พุทโธ + ธาตุ ๔
ตอบปัญหาธรรมเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน...
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ : ขอท่านได้อธิบายเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม ดังที่ท่านอาจารย์สอนมา
หลวงพ่อพุทธ:โดยหลักการที่ท่านอาจารย์เสาร์ ได้อบรมสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหามานั้น ยึดหลักการบริกรรมภาวนา พุทโธ และอานาปานสติ เป็นหลักปฏิบัติ
การบริกรรมภาวนา ให้จิตอยู่ ณ จุดเดียว คือ พุทโธ ซึ่งพุทโธ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นกิริยาของจิต เมื่อจิตมาจดจ้องอยู่ที่คำว่า พุทโธ ให้พิจารณาตามองค์ฌาน ๕
การนึกถึง พุทโธ เรียกว่า วิตก จิตอยู่กับ พุทโธ ไม่พรากจากไป เรียกว่า วิจาร หลังจากนี้ ปีติ และความสุข ก็เกิดขึ้น เมื่อปีติและความสุขเกิดขึ้นแล้ว จิตของผู้ภาวนา ย่อมดำเนินไปสู่ความสงบ เข้าไปสู่อุปจารสมาธิ และ อัปปนาสมาธิ ลักษณะที่จิตเข้าสู่ อัปปนาสมาธิ ภาวะจิตเป็นภาวะสงบนิ่ง สว่าง ไม่มีกิริยาอาการแสดงความรู้ ในขั้นนี้ เรียกว่า จิตอยู่ในสมถะ
ถ้าจะเรียกโดยจิตก็เรียกว่า อัปปนาจิต ถ้าจะเรียกโดยสมาธิก็เรียกว่า อัปปนาสมาธิ ถ้าจะเรียกโดยฌานก็เรียกว่า อัปปนาฌาน บางท่านนำไปเทียบกับฌานขั้นที่ ๔
จิตในขั้นนี้เรียกว่า จิตอยู่ในอัปปนาจิต อัปปนาสมาธิ อัปปนาฌาน จิตย่อมไม่มีความรู้อะไรเกิดขึ้น นอกจากมีสภาวะรู้อยู่อย่างเดียวเท่านั้น
เมื่อนักปฏิบัติผู้ที่ยังไม่ได้ระดับจิต เมื่อจิตติดอยู่ในความสงบนิ่งเช่นนี้ จิตย่อมไม่ก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาได้
เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านอาจารย์เสาร์ผู้เป็นอาจารย์สอนกรรมฐานในสายนี้ จึงได้เดินอุบายสอนให้ลูกศิษย์พิจารณากายคตาสติ เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยการพิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น โดยน้อมนึกไปในลักษณะของความเป็นของปฏิกูลน่าเกลียด เป็นของโสโครก จนกระทั่งจิตมีความสงบลง รู้ยิ่งเห็นจริงตามที่ได้พิจารณา
เมื่อผู้ปฏิบัติได้พิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เห็นสิ่งปฏิกูล ในที่สุดได้เห็นจริงในสิ่งนั้นว่าเป็นของปฏิกูล โดยปราศจากเจตนาสัญญาแล้ว ก็เกิดนิมิต เห็นสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครกจริง ๆ โดยปราศจากสัญญาเจตนาใดๆ ทั้งสิ้น จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้พิจารณาเห็นอสุภกรรมฐาน
เมื่อผู้ปฏิบัติพิจารณาอสุภกรรมฐานจนชำนิชำนาญ จนรู้ยิ่งเห็นจริงในอสุภกรรมฐานนั้นแล้ว ในขั้นต่อไปท่านอาจารย์เสาร์ได้แนะนำให้พิจารณาร่างกายให้เห็นเป็นธาตุ ๔ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ จนกระทั่งเห็นเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ
เมื่อจิตรู้ว่าเป็นแต่เพียงสักแต่ว่าธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ จิตก็จะเกิดความรู้ขึ้นมาว่า ตามที่พูดกันว่า สัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไม่มี มีแต่ความประชุมพร้อมของธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้น
เมื่อเป็นเช่นนั้น จิตก็ย่อมเกิดความคิดขึ้นมาได้ว่า ในตัวของเรานี้ ไม่มีอะไร เป็นอนัตตาทั้งสิ้น มีแต่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้น
ถ้าหากภูมิจิตของผู้ปฏิบัติจะมองเห็นแต่เพียงกายทั้งหมดนี้ เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ รู้แต่เพียงว่าธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ และภูมิจิตของท่านอยู่แค่นั้น ก็มีความรู้เพียงแค่ขั้นสมถกรรมฐาน
และในขณะเดียวกันนั้น ถ้าภูมิจิตของผู้ปฏิบัติปฏิวัติความรู้ไปสู่พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์ อนัตตา ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง
ถ้าหากมี อนิจจสัญญา ความสำคัญมั่นหมายว่าไม่เที่ยง ทุกขสัญญา ความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นทุกข์ อนัตตสัญญา ความสำคัญมั่นหมายว่า ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ภูมิจิตของผู้ปฏิบัตินั้นก็ก้าวเข้าสู่ภูมิแห่งวิปัสสนา
เมื่อผู้ปฏิบัติมาฝึกฝนอบรมจิตของตนเองให้มีความรู้ด้วยอุบายต่าง ๆ และมีความรู้แจ้งเห็นจริงในลักษณะของอสุภกรรมฐานโดยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง จนมีความรู้แจ้งเห็นจริงในลักษณะที่ว่า กายเรานี้เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มีความเห็นว่า ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็เป็นแต่เพียงธาตุ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล เรา เขา
ด้วยอุบายดังกล่าวแล้ว ผู้ปฏิยัติยึดหลักอันนั้น ภาวนาบ่อยๆ กระทำให้มากๆ พิจารณาให้มากๆ พิจารณาย้อนกลับไปกลับมา จิตจะค่อยๆ ก้าวเข้าสู่ภูมิความรู้ภูมิธรรม เป็นลำดับๆ ไป หลักการปฏิบัติของท่านอาจารย์เสาร์ ก็มีดังนี้
ศิษย์องค์สุดท้ายของหลวงปู่เสาร์ เจ้าคุณชินวงศจารย์ ซึ่งเป็นลูกศิษย์คนสุดท้ายของท่านอาจารย์เสาร์
อย่างครูบาอาจารย์ของเราที่ท่านมาแสดงธรรมให้ฟัง เช่น หลวงปู่สิม หลวงปู่แว่น หรือท่านพระอาจารย์เหรียญ ท่านพระอาจารย์บัวพา เคยผ่านสำนักของครูบาอาจารย์มั่น อาจารย์เสาร์มาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกศิษย์ต้นของท่านพระอาจารย์เสาร์ที่ยังเหลือค้างอยู่เวลานี้ ก็คือท่านอาจารย์บัวพาเพียงองค์เดียว
นอกนั้นก็สึกหาลาเพศล้มหายตายจากไป ถ้าจะนับอีกองค์ที่ ๒ ก็คือเจ้าคุณชินวงศาจารย์ ท่านอาจารย์บัวพาก็ไม่ค่อยเทศน์ ไม่ค่อยพูด เพราะติดนิสัยท่านอาจารย์เสาร์แต่ที่แหวกแนวก็คือ เจ้าคุณชินวงศาจารย์ (พุท ฐานิโย) ซึ่งเป็นลูกศิษย์คนสุดท้ายของท่านอาจารย์เสาร์ (หลวงพ่อพูดถึงท่านเอง)
หลวงปู่มั่นเทศน์งานศพหลวงปู่เสาร์ ลูกศิษย์พระอาจารย์มั่นต้องปฏิบัติ อย่างพระอาจารย์มั่นปฏิบัติ
จำได้ว่างานศพหลวงปู่เสาร์ ตอนนั้นหลวงพ่อบวชเป็นพระได้พรรษาหนึ่ง อยู่วัดสระปทุม ใครต่อใครเขาก็ไปกัน แต่พระอุปัชฌาย์ให้หลวงพ่อเฝ้ากุฏิ เลยไม่ได้ไปกับเขา พอพระอุปัชฌาย์ท่านไป กลับมาก็มาเทศน์ให้ฟัง
เจ้าคุณปัญญาพิศาลเถรกับหลวงปู่เสาร์นี่ท่านให้คำมั่นสัญญากัน ถ้าใครตายก่อนให้ไปทำศพ หลวงปู่เสาร์ตายก่อนจึงทำที่วัดบูรพาฯ
และอีกอย่างหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ท่านอาจารย์เสาร์ได้มรณภาพลงแล้วก็ได้ฌาปนกิจคือ ถวายพระเพลิงเผาศพของท่านอาจารย์เสาร์ ในงานนั้นท่านอาจารย์มั่นก็ไปร่วมในงานด้วยในฐานะที่ท่านก็เป็นอันเตวาสิกของท่านอาจารยเสาร์ ซึ่งอยู่ในระดับผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง
ในขณะที่ท่านแสดงธรรม ท่านอาจารย์มั่นแสดงธรรมว่า "เมื่อสมัยท่านอาจารย์เสาร์ยังมีชีวิตอยู่ ท่านก็เป็นครูบาอาจารย์อบรมสั่งสอนเรา บัดนี้ท่านอาจารย์เสาร์ได้มรณภาพไปแล้ว ก็ยังเหลือแต่เราพระอาจารย์มั่น จะเป็นอาจารย์อบรมสั่งสอนหมู่ในสายนี้ต่อไป ดังนั้น ท่านผู้ใดสมัครใจเป็นลูกศิษย์ท่านอาจารย์มั่นต้องปฏิบัติตามปฏิปทาของท่านอาจารย์มั่น
ถ้าใครไม่สมัครใจหรือปฏิบัติตามไม่ได้ อย่ามายุ่งกับท่านอาจารย์มั่นเป็นอันขาด ทีนี้ถ้าเราคืออาจารย์มั่นตายไปแล้ว ก็ยังเหลือแต่ท่านสิงห์นั่นแหละ พอจะเป็นครูบาอาจารย์สั่งสอนหมู่ได้"
ท่านเทศน์ไว้อย่างนี้จำไว้นะ ไม่ทราบว่าสหธรรมิกซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์มั่นจะจำได้หรือเปล่า ถ้าหากจำได้ก็ขออภัยด้วย ถ้าหากจำไม่ได้ก็ลองเอาไปคิดเป็นการบ้านดูซิว่า ปฏิปทาของท่านอาจารย์มั่น ท่านปฏิบัติอย่างไร แล้วเราควรจะดำเนินตามแนวทางของท่านอย่างไร จึงจะได้ชื่อว่าเป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์มั่น
ท่านทั้งหลายลองคิดดูซิว่า สมัยที่ท่านอาจารย์มั่น ท่านอาจารย์เสาร์ยังอยู่ บางสิ่งบางอย่างที่เราอนุโลมตามความต้องการของชาวโลกแทบจะไม่ปรกฏ แม้แต่การทำบุญมหาชาติ การจัดงานวัดมีมหรสพต่าง ๆ เราไม่เคยมี มาสมัยปัจจุบันนี้ครูบาอาจารย์ก็เป็นนักธุรกิจไปกันเสียไม่ได้หยุดจากเหนือไปใต้ จากใต้ไปเหนือไปเที่ยวโปรดญาติโยม
แต่ไม่แน่นักว่าไปเที่ยวให้ญาติโยมโปรด หรือไปโปรดญาติโยมกันแน่ก็ไม่ทราบ อันนี้ก็คือของฝากให้ลูกศิษย์ครูบาอาจารย์ได้นำไปพิจารณาเป็นการบ้าน
คัดจากหนังสือ ฐานิยตฺเถรวตฺถุ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
คัดลอกจาก: ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล พระปรมาจารย์ใหญ่แห่งกองทัพธรรมพระกัมมัฏฐาน