เลี้ยงผีดง ปู่แสะย่าแสะ
ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 7 ทุกปี ฤกษ์งามยามดี ของชาวตำบลแม่เหียะเมืองเชียงใหม่ ในการเชิญดวงวิญญาณของยักษ์ปู่แสะย่าแสะ ที่เชื่อกันว่าสถิตอยู่ในศาล ณ.ทางขึ้นวัดพระธาตุดอยคำ ไปร่วมงาน”เลี้ยงผีดง” ที่บรรพบุรุษใช้ศรัทธาสืบทอดความเชื่อ ดำรงพิธีกรรมนี้มายาวนานหลายชั่วอายุคน
หีบไม้สีน้ำตาลเข้ม ลงรักปิดทอง จากฝีมือของสล่าโบราณล้านนา บรรจุผ้าบฏโบราณอายุหลายร้อยปีวาดรูปแทนองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าของพระพุทธเจ้าหนึ่งในสิ่งศักดิ์ที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมจะถูกน้อมนำด้วยขบวนฟ้อนแห่ ไปยังลานเลี้ยงผีดง
ที่มา :
ตามตำนานความเชื่อที่สืบทอดกันมา เล่าว่าในอดีตกาลยักษ์ปู่แสะย่าแสะ เป็นยักษ์ดุร้าย คอยจับชาวบ้านกินเป็นอาหาร
เมื่อพระพุทธเจ้าทราบจึงเสด็จมาแสดงอภินิหารและสั่งห้ามไม่ให้กินเนื้อมนุษย์ แต่ยักษ์ต้องกินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร จึงร้องขอว่า ให้มนุษย์ฆ่าควายมาเซ่นสังเวย นั่นเป็นที่มาของพิธีกรรมความ”เลี้ยงผีดง”ที่สืบทอดมายาวนานผ่านกาลเวลามาหลายร้อยปี
อัศจรรย์แห่งผ้าบฏที่แก่วงไปมาทั้งที่ไม่มีกระแสลมพัดชาวบ้านเชื่อว่าเป็นปาฏิหาริย์จากความศักดิ์สิทธิของพระพุทธองค์ที่จะเสด็จมาดูการเลี้ยงผีดงทุกๆ ปี
ควายที่จะนำมาเป็นเครื่องสังเวย เลี้ยงผีดงนั้นตามตำนานกำหนดไว้อย่างเคร่งครัดว่าจะต้องเป็นควายรุ่น สีดำเพศผู้ ไม่เคยไถนา มาก่อน ที่สำคัญ หูและเขาจะต้องยาวเท่ากัน
หลังเสร็จสิ้นพิธีสงฆ์ ผียักษ์ปู่แสะย่าแสะจะเข้ามาประทับร่างทรง เพื่อรับเครื่องเซ่นสังเวยแห่งพิธีกรรมตามคำสัญญาที่มนุษย์ให้ไว้กับยักษ์
การฆ่าควายเพื่อเป็นเครื่องเซ่นสังเวยยังมีนัยความเชื่อแฝงเร้นถึงคำทำนายในชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่ผูกพันในวิถีเกษตร ปีนี้หัวของควาย ล้มไปทางทิศตะวันออก คำทำนายบอกว่าน้ำท่าจะอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บร้ายแรง ไม่มีพิธีกรรมใดจะดำรงอยู่ต่อได้ หากไร้ซึ่งแรงศรัทธาค้ำจุน
เช่นเดียวกันประเพณี เลี้ยงผีดง ผีปู่แสะย่าแสะที่ก้าวผ่านวันเวลามาด้วยแรงศรัทธาของชาวบ้านและความเชื่อของชุมชน