ข่มขืนแล้วประหารไม่ช่วยอะไร ? รวม 5 ประเทศสุดโหด ฉีดยาปิกาจู ปาหินใส่ ผลเป็นไงมาดูกัน
การข่มขืนนับเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงที่สุดอีกอาชญากรรมหนึ่งที่มนุษย์จะทำกับมนุษย์ได้ ทุกครั้งที่มีข่าวการข่มขืนจึงมักสะเทือนขวัญผู้คนในสังคมเป็นอย่างมาก และระยะหลัง ๆ มาคนในสังคมโดยเฉพาะในโซเชียลมีเดียพากันแสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ข่มขืนต้องประหารเท่านั้น!
แต่ทุกสิ่งย่อมมีสองด้าน มีฝั่งผู้สนับสนุนโทษประหาร ก็ต้องมีฝั่งที่ออกมาตั้งคำถามกลับว่าการประหารใช่วิธีแก้ปัญหาจริงหรือ ? ถ้าประหารแล้วอัตราการข่มขืนจะลดลงจริงม้้ย ? วันนี้มินิมอร์ขออาสาพาทัวร์ 5 ประเทศทั่วโลกที่มีโทษหนักมากสำหรับการข่มขืน มาดูกันเถอะว่าผลของการมีโทษร้ายแรงจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
hercampus.com
1.จีน : ใช้ปิกาจูในทางที่ผิด งั้นทำให้ใช้ไม่ได้ซะเลยแล้วกัน!
แดนมังกรเป็นอีกสถานที่หนึ่งบนโลกใบนี้ที่ 'ข่มขืน = ประหาร' เท่านั้น วิธีการประหารจะว่าไม่โหดก็ไม่โหดเพราะเขาใช้วิธีการยิงเป้า แต่ตำแหน่งที่เลือกยิงนี่สิ คือบริเวณเส้นประสาทตรงกระดูกไขสันหลังตรงด้านล่างลำคอ (อื้อหือ แค่คิดว่าโดนทุบตรงเส้นประสาทที่ไวต่อความรู้สึกก็สยองแล้วแฮะ) รวมถึงอัตราโทษที่เบากว่านั้นอีกระดับคือการทำให้น้องชายใช้การไม่ได้ไปตลอดชีวิต (นี่เบาแล้วเหรอ!?)
อย่างไรก็ตามอัตราการข่มขืนในประเทศจีนก็ไม่ได้น้อยกว่าประเทศอื่น ๆ อย่างมีนัยอะไร ผู้ชาย 23% ในประเทศจีนยอมรับว่าพวกเขาเคยข่มขืนผู้อื่นอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต ประชากรจีนจำนวนมหาศาล 1 พัน 3 ล้านกว่าคน ถ้าผู้ชาย 23 % เคยข่มขืนผู้อื่น มันก็เป็นตัวเลขที่น่าตกใจมาก เพราะผู้ชายทั้งหมด 312,110,000 ( ใช่ อ่านไม่ผิดสามร้อยสิบสองล้านคน) เคยข่มขืนผู้อื่นมาแล้วทั้งนั้น (โอยย ไม่กลัวโดนตัดน้องปิ๊กาจูกันบ้างหรือไงเนี่ย!)
2.เนเธอร์แลนด์ : แค่ขโมยจูบคนอื่น ก็นับเป็นการข่มขืนได้แล้ว
แม้โทษข่มขืนในเนเธอร์แลนด์จะไม่ได้รุนแรงเหมือนอย่างในจีน แต่เขาก็เด็ดขาดในแง่ข้อกำหนดทางกฎหมาย การขโมยจูบแบบลิ้นพันลิ้น (อิโรติกจัง) ก็ถือว่าเป็นการข่มขืนผู้อื่นแล้ว! ที่สำคัญอาชีพผู้ขายบริการทางเพศ ถึงแม้จะเลือกขายบริการ แต่็มีสิทธิเลือกได้ว่าจะให้บริการกับใคร ถ้ามีการขืนใจเกิดขึ้นก็นับเป็นการข่มขืนที่ต้องได้รับโทษทางกฎหมายเช่นกัน
อย่างนี้คงไม่มีใครกล้าล่วงละเมิดใครล่ะสิ ? มินิมอร์เสียใจที่ต้องบอกว่าสถิติจาก The European Union Agency for Fundamental Rights กลับบอกว่าเนเธอร์แลนด์เป็น ประเทศที่มีอัตราเฉลี่ยการข่มขืนเกือบสูงที่สุดในยุโรป โดยปกติผู้หญิงยุโรปทั่วไปมีอัตราล่วงละเมิดประมาณ 11% ในขณะที่เนเธอร์แลนด์มีอัตราผู้หญิงถูกล่วงละเมิด 18% เชียวล่ะ
3.อินเดีย : ข่มขืนต้องประหารเท่านั้น
พูดถึงอินเดียแล้ว ใคร ๆ ก็รู้ดีว่าเป็นประเทศที่อันตรายที่สุดสำหรับผู้หญิงประเทศหนึ่ง ก่อนหน้าปี 2013 อินเดียก็ไม่ได้มีโทษประหารชีวิตหรอก โทษข่มขืนหนักสุดจำคุกเพียง 7 ปีเท่านั้น แต่หลังจากการเรียกร้องอย่างจริงจังทำให้ปี 2013 อินเดียกำหนดให้การข่มขืนได้รับโทษสูงสุดคือประหารชีวิต (คนไทยหลายคนคงดีใจกับชาวอินเดียด้วย)
เอ แล้วอัตราการข่มขืนลดลงมั้ยนะ รายงานการข่มขืนจากรัฐบาลอินเดียออกมาว่าในปี 2012 มีอัตราการข่มขืน(เฉพาะที่ได้รับรายงาน) 24,923 ราย ในขณะที่หลังจากมีโทษประหารเกิดขึ้นกลับมีอัตราการข่มขืนในปีถัดมา 33,707 ราย (ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอาจแปลว่าผู้หญิงอินเดียกล้าแจ้งความกันมากขึ้นก็ได้นะ)
4.ซาอุดิอาระเบีย : ปาหินใส่ให้ทรมานกันไปข้าง
ซาอุฯนับเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องความรัดกุมของผู้หญิงมาก ๆ ผู้หญิงซาอุฯห้ามขับรถไปไหนกับผู้ชายที่ไม่ได้เป็นญาติ ห้ามแต่งกายโชว์เนื้อหนังมังสา เปิดให้เห็นได้แค่ตาเท่านั้น เพื่อไม่ให้เป็นการกระตุ้นอารมณ์ทางเพศแก่ผู้ชายนั่นเอง แม้หลาย ๆ คนในไทยจะเคยคิดว่าถ้าผู้หญิงแต่งตัวไม่โป๊ก็จะไม่เกิดการข่มขืนขึ้นหรอก!
มินิมอร์เสียใจด้วยที่แม้ผู้หญิงจะปิดทุกส่วนจนเหลือแค่ลูกตาก็ยังถูกล่วงละเมิดอยู่ดี (มันน่าเศร้าใช่มั้ยล่ะ) เก้าสิบกว่าเปอร์เซนต์ของผู้ที่โดนข่มขืน โดนกระทำโดยญาติหรือคนใกล้ชิดของพวกเธอเอง
สำหรับโทษสุดโหดของที่นี่คือการปาหินจนกว่าจะทนพิษบาดแผลไม่ไหวแล้วเสียชีวิตลง (สยองจัง) แม้วิธีการลงโทษจะรุนแรงและสยองขนาดนี้ แต่ผู้หญิงจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศก็ไม่กล้าแจ้งความมากนัก เพราะมีหลายครั้งเหลือเกินที่แจ้งความแล้วผู้หญิงเหล่านั้นกับโดนลงโทษเสียเอง (เฮ้อ)
5.อิหร่าน : ล่วงละเมิดผู้อื่น โดนลงโทษถึงชีวิต
โทษประหารชีวิตสำหรับคดีล่วงละเมิดทางเพศก็ถูกนำมาใช้ในอิหร่านเช่นกัน เมื่อเทียบสัดส่วนคดีประหารชีวิตอื่น ๆ โทษประหารจากการข่มขืนมีมากถึง 10-15% แต่ผู้ก่อเหตุมักไม่ได้รับการลงโทษ อ้อ ไม่ได้เหมือนซาอุฯเสียทีเดียวนะที่ผู้หญิงไม่กล้าแจ้งความ แต่เป็นเพราะผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อส่วนใหญ่ไม่มีชีวิตรอดกลับมาแจ้งความเลยต่างหาก (คนทำผิดคงกลัวความผิดมากสินะ)
จากสถิติช่วงปี 2000 มีเหตุความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้น 30 ราย เหยื่อเสียชีวิตทั้งหมด และส่วนใหญ่จะโดนจุดไฟเผาบริเวณใบหน้าเพื่อไม่ให้ตำรวจตามจับได้ว่าเป็นใครมาจากไหน (ทำไมต้องรุนแรงกับเพื่อนมนุษย์ถึงขนาดนี้ด้วย)
ความรุนแรง การล่วงละเมิด เป็นความเจ็บปวดที่ไม่มีให้ใครอยากเกิดขึ้น โทษประหารจึงเป็นทางออกที่เรามักลงความเห็นกันว่าน่าจะดีที่สุดในการกำจัดคนชั่วออกไปจากโลกใบนี้ แต่ก็เหมือนทุกสิ่งที่มีทั้งด้านดีและไม่ดี ความเด็ดขาดของโทษประหารอาจสร้างความเจ็บปวดบางรูปแบบทิ้งไว้
ข้ามโลกกลับไปที่แดนมังกร นายฮักจิลตู ชายหนุ่มชาวจีนผู้ถูกตัดสินประหารชีวิตจากคดีข่มขืน เมื่อ 20 ปีก่อน แต่ศาลมาพบภายหลังว่าเกิดการจับกุมผิดตัว แต่เจ้าหน้าที่ทรมานให้เขายอมรับสารภาพ ชีวิตที่เสียไปของฮักจิลตูจึงต้องถูกสังเวยไปกับโทษที่เขาไม่ได้ก่อ แม่ของเขาก็ตกอยู่ในความโศกเศร้ามาตลอด 20 ปี
ในขณะที่อินเดียเริ่มมีโทษประหารสำหรับคดีข่มขืนในปี 2013 เจ้าหน้าที่ของรัฐพบว่าจากเดือนเมษายน 2013 ถึงเดือนกรกฎาคม 2014 มีผู้มาแจ้งความเท็จเกี่ยวกับการข่มขืนทั้งสิ้น 1466 จาก 2753 คดี (ถ้าเผลอตรวจไม่เจอสัก 4-5 คดี จะมีคนต้องโดนประหารฟรีไปกี่คนกันนะ)
สุดท้ายไม่ว่าเราจะสนับสนุนให้ข่มขืนมีโทษเท่ากับประหาร หรือสนับสนุนการทรมานยิ่งกว่าการประหาร ไปจนถึงไม่เห็นด้วยให้มีโทษประหารเลย ก็อย่าลืมศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน และถกเถียงกันด้วยข้อเท็จจริงอย่างมีสติล่ะ เพราะสังคมเราเต็มไปด้วยความรุนแรงรูปแบบต่าง ๆ มามากพอแล้ว หันมาหาทางออกด้วยเหตุผลและข้อมูลกันคงจะมีทางออกให้กับประเทศเพิ่มขึ้นอีกหลายทางเลยล่ะ
ที่มา : partners4prevention.org,ncrb.nic.in, quora.com,news.nationalgeographic.com,iamexpat.nl,ncrb.nic.in,mic.com