คนที่ไม่ยอมจ่ายค่าส่วนกลาง มีหนาวแน่ พ.ร.บ. จัดสรรที่ดินฉบับใหม่ ก.ค.2559
เตือน!! คนที่ไม่ยอมจ่ายค่าส่วนกลาง มีหนาวแน่ อาจโดนระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หลังมี พ.ร.บ. จัดสรรที่ดินฉบับใหม่ ก.ค.2559
แน่นอนครับเป็นหน้าที่สำหรับผู้ที่ซื้อที่ดินจัดสรรพร้อมบ้านจะต้องช่วยกับแบกรับค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคภายในโครงการที่ตนอาศัยอยู่ เนื่องจากพื้นที่ภายในโครงการเป็นพื้นที่ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล การจัดการดูแลพื้นที่สาธารณะในรั้วโครงการเหล่านี้จะไม่ได้ขึ้นกับเทศบาล สำนักงานเขต อบต. และอบจ.
มาดูกันคร่าวๆกับค่าใช้จ่ายก้อนโตที่ต้องใช้ภายในโครงการครับ เช่นค่าไฟฟ้าที่ติดตามถนน ค่าน้ำประปา ค่าจ้างคนสวน คนกวาดถนน ค่าจ้าง รปภ. และค่าซ่อมบำรุงอื่นๆอีกมากมาย สิ่งเหล่านี้เป็นรายจ่ายที่โครงการต้องจ่ายทุกเดือนเหมือนรายจ่ายในบ้านของเรานั่นเองครับ หากนิติบุคลของโครงการที่เราอาศัยไม่มีเงินที่จะชำระค่าใช้จ่ายเหล่านี้ แน่นอนครับหมู่บ้านของเราจะทรุดโทรมไม่น่าอยู่และเกิดปัญหาโจรผู้ร้ายแน่นอน
การจัดเก็บค่าส่วนกลาง
ตามพ.ร.บ. จัดสรรที่ดินฉบับใหม่ ให้นิติบุคคลของหมู่บ้านจัดเก็บค่าส่วนกลางเป็นรายเดือนจากผู้ซื้อบ้านบนที่ดินแปลงย่อยแต่ละแปลงในโครงการ สำหรับบ้านพร้อมที่ดินที่ยังขายไม่ได้ทางผู้จัดสรรที่ดินหรือเจ้าของโครงการจะต้องเป็นผู้ออกค่าใช้ส่วนกลางทุกแปลง
ในการจัดเก็บค่าส่วนกลางนั้นอาจจะเรียกเก็บตามความแตกต่างตามประเภทการใช้ประโยชน์ของที่ดินหรือเรียกเก็บตามขนาดพื้นที่เป็นตารางวาได้ตามระเบียบที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางกำหนดไว้ก็ได้
การคิดค่าส่วนกลางคร่าวๆ
สมมุติว่าค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ใช้ภายในโครงการประมาณเดือนละ 267,500 บาท ทั้งโครงการมีบ้านทั้งหมด 107 หลัง กำหนดให้บ้านแต่ละหลังมีพื้นที่ขนาดเท่าๆกัน 100 ตารางวา ดังนั้นทั้งโครงการมีพื้นที่ 107 X 100 ตารางวา = 10,700 ตารางวา ดังนั้นคิดค่าส่วนกลางแบบง่ายๆโดยเอาค่าใช้จ่ายทั้งหมดตั้งหารด้วยจำนวนพื้นที่ทั้งหมด 267500 / 10700 = 25 บาท สรุปคือพื้นที่ 1 ตารางวา จะต้องจ่ายค่าส่วนกลาง 25 บาทต่อเดือน
ปัญหาการค้างชำระค่าส่วนกลางที่มีมานาน จนบางครั้งส่งผลกระทบต่อการบริหาร จัดการ ดูแลบำรุงรักษาสาธารณูปโภคของนิติบุคคลบ้านจัดสรรหลายๆแห่ง แต่ล่าสุดได้มีพระราชบัญญัติ การจัดสรรที่ดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 ซึ่งจะใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนด 60 วันนับแต่วันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132 ตอนที่ 92 ก ลงวันที่ 25 กันยายน 2558)
เมื่อได้ออกใบอนุญาตให้ผู้ใดทําการจัดสรรที่ดินแล้ว ให้คณะกรรมการจัดส่งใบอนุญาตพร้อมทั้งแผนผัง โครงการ และวิธีการที่คณะกรรมการอนุญาตไปยังพนักงานเจ้าหน้าที่แห่งท้องที่ซึ่งที่ดิน จัดสรรนั้นตั้งอยู่โดยเร็ว เพื่อให้จดแจ้งในโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการว่าที่ดินนั้นอยู่ภายใต้การจัดสรรที่ดิน และเมื่อได้ออกโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ที่แบ่งแยกเป็นแปลงย่อยแล้ว ให้จดแจ้งไว้ในโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ที่แบ่งแยกทุกฉบับ
สําหรับที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคและที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะ ให้จดแจ้งด้วยว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคหรือที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะ ตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาตให้ทําการจัดสรรที่ดิน แล้วแต่กรณี
ผู้จัดสรรที่ดินจะพ้นจากหน้าที่บํารุงรักษาสาธารณูปโภค ก็ต่อเมื่อได้ดําเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ภายหลังจากครบกําหนดระยะเวลาที่ผู้จัดสรรที่ดินรับผิดชอบการบํารุงรักษาสาธารณูปโภคแล้วตามลําดับ ดังต่อไปนี้
ผู้ซื้อที่ดินจัดสรร จัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตามพระราชบัญญัตินี้หรือนิติบุคคลตามกฎหมายอื่น เพื่อรับโอนทรัพย์สินดังกล่าวไปจัดการและดูแลบำรุงรักษาภายในเวลาที่ผู้จัดสรรที่ดินกําหนด ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 180 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากผู้จัดสรรที่ดิน
ผู้จัดสรรที่ดินได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการให้ดําเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อการบํารุงรักษา สาธารณูปโภค หรือดําเนินการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นสาธารณประโยชน์ ซึ่งการดําเนินการนั้นให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางกําหนด
ทั้งนี้ ต้องกําหนดให้ผู้จัดสรรที่ดินรับผิดชอบจํานวนเงินค่าบํารุงรักษาสาธารณูปโภคส่วนหนึ่งด้วย เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดหรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสาขาจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตาม(1) แล้ว ให้ทรัพย์สินอันเป็นสาธารณูปโภคตกเป็นของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดแจ้งในโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ หากไม่ได้โฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์มา ให้ถือว่าสูญหาย และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบแทนเพื่อดําเนินการ ดังกล่าวต่อไป
ผู้ที่ค้างชําระเงินค่าบํารุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป อาจถูกระงับการให้บริการหรือการใช้สิทธิในสาธารณูปโภค และในกรณีที่ค้างชําระตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป พนักงานเจ้าหน้าที่ มีอํานาจระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในที่ดินจัดสรรของผู้ค้างชําระจนกว่าจะชําระให้ครบถ้วน ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางกําหนด