ยอดขุนศึกตระกูลหยาง!
เรื่องราวขุนศึกตระกูลหยางเขียนขึ้น โดย ถัวถัว นักเขียนชาวมองโกล ในยุคราชวงศ์หยวน โดยอ้างอิงมาจากหนังสือบันทึกประวัติศาสตร์ราชวงศ์ซ่งที่ชื่อ History of Song เป็นเรื่องราวของครอบครัวแซ่หยาง (楊) ที่รับราชการทหารมาตลอดทั้งตระกูลถึง 3 ชั่วอายุคน มีความจงรักภักดีและพร้อมตายในสนามรบได้อย่างสมศักดิ์ศรี อีกทั้งเมื่อเหล่าผู้ชายตายหมดแล้ว ผู้หญิงซึ่งเป็นภรรยาม่ายหรือลูกหลานในตระกูลก็รับหน้าที่ต่อแทน
เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นที่ ในรัชสมัย ซ่งไท่จงฮ่องเต้ อันเป็นฮ่องเต้รัชกาลที่ 2 ของราชวงศ์ซ่งเหนือ เสด็จยกทัพไปปราบปราม เล่ากึน แห่งราชวงศ์โฮ่วฮั่น หยางเย่ หรือ เอียเลงก๋ง (楊業) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองซัวอ๋าวยกกองทัพมาช่วยเล่ากึน สงครามจึงสงบกันไปคราวหนึ่ง เมื่อฮ่องเต้ซ่งไท่จู่สวรรคต เจ้ากวงอี้ พระอนุชาได้ขึ้นครองราชย์แทน เถลิงพระนามว่า ซ่งไท่จงฮ่องเต้
ต่อมา ซ่งไท่จูเสด็จยกกองทัพหลวงไปตีเมืองปักหั้นอีก คราวนี้เกลี้ยกล่อม หยางเย่ กับบุตรชายทั้ง 7 คนมาเข้ากับตนไว้ได้ หลังจากนั้นได้ยกทัพไปปราบเมืองไซเหลียวต่อไป เมื่อซ่งไท่จูฮ่องเต้ถูกล้อมอยู่ในระหว่างศึก หยางเย่กับบุตรก็ช่วยกันแก้ไขเอาออกมาได้ แต่ต้องสู้กับข้าศึกจน หยางต้าหลาง, หยางเอ้อหลาง, หยางซันหลาง ซึ่งเป็นบุตรชายคนโต, คนที่ 2 และ 3 ต้องตายกลางสนามรบ
ส่วน หยางอู่หลาง บุตรชายคนที่ 5 ได้หนีไปบวชจึงรอด ส่วน หยางซื่อหลาง บุตรชายคนที่ 4 ถูกชาวฮวนจับเอาไป เหลือแต่ตัวของหยางเย่ยและหยางลิ่วหลาง เท่านั้นที่รอดกลับมาได้ ฮ่องเต้ซ่งไท่จูจึงโปรดให้สร้างบ้านและมอบเครื่องแสดงเกียรติยศต่าง ๆ ให้ ภายหลังหยางเย่กับหยางซื่อหลางถูก พานเหรินเหม่ย ซึ่งเป็นขุนนางที่เป็นเสมือนคู่ปรับของตระกูลหยางกำจัด คงเหลือแต่หยางลิ่วหลาง บุตรชายคนที่ 6 เพียงคนเดียว ฮ่องเต้ซ่งไท่จู อยู่ในราชสมบัติได้ 22 ปีก็เสด็จสวรรคต
ต่อมาในรัชกาล ซ่งไท่จงฮ่องเต้ โปรดให้หยางลิ่วหลางเป็นแม่ทัพไปปราบปรามเมืองไซเหลียวและเมืองไซฮวนได้มาเป็นเมืองขึ้น เมื่อหยางลิ่วหลางตาย เมืองไซฮวนกลับกำเริบขึ้นอีก ครั้งนี้เป็น หยางจงเป่า ซึ่งเป็นบุตรชายของหยางลิ่วหลางพร้อมกับพวกหญิงม่าย ผู้ซึ่งเคยเป็นภรรยาของพี่น้องตระกูลหยางที่สิ้นชีพไปแล้วทั้งหมด รวมทั้ง ภรรยาของหยางจงเป่า คือ มู่กุ้ยอิง นำทัพปราบปรามเอง ซึ่งภายหลังเมืองไซฮวนก็ได้สยบมอบต่อราชวงศ์ซ่ง บ้านเมืองถึงยุคสงบสุข ไร้ซึ่งเสี้ยนหนามแผ่นดิน บรรดาขุนนางผู้ใหญ่ในเมืองหลวงก็ล้วนแต่ซื่อสัตย์ มีความจงรักภักดี ฝ่ายพลเรือนมี โขวจุ้น เป็นขุนนางใหญ่ ฝ่ายกลาโหมมี หยางจงเป่า ได้บังคับบัญชาการงานทั้งปวงโดยสิทธิ์ขาดทั้งหมด[1]
เรื่องราวของขุนศึกตระกูลหยางได้รับการถ่ายทอดในลักษณะบอกเล่าเป็นนิทานและเป็นการแสดงในการละเล่นอุปรากรของจีนต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน มีการต่อเติมเรื่องราวให้มีสีสันจากเดิม เช่น การเพิ่มบทของความรักระหว่าง หยางซื่อหลาง บุตรชายคนที่ 4 ของตระกูลกับเจ้าหญิงเมืองไซเหลียว ซึ่งเป็นข้าศึก หรือการที่มี เปาบุ้นจิ้น หรือ อ๋องแปดซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่มีตัวตนจริงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เป็นต้น เนื่องจากเป็นบุคคลร่วมสมัยกัน