กำเนิดทศกัณฐ์ (สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับทศกัณฐ์ ร่วมโหวตกันได้จ้ะ)
ทศกัณฐ์เป็นยักษ์กายสีเขียว มีสิบเศียรและยี่สิบกรตั้งแต่แรกเกิด โอรสองค์โตของท้าวลัสเตียนและนางรัชฎา เมื่อยามปรกติจะปรากฏร่างธรรมดาที่มีเพียงหนึ่งเศีบรและสองกร มีเค้าโครงเดิมมาจากตัวละครราวณะในรามายณะของวาลมิกิ
กำเนิดทศกัณฐ์
ในชาติก่อน ทศกัณฐ์ทำหน้าที่ล้างเท้าให้กับเทวดาบนเขาไกรลาศชื่อว่า นนทก ทุกครั้งที่นนทกล้างเท้าให้เหล่าเทวดา เทวดาเหล่านั้นก็จะหยอกล้อนนทกโดยการดึงผม ตบศีรษะ จนนนทกหัวล้าน เมื่อเห็นว่าตนถูกรังแกเช่นนี้จึงไปเข้าเฝ้าพระอิศวร และทูลเรื่องราวทั้งหมดให้ฟัง พระอิศวรจึงประานนิ้วเพชรให้แก่นนทกเพราะทรงเห็นว่านนทกมีความดีความชอบมาก่อน แต่นนทกกลับนำนิ้วเพชรไปใช้ในทางที่ผิดคือ นำไปแก้แค้นพวกเทวดา แต่ถ้าเราอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับนนทก เราก็คงรู้สึกคับแค้นอยู่ไม่น้อย และถ้ามีโอกาสแก้แค้น เราก็คงทำเช่นเดียวกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่นนทกซึ่งเป็นเทวดาชั้นต่ำจะคิดแก้แค้นคนที่ทำร้ายตน แต่เมื่อพระอิศวรทรงทราบจึงทรงกริ้ว พระนารายณ์จึงต้องแปลงกายเป็นนางอัปสรมาล่อให้นนทกร่ายรำจนในที่สุดนนทกก็ชี้นิ้วเพชรเข้าที่ขาของตน จากนั้นพระนารายณ์ก็แปลงกายกลับร่างเดิม นนทกจึงตัดพ้อว่าตนมีเพียงสองกร แต่พระนารายณ์มีสี่กรตนจึงสู้ไม่ได้ ซึ่งก็ไม่ต่างจากคนทั่วไปที่ต้องการความเท่าเทียมและความยุติธรรม พระนารายณ์จึงท้านนทกว่าชาติหน้าให้ไปเกิดเป็นยักษ์ มีสิบเศียร สิบกร แล้วพระองค์จะเกิดเป็นมนุษย์สองกรตามไปราวี
วิเคราะห์พฤติกรรมทศกัณฐ์
คนทั่วไปอาจมองว่าทศกัณฐ์เป็นตัวร้าย ไร้ความปราณี ไม่มีศีลธรรม แต่เมื่อเรามาวิเคราะห์กันอย่างี่ถ้วนแล้ว จะเห็นได้ว่า พฤติกรรมของทศกัณฐ์ก็เหมือนกับปุถุชนธรรมดาทั่วไปที่ล้วนมีกิเลส ตัณหาครอบงำอยู่
ตั้งแต่เด็ก ๆ มา ทศกัณฐ์เป็นเด็กที่มีความใฝ่รู้ ขยันหมั่นเพียร เชื่อมั่นในตนเอง รู้จักคิดวางแผนชีวิตของตนโดยไม่ต้องให้ผู้ใหญ่จัดการ ทำให้ท้าวลัสเตียนและนางรัชฎาซึ่งเป็นบิดามารดาของทศกัณฐ์ภาคภูมิใจ เมื่อไปเป็นศิษย์ของพระโคบุตรมหาฤษี ก็อ่อนน้อมถ่อมตนและกตัญญู คอยปรนนิบัติอาจารย์ ซึ่งคุณสมบัติข้อนี้ของทศกัณฐ์เป็นคุณธรรมที่เยาวชนควรถือเอาเป็นแบบอย่างอย่างยิ่ง แต่อาจจะเป็นเพราะทศกัณฐ์พึ่งตนเองมาตั้งแต่เด็กทำให้เป็นคนที่เชื่อมั่นในความคิดและความสามารถของตนมาก ไม่ค่อยพึ่งความคิดเห็นของผู้อื่น เช่น ตอนที่ทศกัณฐ์จะไปลักนางสีดา ทั้ง ๆ ที่นางมณโฑกับมารีศได้คัดค้านไว้แต่ทศกัณฐ์ก็ไม่ฟัง
จะเห็นได้ว่าความเอาแต่ใจของทศกัณฐ์ที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ทั้งวงศาคณาญาติ และไพร่ฟ้าประชากร เนื่องจากในวัยเด็กของทศกัณฐ์นั้นมีอิสระในการเลือกการดำเนินชีวิตมาโดยตลอด และหากเทียบกับความเอาแต่ใจของพระเอกในวรรณคดีไทยคนอื่น ๆ เช่น อิเหนาก็ไม่ต่างกันเลย อิเหนาปฏิเสธการแต่งงานกับุษบาแต่แรกแล้วก็จะคืนคำเมื่อเห็นว่านางบุษบาสวยกว่าที่ตนคิด แต่เป็นโชคดีของอิเหนาที่การเอาแต่ใจของตัวเองไม่ได้ทำให้เมืองล่มจมเหมือนทศกัณฑ์ เพราะบุษบาก็หลงรักอิเหนาเช่นกัน เป็นความผิดของทศกัณฐ์หรือที่เกิดมารูปไม่งาม ไม่ทำให้ผู้หญิงหลงใหลเหมือนอิเหนา
บางคนกล่าวว่า ทศกัณฐ์มักมากในกามคุณ มีมเหสีและสนมมากมายแต่ก็ยังไม่พอ ยังไปชิงนางสีดาซึ่งเป็นภรรยาของพระรามมาอีก ถ้ามองสังคมในสมัยนั้น ค่านิยมที่ผู้ชายมีภรรยาหลายคนเป็นเรื่องปกติธรรมดา ยิ่งทศกัณฐ์เป็นกษัตริย์ที่มีอำนาจมากล้นแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่จะมีเมียมาก เมื่อหมายตาผู้หญิงคนไหนก็จะได้อย่างที่ต้องการ และผู้หญิงในสมัยนั้นก็รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นภรรยาของผู้ชายที่มีอำนาจและยศฐาบรรดาศักดิ์ โดยไม่ถือว่าจะเป็นภรรยาคนที่เท่าไรก็ตาม แม้แต่เทวดาบนสวรรค์ยังมีสนมและบริวารมากมาย แต่ก็ไม่ถูกตราหน้าว่าเป็นผู้มักมากในกามคุณเช่นทศกัณฐ์ ถ้าพูดในแง่ของความรักที่ทศกัณฐ์มีต่อผู้หญิง ความรู้สึกที่ทศกัณฑ์มีต่อนางสีดาไม่น่าจะกล่าวได้ว่าเป็นความรัก แต่เป็นความหลงใหลในรูปโฉมภายนอกมากกว่า แต่ทศกัณฑ์ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีความรักเสียเลย ผู้หญิงที่ทศกัณฑ์รักมากที่สุดและมีความรักทศกัณฑ์คือ นางมณโฑ มเหสีของทศกัณฐ์นั่นเอง ไม่ว่าทศกัณฐ์คิดจะทำอะไรก็จะมาบอกให้นางมณโฑรู้และคอยปรึกษาก่อน แสดงว่าทศกัณฐ์แคร์ความรู้สึกของนางมณโฑมากกว่าใคร ไม่เคยดุด่าว่าแรง ๆ และให้เกียรตินางมณโฑเสมอ ถึงจะลักนางสีดามาได้ก็ไว้หน้านางมณโฑ ไม่ให้นางสีดามาอยู่ในวังด้วย และที่นางมณโฑรักทศกัณฐ์ก็ไม่ได้เป็นเพราะรูปลักษณ์ภายนอก แสดงว่าทศกัณฐ์ก็คงมีข้อดีอยู่บ้าง จึงทำให้างมณโฑซึ่งเป็นถึงนางอัปสรมาก่อนเกิดความรักในตัวทศกัณฐ์ได้ถึงขนาดนั้น และอาลัยทศกัณฐ์เมื่อต้องออกรบครั้งสุดท้าย และเมื่อทศกัณฑ์ใกล้สิ้นใจนั้นก็คิดถึงนางมณโฑเป็นคนแรกเช่นเคย โดยฝากนางมณโฑให้พิเภกช่วยดูแลก่อนใครเพื่อน
ปากสามขอฝากมณโฑด้วย | ช่วยบำรุงให้เป็นแก่นสาร |
ทั้งอัคคีกัลยายุพาพาล | ฝูงสนมบริวารทั้งนั้นฯ |
แม้ว่าหลายคนอาจจะกล่าวว่าทศกัณฐ์เห็นแก่ตัวและขี้ขลาด ไม่ยอมออกรบเองทั้งๆที่ตนไปลักนางสีดามาเป็นเหตุให้เกิดสงคราม ให้ญาติพี่น้องต้องออกรบจนถูกฆ่าตายหมด เมื่อไม่มีใครแล้วตนจึงต้องออกรบเองในที่สุดและถูกฆ่าตาย ทศกัณฐ์ถูกประนามมากในเรื่องนี้ แต่อันที่จริงคนเราก็รักตัวกลัวตายด้วยกันทั้งนั้น ยอมทำทุกอย่างเพื่อจะรักษาชีวิตตนเองไว้ ทศกัณฐ์ยังดีกว่าคนอีกหลายคนตรงที่ยอมรับชะตากรรมตั้งแต่ก่อนออกรบ แสดงความกล้าหาญ มีขัตติยมานะ และสำนึกผิดเมื่อใกล้จะสิ้นใจ กล่าวได้ว่าทศกัณฐ์ตายอย่างมีศักดิ์ศรีอย่างแท้จริง
ปากห้าจงดำรงทศพิธ อย่าทำทุจริตให้เหมือนพี่ ตัดโลบโอบอ้อมอารี แก่โยธีไพร่ฟ้าประชากร ปากหกว่าเจ้าจงอดโทษ ซึ่งกริ้วโกรธด่าว่ามาแต่ก่อน ............................................. ................................................... ตัวเราชั่วเองจึงเสียชนม์ แล้วได้ร้อนรนทั้งแผ่นภพ
ทศกัณฐ์เป็นกษัตริย์ที่นำความหายนะมาสู่บ้านเมือง ประชากรต้องออกรบ สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินมากมาย แต่เมื่อมองย้อนไปดูสาเหตุของสงคราม จะเห็นได้ว่าทศกัณฐ์เป็น กษัตริย์ที่ดี ปกครองบ้านเมืองอย่างสงบสุขมาตลอด แต่เมื่อพบนางสีดา ทศกัณฐ์จึงบกพร่องต่อหน้าที่ สถานการณ์นี้เปรียบได้กับกษัตริย์ถังเกาจงของจีนที่ปกครองบ้านเมืองมาอย่างสงบสุขมาตลอด 30 ปี วรรณคดีและศิลปะจีนรุ่งเรืองถึงขีดสุด แต่พระเจ้าถังเกาจงก็ลุ่มหลงในตัวหยางกุ้ยเฟยจนสิ้นชาติสิ้นราชวงศ์ แม้กษัตริย์ทั้งสองจะทำให้บ้านเมืองวุ่นวายเพราะความหลงใหลในหญิงสาว ไม่ได้หมายความว่าพระเจ้าถังเกาจงและทศกัณฐ์เป็นฝ่ายอธรรมเลย