“สมดุลพลังงาน : ระบบไฟฟ้ารักเผื่อเลือก”
“สมดุลพลังงาน : ระบบไฟฟ้ารักเผื่อเลือก”
การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนถือเป็นแนวทางรักษ์โลกที่เป็นกระแสนิยมที่ทั่วโลกต่างขานรับ เพื่อช่วยกันเดินหน้าลดปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 ตามแนวทางของอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่เหนือสิ่งอื่นใดต้องคำนึงถึงความสมดุล และความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของแต่ละประเทศด้วย ยิ่งมีพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นมากเท่าไหร่ สัดส่วนไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าฐานก็จะต้องสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว เพื่อใช้เป็นแบ็คอัพการันตีความมั่งคงและสร้างความมั่นใจให้คนทั้งประเทศ ว่าจะมีไฟฟ้าใช้กันได้อย่างเพียงพอ
พลังงานหมุนเวียน เป็นพลังงานที่ได้จากแหล่งธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น น้ำ ลม แสงอาทิตย์ คลื่น หรือความร้อนใต้พิภพ ซึ่งเราสามารถนำแหล่งธรรมชาติเหล่านี้ มาผลิตกระแสไฟฟ้าในรูปของพลังงานหมุนเวียน กล่าวคือ เป็นไฟฟ้าที่ได้จากแหล่งพลังงานที่นำมาใช้หมุนเวียนได้ไม่มีวันหมด เป็นพลังงานสะอาด และส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยเมื่อเทียบกับไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแหล่งอื่น
แต่ความสะอาดของพลังงานหมุนเวียนก็มีข้อจำกัดทางธรรมชาติ ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานหมุนเวียนจึงไม่เสถียร ส่งผลกระทบกับระบบไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศที่ต้องตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงไฟฟ้าติดๆ ดับๆ ให้ต้องขวัญผวากันรายวัน ด้วยสาเหตุหลักมาจาก พลังงานหมุนเวียนนั้น มักมีกำลังการผลิตพร้อมจ่ายต่ำกว่าเป้าหมายกำลังการผลิตสูงสุดที่ระบุไว้
เราลองไปดูระบบไฟฟ้าของเยอรมนี…
เยอรมนีเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบของการจัดสมดุลพลังงานได้ดีเยี่ยมประเทศหนึ่งของโลก โดยระบบไฟฟ้าของเยอรมนีมีความมั่นคงสูงมากโดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองสูงถึง 100% โดยสามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงถึง 190,000 เมกะวัตต์ ในขณะที่ในแต่ละวัน คนเยอรมันทั้งประเทศมีความต้องการใช้ไฟฟ้าอยู่ราว 80,000 เมกะวัตต์ โดยเราจะเห็นว่าสัดส่วนไฟฟ้าที่มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนนั้นสูงถึง 100,000 เมกะวัตต์เลยทีเดียว ทำให้หลายคนเข้าใจว่าไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียนเพียงอย่างเดียว ก็เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าของคนทั้งประเทศแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าอื่นยังได้เลย... แต่ในความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะ กำลังการผลิตพร้อมจ่ายไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนของเยอรมนีนั้น มีกำลังการผลิตพร้อมจ่ายได้เพียง 40,000 เมกะวัตต์ต่อวันเท่านั้น
สถิติการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทั้งหมดของประเทศเยอรมนีในเดือนสิงหาคม ปี 2559 – https://www.energy-charts.de/power.htm
แล้วไฟฟ้าอีก 60,000 เมกะวัตต์หายไปไหน???
นี่เองเป็นสีสันของพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้าที่ท้าทายความสามารถของคนบริหารจัดการระบบ เพราะเอกลักษณ์ของพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์นั้น มีข้อจำกัดทางธรรมชาติ เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จะผลิตได้มากในช่วงหน้าร้อนวันละ 4-5 ชั่วโมง ส่วนหน้าฝนและหน้าหนาวแทบจะผลิตไฟฟ้าไม่ได้เลย ยิ่งในเวลากลางคืนด้วยแล้วการผลิตไฟฟ้าเท่ากับศูนย์ ความไม่สม่ำเสมอของพลังงานหมุนเวียนนี่เองเป็นคำตอบว่าไฟฟ้าในระบบหายไปไหนมากกว่าครึ่ง ความจริงไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่พลังงานหมุนเวียนไม่พร้อมจ่ายไฟได้ตามเป้าหมายกำลังการผลิตสูงสุดที่ระบุไว้ได้เท่านั้นเอง
แล้วคนเยอรมันใช้ไฟฟ้าอีกครึ่งหนึ่งจากไหน???
เพื่อให้คนเยอรมันมั่นใจว่าจะมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ ในระบบไฟฟ้าของประเทศ จึงยังต้องมีไฟฟ้าที่มาจากโรงไฟฟ้าหลักซึ่งใช้ฟอสซิลอย่างถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ รวมถึงพลังงานนิวเคลียร์ เป็นเชื้อเพลิง อีก 40,000 เมกะวัตต์ มาเติมเต็มในระบบควบคู่กันไปให้คนเยอรมันมีไฟฟ้าใช้ได้อย่างไม่ขาดแคลน ระบบไฟฟ้าของเยอรมนีจึงเป็นตัวอย่างที่ดีของการจัดสมดุลพลังงานระหว่างพลังงานหมุนเวียน และโรงไฟฟ้าฐาน โจทย์ใหญ่วันนี้ของหลายประเทศทั่วโลกคือ การมุ่งจัดสมดุลพลังงานให้กับระบบไฟฟ้าอย่างเหมาะสม กระจายความเสี่ยง ไม่พึ่งพาพลังงานจากแหล่งใดแหล่งหนึ่งมากจนเกินไป สมดุลพลังงานจึงเปรียบเสมือนแนวทางการจัดระบบไฟฟ้าแบบรักเผื่อเลือก คือต้องหันมารักพี่เสียดายน้อง ให้ความสำคัญกับทุกฝ่าย ประคองความสมดุล บนความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าของประเทศ ให้ทุกคนได้มีไฟฟ้าใช้กันอย่างยั่งยืนตลอดไป ซึ่งทิศทางของประเทศไทยเองนั้น ก็เริ่มปรับระบบไฟฟ้าตามแผนนโยบาย PDP 2015 ที่เน้นการเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าด้วยสมดุลพลังงานมากขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยได้พัฒนาและก้าวเดินไปพร้อมกับประชาคมโลก
แหล่งที่มา: https://www.energy-charts.de/power.htm