บทเรียนจาก"เต้าหู้ไข่"...กับความรู้ ทัศนคติ สิทธิมนุษยชน และระบบสุขภาพ โดย ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
"การแพ้"ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่ถึงแก่ชีวิตได้หากแพ้รุนแรง ดังนั้นไม่ว่าจะแพ้ หรือสงสัยว่าแพ้อะไร ทางที่ดีควรระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยงไว้ก่อน จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าแพ้จริง และการพิสูจน์นั้นควรทำโดยผู้เชี่ยวชาญ และอยู่ในสถานที่ที่พร้อมดูแลหากเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์
ฉาก:
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในประเทศ xyz มีข่าวสังคมกระจายกันว่า เด็กกินอาหารโรงเรียนแล้วผื่นขึ้น ไปหาหมอ หมอคาดว่าอาจแพ้เต้าหู้ไข่ เด็กเลยแจ้งครู ครูไม่เชื่อพร้อมบอกว่าตนเองเป็นนักวิทยาศาสตร์ บังคับให้กินให้ดู ผื่นไม่ขึ้นเลยตราหน้าว่าโกหก ทำโทษให้กราบหน้าเสาธง ข่าวแพร่สะพัดถึงความไม่เหมาะสม แต่ยังบอกว่าตนเองทำถูกต้อง
ความรู้พื้นฐาน:
อเมริกาเค้ามีตัวเลขละเอียด คาดประมาณปีที่แล้วว่าผู้ใหญ่ร้อยละ 30 และเด็กร้อยละ 40 เป็นโรคภูมิแพ้ ไม่ว่าจะแพ้อะไรก็ตาม เช่น อากาศ ฝุ่นไร อาหาร แมลง ยา ฯลฯ นับเป็นโรคเรื้อรังลำดับต้นๆ ของประชาชนโดยรวมของเค้าเลยทีเดียว
เอาแค่อาการคัดจมูกจากโรคภูมิแพ้นั้น เค้าบอกว่าปีหนึ่งๆ ทำให้คนมาหาหมอถึง 16 ล้านครั้ง หยุดงานและหยุดเรียนรวม 6 ล้านวัน และเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจรักษาราว 17,500 ล้านเหรียญสหรัฐ
ในขณะที่แพ้อาหารนั้นทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาถึง 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ...สูงกว่าคัดจมูก
โดยตามสถิติแล้ว ถั่ว นม อาหารทะเล เป็น 3 สาเหตุยอดนิยม อย่างไรก็ตามคาดว่า 1 ใน 3 ของเด็กที่มีอาการแพ้อาหารจะแพ้อาหารหลายชนิด
เมื่อเจ็บป่วยย่อมมีการสูญเสีย ลองมาดูกันว่าแพ้แล้วตายจากอะไรบ้าง
สาเหตุการเสียชีวิตจากอาการแพ้นั้น ยามาเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยอาหาร และแมลง
ยาส่วนใหญ่ที่แพ้คือ เพนนิซิลลิน คาดประมาณว่ามีคนแพ้ราวร้อยละ 10
ตัวเลขเมืองเราค่อนข้างกระจัดกระจาย ยังไม่ได้รับการรวบรวมแบบเป็นระบบเท่าของเขา จึงขอไม่กล่าวถึง
ทัศนคติเชิงวิชาชีพ:
ในวงการหมอและบุคลากรทางการแพทย์เรามีหลักจริยธรรมวิชาชีพ อันประกอบด้วยหลักการกระทำใดๆ ที่ต้องก่อให้เกิดคุณประโยชน์ ไม่ก่อให้เกิดโทษ เคารพสิทธิและการตัดสินใจของผู้ป่วย รวมถึงไม่เลือกที่รักมักที่ชัง
สำหรับแวดวงครู ก็มีจรรยาบรรณวิชาชีพครูเช่นกัน กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศไว้ว่ามีหลักการอยู่ 5 ข้อดังนี้
1.จรรยาบรรณต่อตนเอง ครูต้องมีวินัยในตัวเอง ต้องพัฒนาวิชาชีพ บุคลิกภาพ และวิสัยทัศน์ให้ทันต่อการพัฒนาทางวิทยาการ เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอยู่เสมอ
2.จรรยาบรรณต่อวิชาชีพ ครูต้องรัก ศรัทธา ซื่อสัตย์สุจริต รับผิดชอบต่อวิชาชีพ และเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กร
3.จรรยาบรรณต่อผู้รับบริการ ครูต้องรัก เมตตา เอาใจใส่ ช่วยเหลือ ส่งเสริมให้กำลังใจ โดยไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญของศิษย์และผู้รับบริการ หรือเรียกรับ ยอมรับผลประโยชน์จากการใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ
4.จรรยาบรรณต่อผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ ครูพึงช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันอย่างสร้างสรรค์
5.จรรยาบรรณต่อสังคม ครูพึงปฏิบัติตนเป็นผู้นำในการอนุรักษ์และพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญา สิ่งแวดล้อม รักษาผลประโยชน์ส่วนรวม และยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน:
ตามหลักสากล เด็กๆ มีสิทธิในการมีชีวิตรอด มีสิทธิที่จะได้รับการพัฒนา มีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองสวัสดิภาพทั้งทางกายและใจ และมีสิทธิในการแสดงออกซึ่งการมีส่วนร่วมคิดร่วมทำในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับ ตัวเค้า
บทเรียนจาก "เต้าหู้ไข่":
"การแพ้"ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่ถึงแก่ชีวิตได้หากแพ้รุนแรง ดังนั้นไม่ว่าจะแพ้ หรือสงสัยว่าแพ้อะไร ทางที่ดีควรระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยงไว้ก่อน จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าแพ้จริง และการพิสูจน์นั้นควรทำโดยผู้เชี่ยวชาญ และอยู่ในสถานที่ที่พร้อมดูแลหากเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์
การดื้อดึงพิสูจน์ให้เห็นจริงในทุกเรื่องนั้นอาจก่อให้เกิด อันตราย หากไม่รู้อย่างเชี่ยวชาญลึกซึ้งว่าจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง และความเสี่ยงยิ่งเท่าทวีคูณหากตนเองไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะจัดการภาวะ ไม่พึงประสงค์ได้ กระบวนการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ดีนั้นจำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่องนี้เป็น สำคัญ มิฉะนั้นจะสถาปนาตนเป็นนักวิทยาศาสตร์ก็คงไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง
การดื้อดึงโดยยึด "ตัวกูของกู" เป็นที่ตั้ง กระทำในสิ่งที่อันตราย แถมยังเป็นอันตรายที่เกิดแก่ผู้อื่น (ไม่ใช่ตนเอง) ยังเป็นการละเมิดและลิดรอนสิทธิ และอาจขัดต่อจริยธรรมวิชาชีพ รวมถึงขัดต่อหลักกฎหมายบ้านเมือง
ท้ายที่สุดแล้ว เหตุการณ์ข้างต้นเกิดขึ้นจากทั้งเรื่อง "ความไม่รู้ในเรื่องการแพ้", "ความไม่รู้ตัวว่าตนเองไม่รู้อะไร", "การไม่คำนึงถึงหลักจริยธรรมวิชาชีพ", "การไม่ตระหนักถึงสิทธิของผู้อื่นและขื่อแปในบ้านเมือง" และ "การยึดติดกับทิฐิของตน"
สิ่งที่ทำไปนั้นก่อให้เกิดผลกระทบทั้งต่อตัวเด็ก และสังคมวงกว้าง ตอกย้ำประเด็นการมีอยู่ของความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่นำไปสู่การกระทำที่ไม่ ถูกต้องเหมาะสม แม้จะมีแหล่งข้อมูลและความรู้เรื่องต่างๆ พร้อมที่จะให้เข้าถึง ปรึกษา หรือนำไปใช้
แต่สุดท้ายก็แพ้ "ทิฐิแห่งตน"
นัยยะต่อการพัฒนาระบบสุขภาพ:
วันก่อนนั่งอ่านหนังสือวิชาการในการจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทางสังคมและความยากจน ชื่อ Inequality: What can be done? โดย Prof.Anthony B. Atkinson แล้วทำให้ฉุกคิดและสงสัยเป็นอย่างยิ่ง
"...ในการพัฒนาประเทศบนพื้นฐานเศรษฐกิจปัจจุบัน ข้อมูลเชิงประจักษ์บ่งชี้ชัดเจนว่า ไม่มีทางลดทอนปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ หากประเทศไม่ลงทุนทรัพยากรให้เพียงพอ..."
"...มีหลักฐานจากหลายประเทศบ่งบอกชัดเจนว่า หากรัฐดำเนินมาตรการทุกวิถีทางเพื่อลดค่าใช้จ่ายสำหรับเรื่องบริการสาธารณะ ต่างๆ จะก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมเพิ่มขึ้นตามมาอย่างแน่นอน และปัญหานั้นจะไปโฟกัสที่เรื่องการไม่สามารถดูแลคนที่จำเป็นต้องได้รับ บริการต่างๆ เหล่านั้น..."
แปลง่ายๆ คือ ท่ามกลางสถานการณ์ที่รัฐยิ้มกริ่มกับผลสัมฤทธิ์ในการลดรายจ่ายจากนโยบายที่ใช้กับประชาชนนั้น ประชาชนตาดำๆ จะน้ำตานอง
ในขณะที่ประเทศหนึ่งกำลังยิ้มแยกเขี้ยวเพราะใช้อำนาจเพื่อลด รายจ่ายด้านสุขภาพทุกวิถีทาง ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าควรลงทุนเพิ่ม พร้อมตีตราลงทะเบียนคนจน เพื่อง่ายต่อการตั้งเกณฑ์ให้บริการสาธารณะ และการตั้งเกณฑ์ให้ร่วมจ่ายหลากหลายวิธี...
นี่อาจเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นถึงการก้าวย่างสู่หลุมดำ ที่ต่างประเทศเคยประสบปัญหา และถ่ายทอดประสบการณ์เพื่อเตือนไว้แล้วล่วงหน้า
แต่เหตุใดเหล่าวงอำนาจจึงกระทำการเช่นนี้อยู่?
หรือมั่นใจ...ว่าประเทศเราเจ๋งกว่าเขา?
หรือพอใจ...ที่จะเห็นความเหลื่อมล้ำในสังคมเพราะแสดงถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ?
หรือเพราะเหตุผลอื่น...โปรดช่วยกันชี้แจงให้ทราบที!!!
แต่เหนืออื่นใด...ย่างก้าวดังกล่าวดูละม้ายคล้ายคลึงกับบทเรียนจาก "เต้าหู้ไข่" ที่ขับเคลื่อนจากมูลเหตุของ "ทิฐิแห่งตน" ใช่ไหม?
ผู้เขียน: ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Hfocus
https://www.hfocus.org/content/2016/09/12668