าเป็นการฟอกขาวที่รุนแรงที่สุดในภูมิภาค การสำรวจของศาสตราจารย์ Terry Hughes ผู้อำนวยการของ Australian Research Council Centre of Excellence for Coral Reef Studies เปิดเผยว่าปะการังจำนวน 516 ตัว จาก 520 ตัว กำลังเผชิญกับปรากฏการณ์ฟอกขาวและอาจไม่สามารถฟื้นตัวกลับคืนมาได้ (ข้อมูลเมื่อปี 2558)
ภาพบริเวณที่ปะการังฟอกขาว จาก ARC Centre of Excellence for Coral Reef Studies/ Terry Hughes
ปรากฏการณ์ฟอกขาวเกิดจากการที่อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงกว่าปกติ ทำให้ปะการังสูญเสียสาหร่ายซูแซนเทลลี (zooxanthellae) ซึ่งอาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อของปะการัง การสูญเสียสาหร่ายชนิดนี้สร้างผลกระทบแก่ปะการังและทำให้กลายเป็นสีขาว ถึงแม้ว่าปะการังจะสามารถกลับมาเป็นปกติได้ แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะเวลาของการฟอกขาวนั้นว่าจะทำให้ปะการังมีชีวิตรอดหรือไม่ กว่าครึ่งหนึ่งของปะการังที่ฟอกขาวอยู่ในขณะนี้ถูกคาดการณ์ว่าจะตาย
นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ว่าปรากฏการณ์ฟอกขาวแบบนี้มีสิทธิ์เกิดขึ้นทุกปีจนกระทั่งปี 2573 ปรากฏการณ์ฟอกขาวที่เกิดขึ้นเมื่อต้นปีนี้มีสาเหตุมาจากอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้นอย่างผิดปกติ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปรากฎการณ์เอลนีโญ่ (El nino) นี่เป็นตัวอย่างปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวที่แย่ที่สุดที่เราเคยเห็นมา เราอาจจะเสียนีโม่ไปมากกว่าที่จะต้องไปตามหามัน
น้ำทะเลเป็นกรด
ยิ่งเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นไปบนท้องฟ้ามากเท่าไหร่ มหาสมุทรจะกลายเป็นพิษมากเท่านั้น มีการคาดเดาว่ามหาสมุทรจะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ร้อยละ 25 ของคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเกิดจากน้ำมือของมนุษย์
เมื่อมหาสมุทรดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเคมีและมีระดับความเป็นกรดมากขึ้น
การเพิ่มขึ้นของความเป็นกรดแม้เพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้เกรตแบร์ริเออร์รีฟซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่บอบบางได้รับผลกระทบและมีปะการังตายเป็นจำนวนมาก อาจใช้เวลากว่า 50 ปีเพื่อให้สภาวะความเป็นกรดกลับมาเป็นปกติ ดังนั้นหากสภาวะโลกร้อนยังไม่ได้รับการจัดการ ปะการังเหล่านี้อาจไม่สามารถกลับเป็นดังเดิมได้
คุณภาพน้ำที่แย่
น้ำสกปรกมากขึ้นเรื่อยๆ จากมลพิษและสิ่งสกปรกที่มนุษย์เป็นคนทำ ประมาณร้อยละ 80 ของพื้นที่ชายฝั่งควีนสแลนด์ถูกใช้เพื่อการเกษตร ทำใหัปุ๋ย ยาฆ่าแมลงและมูลของเสียจากสัตว์ไหลลงสู่ทะเลและทำให้คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมลง น้ำที่ขุ่นมัวทำให้การสังเคราะห์แสงของปะการังเป็นไปได้ยากขึ้น ส่งผลให้สาหร่ายซูแซนเทลลี (Zooxanthellae) ซึ่งจำเป็นต่อการมีชีวิตอยู่ของปะการังมีจำนวนลดลง
รายงานซึ่งถูกตีพิมพ์โดย Australian Institute of Marine Science (AIMS) แสดงให้เห็นว่า คุณภาพน้ำในบริเวณของเกรตแบร์ริเออร์รีฟแย่ลงจนไม่น่าจะถึงเป้าหมายอัตราการตกตะกอนและระดับไนโตรเจนที่ถูกกำหนดไว้ในแผนอนุรักษ์แนวปะการังปี พ.ศ. 2593 ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าควรจะมีการปฏิบัติตามกฏหมายอย่างเคร่งครัดมากกว่านี้
ภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ภัยธรรมชาติต่างๆ อย่างพายุไซโคลนสามารถสร้างความเสียหายแก่ปะการังและผืนหญ้าทะเลอย่างมาก พะยูนและเต่าทะเลได้รับผลกระทบจากทุ่งหญ้าทะเลที่เสียหาย ยิ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงก็ยิ่งทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้งขึ้น ในปี 2554 พายุไซโคลน Yasi ฉีกแนวปะการัง ทำให้ปะการังประมาณร้อยละ 13 ของปะการังทั้งหมดได้รับความเสียหาย
ภาพความเสียหายที่เกิดจากพายุไซโคลน Yasi ในปี 2011
ดาวมงกุฏหนามหรือปลาดาวหนาม
ร้อยละ 42 ของปะการังที่สูญไปมีสาเหตุมาจากถูกดาวมงกุฎหนามหรือปลาดาวหนามกินเป็นอาหาร ปลาดาวหนามซึ่งแพร่ระบาดอยู่เนืองๆได้กลับมาระบาดอีกครั้งเมื่อต้นปี 2553
ภาพของดาวมงกุฏหนามหรือปลาดาวมงกุฏในบริเวณแปซิฟิคตะวันตก
ปลาดาวหนามมีบทบาทอย่างมากต่อจำนวนปะการังจนถูกคาดเดาว่าหากไม่มีปลาดาวหนามในระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา หินปะการังคงจะเพิ่มมากขึ้น แผนระยะสั้นที่สามารถทำได้คือ การให้ทีมผู้รับผิดชอบควบคุมจำนวนประชากรของปลาดาวหนามโดยวิธีการฉีด สำหรับแผนระยะยาวนั้นควรจะเป็นวิธีการรับมืออย่างท่วงทีหากมีการแพร่ระบาดเกิดขึ้นอีกครั้งในอนาคต
แผนอนุรักษ์แนวปะการังปี พ.ศ. 2593
สถานการณ์ของแนวปะการังในปัจจุบันทำให้เกิดการถกเถียงขึ้นในคณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโก้เกี่ยวกับรายชื่อสถานที่ที่ตกอยู่ในอันตราย ด้วยเหตุนี้กระทรวงสิ่งแวดล้อมของประเทศออสเตรเลีย (Australian Government Department of the Environemtn) ได้ออกแผนอนุรักษ์แนวปะการังอย่างยั่งยืนปี พ.ศ. 2593 แผนการนี้ระบุครอบคลุมถึงเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คำมั่นของรัฐบาลในการควบคุมมลพิษและควบคุมผลกระทบที่เกิดจากการขุดลอกในบริเวณข้างเคียง
อย่างไรก็ตามแผนการอนุรักษ์ยังถือว่าไม่เพียงพอ เนื่องจากไม่มีการระบุแผนการปฏิบัติการที่ชัดเจนเจาะจง มีเพียงแค่เป้าหมายและแนวทางการปฏิบัติอย่างกว้างๆ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญต่อการคุกคามซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพียงน้อยนิดและอนุญาตให้อุตสาหกรรมถ่านหินขยายไปในบริเวณที่ใกล้กับแนวปะการัง
เราควรจะทำอย่างไร?
ทีนี้เราควรจะทำอย่างไรเพื่อปกป้องปะการังเหล่านั้น สิ่งหนึ่งที่เราสามารถทำได้และให้ผลมากที่สุดคือการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากสาเหตุที่ปะการังถูกทำลายส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นน้ำมือของมนุษย์ เราควรจะลดรอยเท้าทางระบบนิเวศให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้และใช้พลังงานหมุนเวียนแทนพลังงานจากถ่านหิน นอกจากนี้ยังควรออกกฏหมายบังคับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ร่วมยืดหยัดเพื่อเกรตแบร์ริเออร์รีฟ เพราะหากเราไม่ต่อสู้เพื่อปกป้องแนวปะการังที่สำคัญของโลกนี้ เกรตแบร์ริเออร์รีฟก็จะกลายเป็นอดีตอย่างรวดเร็ว
บทความนี้แปลและเรียบเรียงจากภาษาอังกฤษ สามารถอ่านได้ที่นี่
แปลโดย วริษา สี่หิรัญวงศ์ อาสาสมัครกรีนพีซในโครงการแปลเปลี่ยนโลก