อย่าปล้น อย่ากดขี่ชาวบางกะเจ้า
บางกะเจ้า ได้ถูกกำหนดให้เป็น "ปอดของคนกรุงเทพ" มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ทำไมต้องยอมให้เป็นปอดของคนกรุงเทพ ถามคนบางกะเจ้าหรือยัง เอาไปพัฒนาที่ตนเองได้เงินมากกว่านี้ไม่ได้หรือ จะเอาไปทำปอด แล้วจ่ายชดเชยให้ชาวบางกะเจ้าไหม หรือถือวิสาสะส่งเดช!?!
ตามผังเมืองใหม่จังหวัดสมุทรปราการที่ประกาศใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 กำหนดให้ในพื้นที่บางกะเจ้า ห้ามใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อโรงงาน คลังน้ำมัน สถานที่บรรจุก๊าซ โรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมประเภทอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่ โรงมหรสพตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารประเภทอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่ การจัดสรรที่ดินทุกประเภท เว้นแต่การจัดสรรที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยวหรือการจัดสรรที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การอยู่อาศัย อาคารแสดงสินค้า และการประกอบพาณิชยกรรมประเภทอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่ ศูนย์ประชุม สวนสนุก เป็นต้น
ผมในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมือง ชี้ให้เห็นว่า หากจะรักษาให้พื้นที่นี้เป็น "ปอดของคนกรุงเทพฯ" การที่อนุญาตตามข้อ 6 ข้างต้น ให้สามารถ "จัดสรรที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยวหรือการจัดสรรที่ดินเพื่อเกษตรกรรม" ก็จะทำให้ที่ดินบริเวณเหล่านี้เปลี่ยนสภาพไปจากที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม จะมีการจัดสรรที่ดินกันมากขึ้น แนวคิดเดิมเรื่องการอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมก็จะหมดไป
ยิ่งกว่านั้นที่ระบุว่าให้สามารถ "ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการอื่น ให้ใช้ได้ไม่เกินร้อยละสิบของที่ดินประเภทนี้ในแต่ละบริเวณ" ก็เป็นข้อกำหนดที่กำกวม ในระยะเวลาที่ผ่านมาในเขตเมืองต่าง ๆ ก็ไม่เคยมีการสำรวจไว้ชัดเจนว่าได้มีการใช้เกินร้อยละสิบหรือยัง การกำหนดไว้เช่นนี้ อาจสร้างความสับสน และทำให้เกิดช่องโหว่ในทางกฎหมายได้
แต่ประเด็นสำคัญในเชิงหลักการก็คือ การ "เพ้อฝัน" ให้พื้นที่บางกะเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ เป็นพื้นที่ "ปอดของคนกรุงเทพฯ" นั้น เป็นแนวคิดที่ผิดมาแต่ต้น ทำไมที่ดินของคนบางกะเจ้า ต้องมา "บูชายัญ" เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น โดยตนเองไม่ได้รับประโยชน์
ตัวอย่างเช่น ในฝั่งยานนาวากรุงเทพมหานคร สามารถปลูกสร้างอาคารชุดพักอาศัยได้ ราคาที่ดินตกเป็นเงินไร่ละ 60 ล้านบาท (ตารางวาละ 150,000 บาท) หากให้ฝั่งบางกะเจ้าสามารถสร้างห้องชุดได้ ราคาที่ดินคงขึ้นไปถึง 40 ล้านบาท (ตารางวาละ 120,000 บาท) หรือราว 60% ของฝั่งกรุงเทพมหานคร เพราะเดินทางเข้าถึงได้ยากกว่า ถนนแคบกว่า เป็นต้น แต่โดยที่ไม่สามารถก่อสร้างอาคารเช่นนั้นได้ สามารถสร้างได้แต่อาคารขนาดเล็ก ๆ ราคาที่ดินอาจตกเป็นเงินเพียง เป็นเงินเพียงไร่ละ 24 ล้านบาท (ตารางวาละ 60,000 บาท) ดังนั้น หากจะให้พื้นที่นี้เป็น "ปอดของคนกรุงเทพฯ" ก็ควรให้กรุงเทพมหานครซื้อสิทธิหรือจ่ายค่าทดแทนไปให้กับชาวบ้านบางกะเจ้าไร่ละ 16 ล้านบาท (40 - 24 ล้านบาท) เพื่อคงพื้นที่นี้ให้เป็นพื้นที่สีเขียวถาวร
แต่การที่ไม่มีการจ่ายค่าทดแทน และทำให้ชาวบ้านเสียเปรียบในการใช้ที่ดิน และมีการดิ้นรนหาทางออกด้วยกรผ่อนกฎให้สร้างได้แต่บ้านเดี่ยวเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็ทำให้ "ปอดของคนกรุงเทพฯ" ไม่เหลือสภาพอีกต่อไปในอนาคต เป็นการแก้ไขปัญหาแบบไม่สิ้นสุด กลายเป็นวงจรที่หาทางออกที่ชัดเจนไม่ได้
การคงพื้นที่ให้เป็น "ปอดของคนกรุงเทพฯ" ยังอาจต้องทบทวนในอีกแง่หนึ่ง เช่น ในกรณีนครเซี่ยงไฮ้ ก็มีพื้นที่ขนาดใหญ่เช่นนี้ คือ "ผู่ท่ง" ซึ่งอยู่คนละฝั่งแม่น้ำกับ "ผู่ซี" หรือเขตนครเซี่ยงไฮ้เดิม ทางการจีนได้เวนคืนที่ดินที่เป็นเขตชนบทนี้มาพัฒนาเป็นมหานครเซี่ยงไฮ้ใหม่ กลายเป็นศูนย์ธุรกิจใหม่ในทันที ขณะนี้ที่นครโฮจิมินห์ซิตี้ก็กำลังทำแบบเดียวกันในพื้นที่อำเภอที่ 2 หรือ "ถูเทียม" ซึ่งอยู่ตรงข้ามใจกลางเมืองเดิม
สำหรับการรักษาพื้นที่สีเขียวนั้น ทั้งเซี่ยงไฮ้ และโฮจิมินห์ซิตี้มองว่านครก็ตั้งอยู่ใกล้ทะเลอยู่แล้ว เช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร ความจำเป็นเรื่อง "ปอด" คงเป็นเรื่อง "หลง" ไปมากกว่า แต่ในนครทั้งสองต่างก็ปลูกต้นไม้กันมากมาย จากที่ว่างขนาดใหญ่ที่จัดวางไว้ตามผังเมืองใหม่ และสร้างเมืองในแนวดิ่ง ประหยัดพื้นที่โดยไม่ต้องกลัวแออัด แนวคิดเช่นนี้ก็ได้ดำเนินการในสิงคโปร์ จนกลายเป็น "City in the Garden" หรือ "Garden City" ที่เน้นการสร้างอาคารสูงรายรอบด้วยพื้นที่สีเขียว
การวางผังเมืองของกรุงเทพมหานครจึงควรยืนบนฐานความคิดที่เป็นจริง ไม่ใช่แนวคิดแบบ "ดรามา" แบบเจ้าขุนมูลนายที่สักแต่จะสั่งส่งเดช กลายเป็นการบีฑาเจ้าของที่ดินซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงแต่อย่างใด เราควรจ่ายค่าทดแทนเพื่อรักษาพื้นที่สีเขียวไปเพื่อลูกหลาน โดยทุกคนต้องร่วมกันจ่ายโดยเฉพาะชาวกรุงเทพมหานคร ไม่ใช่ไปถือวิสาสะถือเอามาเฉยๆ นะครับ
**********************************************************