พระแก้วขาว สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านเมือง เป็นพระพุทธรูปคู่แฝดที่เคียงคู่มากับพระแก้วเขียวมรกต
“พระแก้วขาว”
บทความโดย: Guy Intarasopa
นับเป็นพระพุทธรูปสำคัญอีกองค์หนึ่งของล้านนาและล้านช้าง เป็นพระพุทธรูปคู่แฝดที่เคียงคู่มากับพระแก้วเขียวมรกต
พระแก้วขาวคือพระแก้วบุษยรัตน์ฯ หรือชื่อเต็ม ๆ ว่า พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่พระที่นั่งอัมพรสถาน ในพระบรมมหาราชวังของไทย
ความเป็นมาของพระแก้วขาวองค์นี้มีที่มายังไม่ชัดเจนนัก แต่จากพุทธลักษณะและพุทธศิลป์แล้ว น่าจะเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นโดยสกุลช่างล้านนาเช่นเดียวกับพระแก้วมรกต และเป็นพระแก้วขาวองค์ที่เคียงคู่กับพระแก้วมรกตอย่างแน่นอน (บางตำนานว่าพระแก้วขาวองค์ที่เคยประดิษฐานเคียงคู่กับพระแก้วเขียวคือพระเสตังคมณี วัดเชียงมั่น ซึ่งพุทธศิลป์เป็นสกุลช่างเมืองหริภุญชัย)
พระแก้วขาวนี้แกะสลักจากแก้วผลึกใส (แก้วบุษยาหรือบุษยารัตน์) หน้าตักกว้าง ๗.๕ นิ้ว สูง ๑๒.๕ นิ้ว ส่วนพระแก้วเขียวหรือพระแก้วมรกตนั้น หน้าตักกว้าง ๑๙.๓ นิ้ว สูง ๒๖.๔ นิ้ว
พระแก้วขาวนี้ประดิษฐานอยู่ ณ วัดเจดีย์หลวง นครเชียงใหม่ คู่กับพระแก้วเขียว (พระแก้วมรกต) ตั้งแต่สมัยพระเจ้าติโลกราช จนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๐๙๐ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ได้อัญเชิญทั้งพระแก้วเขียวและพระแก้วขาวองค์นี้ มายังนครเชียงทองหลวงพระบาง
สาเหตุแห่งการอัญเชิญพระแก้วทั้งสองมายังหลวงพระบาง
๑) ในปี พ.ศ.๒๐๘๘ ในยุคที่มหาเทวีจิระประภา ขึ้นนั่งเมืองชั่วคราวขณะว่างกษัตริย์ หลังพระสวามีคือพระเมืองเกษเกล้า ถูกลอบปลงพระชนม์ นครเชียงใหม่ เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง จนยอดเจดีย์ของวัดเจดียหลวงหักพังลงมา หลังจากนั้นพระเจดีย์ก็ถูกทิ้งร้างไม่ได้รับการบูรณะจนกระทั่งปัจจุบัน แผ่นดินไหวในครั้งนั้นคงได้ทำให้ศาสนสถานในวัดเจดีย์หลวงเสียหายรวมทั้งหอพระแก้วที่ประดิษฐานพระแก้วทั้งสององค์นี้ด้วย พระแก้วทั้งสององค์นี้คงได้นำไปประดิษฐาน ณ ที่ใดที่หนึ่ง หลังจากนั้นมหาเทวีจิระประภา คงได้ประทานพระแก้วทั้งสององค์นี้ให้พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชซึ่งเป็นพระนัดดา (หลานยาย) นำกลับไปหลวงพระบางด้วย
๒) พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช คงได้เล็งเห็นความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นหลังจากพระองค์เสด็จไปนครหลวงพระบาง เพื่อร่วมงานพระศพพระราชบิดา เพราะการเมืองของเชียงใหม่ในขณะนั้นก็ยังไม่สงบ จึงได้นำพระแก้วเขียวและพระแก้วขาวทั้งสององค์กลับไปด้วย จนภายหลังเมืองเชียงใหม่ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าอย่างยาวนานตั้งแต่ พ.ศ.๒๑๐๑
พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้นำพระแก้วทั้งสององค์ไปประดิษฐานไว้ที่วัดวิชุลราช นครหลวงพระบาง ตั้งแต่ พ.ศ.๒๐๙๑-๒๑๐๓ ภายหลังจากย้ายเมืองหลวงของอาณาจักรล้านช้างมายังนครหลวงเวียงจันทน์ ในปี พ.ศ.๒๑๐๓ พระแก้วเขียวและพระแก้วขาวทั้งสององค์ก็ถูกอัญเชิญมาไว้ที่นครเวียงจันทน์ด้วย
เรื่องราวต่อจากนี้ไปของพระแก้วขาวนั้นค่อนข้างจะลึกลับซับซ้อน ว่าพระแก้วขาวนั้นได้ไปปรากฏองค์แถบลาวตอนใต้ได้อย่างไร ความตามพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสานว่า
“ลุจุลศักราช 1086 (พ.ศ.๒๒๖๗) ปีมะโรง ฉศก มีพรานป่าคนหนึ่งนำความแจ้งต่อแสนท้าวพระยาว่า เห็นพรานทึงพรานเทือง ข่าบ้านส้มป่อย นายอน (คือที่เปนเมืองสพาดเดี๋ยวนี้) ได้พระแก้วผลึกมาเข้าใจว่าเปนรูปมนุษย์น้อย นายพรานเอาเชือกผูกพระสอให้บุตรลากเล่นจนพระกรรณ (หู) บิ่นไปข้างหนึ่ง ครั้นความทราบถึงเจ้าสร้อยศรีสมุทร จึงให้แสนท้าวพระยาไปเชิญรับพระแก้วผลึกแห่มาประดิษฐานไว้ ณ เมืองจำปาศักดิ์ มีการสมโภช 3 วัน แล้วให้พวกที่มาส่งพระแก้วนั้นตั้งอยู่บ้านขามเนิง เรียกว่า ข่าข้าพระแก้วมาจนบัดนี้ แลตั้งให้พรานทึง พรานเทือง เปนนายบ้าน ควบคุมพวกข่าบ้านส้มป่อย นายอนให้เปนส่วยขี้ผึ้งผ้าขาว ถวายพระแก้วต่อมา จนส่งพระแก้วลงมากรุงเทพฯ”
การที่พระแก้วขาวองค์นี้ไปปรากฏองค์ที่เมืองนายอน(เมืองสะพาดในปัจจุบัน) นั้นเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ว่าพระแก้วขาวนั้นได้ลงไปไกลขนาดนั้นได้อย่างไร มีความเป็นไปได้หลายอย่างคือ
๑) พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช นำพระแก้วขาวไปในราชการทัพที่เมืองรามลักองการ (อัตตะปือ) ด้วย ซึ่งเรื่องการศึกในครั้งนั้นเป็นเรื่องที่พระยานคร (เจ้าเมืองนครพนม) เพ็ดทูลหลอกลวงพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเพื่อหวังปลงพระชนม์พระองค์ จนพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชถูกลอบโจมตี ภายหลังสิ้นพระชนม์แถบลาวตอนใต้ พระแก้วขาวนี้คงได้มีผู้นำไปซ่อนไว้ภายในถ้ำ กระทั่งพรานทึงพรานเทืองไปพบเข้า
๒) ในช่วงที่นครเวียงจันทน์ เกิดเหตุวุ่นวายภายหลังพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชหายสาบสูญ หลังจากเสด็จไปปราบกบฏทีเมืองรามลักองการ เมืองเวียงจันทน์เกิดรำส่ำระสาย ขุนนางแย่งชิงกันเป็นใหญ่ พระแก้วขาวนี้คงได้มีเจ้านายชั้นสูงหรือบุตรธิดาพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้นำออกจากนครเวียงจันทน์ แล้วนำไปซุกซ่อนไว้ยังถ้ำดังกล่าว
ภายหลังจากที่เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร กษัตริย์อาณาจักรล้านช้างจำปาสัก ได้อัญเชิญพระแก้วขาวนี้ไปประดิษฐานในนครจำปาสักแล้ว พระแก้วขาวนี้ก็ได้ประดิษฐานเป็นศรีแก่นครจำปาสักเรื่อยมา
กระทั่งในปีพ.ศ.๒๓๒๒ อาณาจักรล้านช้างทั้ง ๓ อาณาจักรคือ อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางและอาณาจักรล้านช้างจำปาสัก ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของสยาม
สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ของสยาม ข้าหลวงสยามไปปลงศพเจ้าพระวิไชยราชขัตติยวงศา (เจ้าหน้า – เป็นเจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ลำดับที่ ๓) ที่เมืองนครจำปาสัก ในปี พ.ศ. ๒๓๕๔ ได้เห็นพระแก้วขาว จึงมีใบบอกมายังรัชกาลที่ ๒ ให้ทรงทราบ รัชกาลที่ ๒ จึงจัดเตรียมคนไปอัญเชิญพระแก้วขาวมายังกรุงเทพฯ และโปรดให้ช่างจัดหาแก้วผลึกที่เหมือนองค์พระซ่อมพระกรรณ (หู) ที่แหว่งไป ตลอดจนขัดองค์พระให้เงางามดังเดิม
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ.๒๔๐๔ โปรดให้ช่างทำเครื่องประดับองค์พระและฐานพระพุทธรูปใหม่ พร้อมทั้งฉัตรกลางและซ้าย ขวา แล้วตั้งการฉลองสมโภชในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และถวายพระนามพระแก้วขาวนี้ว่า “พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย” กับทั้งโปรดให้สร้างพระวิหารศิลาในพระบรมมหาราชวัง เป็นที่ประดิษฐาน พระราชทานชื่อว่า “พระพุทธรัตนสถาน”
ปัจจุบันพระแก้วขาวหรือพระแก้วบุษยรัตน์ฯประดิษฐานในพระที่นั่งอัมพรสถาน ในพระบรมมหาราชวังของไทย ส่วนพระกรรณ (หู) ที่แหว่งและได้ซ่อมแซมสมัยรัชกาลที่ ๒ ก็ได้หลุดหายไป พระกรรณด้านขวาขององค์พระจึงได้แหว่งดังที่เห็นในปัจจุบัน
บทความโดย: Guy Intarasopa
Yaovalak Weeruttanaset