จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ในแถบภาคอีสาน เล่ากันว่ามักจะนำใบกรุงเขมา หรือหมาน้อย มาทำอาหารให้คนไข้รับประทาน เพราะจะช่วยให้คนไข้สดชื่นฟื้นไข้ได้เร็ว ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเชื่อถือได้ เพราะจากการค้นคว้าจากตำราโบราณ และงานวิจัยที่มีการศึกษาเรื่องของกรุงเขมาพบว่ามีสรรพคุณอย่างหลากหลาย
มีการบันทึกในหนังสือที่เกี่ยวกับสรรพคุณของสมุนไพรหลายเล่มว่า กรุงเขมา มีสรรพคุณในการรักษาโรคกระเพาะอาหาร แก้ร้อนใน และรักษาโรคตับ (วุฒิ, 2540 : กัญจนา และ อร่าม, 2541) ในประเทศอินโดนีเซียใช้รากกรุงเขมาต้มน้ำดื่ม แก้ปวดท้อง ส่วนของใบ ตำใส่น้ำตั้งทิ้งไว้ให้เป็นเยลลี่ กินเป็นยาช่วยย่อย แก้ปวดท้อง (ก่องกานดา และ ลีนา, 2545) และในตำรายาโบราณของโรงเรียนแพทย์แผนโบราณ วัดพระเชตุพนฯ วัดโพธิ์ ท่าเตียน
กรุงเทพฯ ได้บันทึกว่า รากของกรุงเขมามีกลิ่นหอมสุขุม ใช้ปรุงเป็นยารับประทานดับพิษไข้ทั้งปวง แก้ดีรั่ว ดีล้น ดีซ่าน บำรุงอวัยวะให้แข็งแรง แก้ลม เลือดกำเดา แก้โรคตา เป็นยาอายุวัฒนะ (ร.ร.แพทย์แผนโบราณ, 2537) นอกจากนั้น ยังมีคุณสมบัติช่วยลดอาการผื่นคัน และอาการบวมได้ (กมลรัตน์, มปพ)
ส่วนในตำราโอสถพระนารายณ์พบว่า กรุงเขมา เป็นส่วนประกอบของตำรับยาสำหรับแก้เตโชธาตุพิการ ซึ่งจะกล่าวไว้เป็นบทกลอน ดังนี้
ถ้ามิถอยไซ้ให้เอาโกฐสอ โกฐเขมา รากพิลังกาสา ผลราชดัด ผลสรรพพิศม์ ผลสวาด จุกโรหินี รากกรุงเขมา รากมะแว้งเครือ รากจิงจ้อใหญ่ มหาหิงคุ์ ผลจันทน์เทศ เทียนดำ เทียนขาว ยา 14 สิ่ง เสมอภาค ทำเป็นจุลละลายน้ำนมโคก็ได้ ส้มมะงั่วก็ได้ (ชยันต์ และคณะ, 2542)
หรืออีกสูตรที่ใช้แก้ลมอัมพาต (ลมไม่เดิน)
ถ้ามิถอยให้เอาดีงูเหลือม พิมเสน สิ่งละส่วน รากพริกไทย รากกรุงเขมา สิ่งละ 2 ส่วน ทำเป็นจุลละลายน้ำผึ้งรวงกินพอควร (ชยันต์ และคณะ, 2542)
หรือจากตำราโรคนิทาน ก็พบว่า มีการใช้กรุงเขมาเป็นส่วนประกอบในตำรับยารักษาโรคหลายโรค เช่น โรคหัวใจ แก้ไอ แน่นท้อง จุกเสียด ริดสีดวง ท้องร่วง โรคเลือด แต่ส่วนใหญ่จะเป็นตำรับยาที่ประกอบด้วยสมุนไพรหลายชนิด (เพ็ญนภา และ กาญจนา, มปพ)
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรงเขมา หรือเครือหมาน้อย
นอกจากจะมีการกล่าวถึงสรรพคุณในตำราของแพทย์แผนโบราณแล้ว ในแพทย์แผนปัจจุบันก็ได้มีการศึกษาถึงสรรพคุณของกรุงเขมาด้วย ดังที่ เภสัชกรหญิงจุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก ได้บันทึกไว้ในหนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 130 ชนิด ว่า กรุงเขมา มีสรรพคุณหลายอย่างและใช้ได้ทุกส่วนของต้น คือส่วนของราก ใช้ลดน้ำตาลในเลือด แก้ไข้ แก้ลม แก้เสมหะ บำรุงหัวใจ แก้ท้องร่วง แก้บวม ขับปัสสาวะ เป็นยาระบาย ส่วนของต้น ดับพิษไข้ แก้ระดูพิการ ส่วนของเปลือกและแก่น บำรุงโลหิต แก้ไข้ แก้ระดูพิการ ส่วนของเนื้อไม้ รักษาโรคปอด โรคโลหิตจาง และส่วนของใบ แก้หิด พอกแผลฝี ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของกรุงเขมาซึ่งมีดังนี้ ลดน้ำตาลในเลือด ทำให้หัวใจเต้นช้าลง กดระบบทางเดินหายใจ ต้านฮิสตามีน ยับยั้งการหดเกรงของกล้ามเนื้อ ต้านการชัก เพิ่มน้ำลาย ม่านตาขยาย กดระบบประสาทส่วนกลาง กดระบบทางเดินหายใจ บำรุงหัวใจ ลดความดันโลหิตสูง ขับปัสสาวะ ต้านเชื้อรา แบคทีเรีย ยีสต์ คลายกล้ามเนื้อเรียบ และได้มีการทดสอบความเป็นพิษ เมื่อฉีดสารสกัดใบและกิ่งด้วยน้ำ หรือแอลกอฮอล์เข้าช่องท้องหนูถีบจักร ขนาดต่ำที่สุดที่เป็นพิษคือ 1 มิลลิลิตร ต่อตัว และเมื่อฉีดสารสกัดแอลคาลอยด์เข้าหลอดเลือดหนูถีบจักร ขนาดที่สัตว์ทดลองทนได้ คือ 50 มิลลิกรัม ต่อกรัม และในกระต่ายเมื่อฉีดสารสกัดรากด้วยแอลกอฮอล์-น้ำ (1:1) เข้าช่องท้อง หรือใต้ผิวหนัง พบว่า ขนาด 10 กรัม ต่อกิโลกรัม ไม่พบพิษ (Roy et al, 1952 อ้างถึงโดย จุไรรัตน์, 2548) ส่วนในกระต่าย พบว่าเมื่อฉีดสารสกัดด้วยน้ำเข้าหลอดเลือด ขนาด 0.4 กรัม ต่อตัว ไม่พบพิษ (Makkhasmit et al, 1971 อ้างถึงโดย จุไรรัตน์, 2548) และจากรายงานผลการทดลองในประเทศอินเดีย เมื่อปี ค.ศ.1979 ใช้สารสกัดจากส่วนเหนือดินของกรุงเขมาที่สกัดด้วยน้ำ และแอลกอฮอล์ (1:1) ในสัตว์ทดลอง พบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลองได้ (Tripathai et al, 1979 อ้างถึงโดย จุไรรัตน์, 2548)
สารสำคัญที่พบในกรุงเขมา พบว่ารากมีปริมาณของแอลคาลอยด์สูง แอลคาลอยด์ที่พบมี hayatine hyatinine sepurrine bevurine cissampeline และ pelosine และยังพบ Quercitol และ sterol (จุไรรัตน์, 2548) สาร hayatine แสดงฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อ และลดความดันเลือด (ชยันต์ และคณะ, 2542) ในพืชชนิดนี้มีสารสำคัญคือ alkaloid cycleine ซึ่งมีฤทธิ์ต่อหัวใจ (ก่องกานดา และ ลีนา, 2545)
การที่น้ำคั้นที่ได้จากการขยี้ใบกรุงเขมากับน้ำ เมื่อตั้งทิ้งไว้ 10-15 นาที สามารถเซ็ตตัวเป็นเยลที่มีลักษณะคล้ายวุ้นได้ เพราะในใบของกรุงเขมามีเพคตินเป็นองค์ประกอบ และในปี 2546 พิเชษฐ ก็ได้ทำการศึกษาหาปริมาณของเพคตินที่มีในหมาน้อย พบว่าจากในหมาน้อย 100 กรัม สามารสกัดเป็นเพคตินได้สูงถึง 30 กรัม หรือคิดเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ โดยน้ำหนัก ซึ่งจากคุณสมบัติของเพคตินเองสามารถดูดซับคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดได้ ซึ่งหากรับประทานจะช่วยลดปัญหาหลายอย่าง เช่น ปริมาณคอเลสเตอรอล แล้วหากมีการนำมาปรุงเป็นอาหารหรือของหวานให้เด็กนั้นเราจะได้ทั้งเป็นอาหารกินเล่นที่มีประโยชน์ ไม่ใช่แค่วุ้นใส่น้ำตาล อย่างที่เด็กรับประทานอยู่ทุกวันนี้ จะเป็นขนมที่พ่วงยาบำรุง ยาแก้ร้อนใน รวมไปถึงแก้ปวดท้องได้อีกด้วย จะเห็นว่ามีประโยชน์มากมายจากการรู้จักกับกรุงเขมาพื้นท้องถิ่นตัวนี้
จากที่กล่าวมาจะเป็นว่ากรุงเขมาเป็นพืชป่าที่มีคุณค่าทางยาอีกชนิดหนึ่งที่น่าจะมีการนำมาปลูกไว้บริโภคในครัวเรือน เพื่อเป็นการช่วยอนุรักษ์พืชท้องถิ่นให้คงอยู่กับเราไปได้นานเท่านาน เพราะจากการที่ได้ไปเดินสำรวจเพื่อหากรุงเขมาจากป่าธรรมชาติด้วยตัวเอง ปรากฏว่าเดินจนเหนื่อยทั้งที่เลือกเดินสำรวจในแถบที่มีการบอกเล่าว่าเคยมีกรุงเขมาอยู่อย่างดาษดื่น ก็ยังไม่ปรากฏเห็นต้นกรุงเขมาแม้แต่ต้นเดียว ที่จะพบบ้างก็ตามที่นาหรือที่สวนที่มีเจ้าของนำมาปลูก นั่นก็เป็นผลมาจากการบุกรุกพื้นที่แหล่งที่อยู่ของเดิมของกรุงเขมาใช้ในการปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น มันสำปะหลัง ยางพารา หรือพืชอื่นๆ ที่เมื่อปลูกต้องรื้อป่าออกทำให้พื้นที่ป่าลดลงอย่างเร็ว ยิ่งการปลูกมันสำปะหลังกับยางพาราที่มีการไถพรวนดิน ทำให้เหง้าของหมาน้อยลอยขึ้นมาและตายในที่สุด แต่ยังไม่ร้ายเท่ากับการใช้ยากำจัดวัชพืช เมื่อมีการกำจัดวัชพืชมากในการปลูกยางพารา ซึ่งจะทำลายพืชคลุมดินทั้งหมด รวมไปถึงหมาน้อยที่เป็นพืชที่อยู่ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ด้วย และจากการสอบถามในกลุ่มผู้ผลิตต้นกล้าจำหน่ายได้ความว่า ปัจจุบันในป่าที่อยู่ใกล้หมู่บ้านไม่ค่อยพบต้นกรุงเขมาแล้ว ที่จะพบได้ก็ต้องเข้าไปในป่าลึกหรือบนเขาที่ยังไม่มีใครเข้าไปรบกวนป่านั่นเอง หากเราช่วยกันปลูกคนละต้นสองต้นไว้ที่บ้าน จะเป็นการช่วยกันอนุรักษ์พันธุ์ด้วยแล้วยังมีพืชสมุนไพรที่มีประโยชน์หลายอย่างไว้ที่บ้านของเราด้วย
สำหรับการปลูกกรุงเขมานั้นเป็นเรื่องไม่ยุ่งยาก เพราะกรุงเขมาเป็นพืชป่าที่ทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดี ชอบดินร่วนมีอินทรียวัตถุสูง หรือดินปนลูกรัง ชอบอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ แต่ไม่ชอบที่แฉะน้ำขัง หากมีโอกาสเข้าไปในป่าแล้วพบต้นกรุงเขมาก็สามารถขุดแบ่งต้นจากป่ามาปลูกก็ได้ หรือถ้าไม่มีโอกาสได้เข้าไปในป่า ก็สามารถเลือกซื้อต้นกล้ากรุงเขมาตามร้านจำหน่ายกล้าไม้ได้ ในราคาประมาณต้นละ 10-15 บาท อาจจะปลูกในกระถางหรือปลูกลงดินเลยก็ได้ กรุงเขมาเป็นพืชป่าจึงไม่ชอบปุ๋ยเคมีเพราะว่าความเข้มข้นปุ๋ยสูง จะทำให้ต้นกรุงเขมาเปื่อยและตายได้ ดังนั้น จึงควรให้ปุ๋ยชีวภาพเป็นหลัก และเนื่องจากกรุงเขมาเป็นไม้เถา ดังนั้น เมื่อนำต้นกล้ากรุงเขมามาปลูกเมื่อเริ่มโตและเริ่มเลื้อยอาจจะเอากระถางไปวางไว้ใกล้ๆ ต้นไม้ใหญ่เพื่อให้ต้นกรุงเขมาเลื้อยขึ้นต้นไม้ใหญ่ หรือทำค้างให้เช่นเดียวกับการปลูกถั่ว ปลูกบวบ ก็ได้ ส่วนเรื่องศัตรูของกรุงเขมาที่พบเป็นหลักคือ หนอนกระทู้ และหอยทาก จะเจอกับปัญหานี้โดยเฉพาะในฤดูฝน ในช่วงต้นกล้าปลูกใหม่ แต่ถ้าต้นโตแข็งแรงแล้ว แม้จะเจอหนอนหรือหอยก็ไม่มีผลอะไร