ถ้าทานข้าวหมากมากๆ จะเมาได้ไหมค่ะ จัดว่าผิดศีลข้อ 5 หรือไม่
โดย รศ.ดร. แก้ว กังสดาลอำไพ ส่วนหนึ่งจากบทความ มหัศจรรย์ข้าวหนมไทย
ท่านผู้อ่านที่อายุเกินสี่สิบปีขึ้นไปคงพอรู้จักข้าวหมาก แต่ผู้อ่านที่อายุน้อยอาจนึกไม่ออก จึงขออธิบายสักนิดว่า ข้าวหมากเป็น อาหารหมักพื้นบ้านของไทย ทำจากข้าวเหนียว ทั้งข้าวเหนียวธรรมดา และข้าวเหนียวดำหรือแดง แต่ปัจจุบันมักไม่ค่อยเห็นข้าวหมากจากข้าวสียกเว้นข้าวเหนียวขาวเติมสีจากธรรมชาติต่างๆ
การทำข้าวหมากนั้นถือเป็นการถนอมอาหารวิธีหนึ่ง เนื่องจากยีสต์จะทำหน้าที่เปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นเอทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับจุลินทรีย์ที่ยังหลงเหลืออยู่ในอาหาร ทำให้จุลินทรีย์ไม่สามารถเพิ่มจำนวน ช่วยชะลอการเน่าเสียของอาหาร ดังนั้น การกินข้าวหมากจึงอาจเป็นการผิดศีลข้อ 5 เนื่องจากเสพของมึนเมา
ในการทำข้าวหมากต้องใช้ลูกแป้งข้าวหมาก ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนแป้งที่มีเชื้อราซึ่งสามารถสร้างน้ำย่อยกลุ่มอะมัยเลส (Amylase) ออกมาย่อยแป้งในข้าวเหนียวให้เป็นน้ำตาลซึ่งชาวบ้านบางแห่งเรียกว่า น้ำต้อย โดยในระยะแรก น้ำต้อยยังไม่ค่อยหวานแต่จะเริ่มหวานจัดประมาณวันที่ 3 ซึ่งถ้าหมักต่อไปจะมีกลิ่นเหล้าอ่อนๆ เนื่องจากยีสต์เริ่มเปลี่ยนน้ำตาลในข้าวหมากเป็น เอทิลแอลกอฮอล์ คราวนี้ถ้าไม่หยุดการหมักสิ่งที่ได้ก็จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่กินแล้วเมา และถ้ายังหมักต่อไปแอลกอฮอล์ที่ได้ก็อาจเริ่มเปลี่ยนเป็นน้ำส้มสายชู เนื่องจากในลูกแป้งมักมีเชื้อแบคทีเรียที่สามารถหมักน้ำส้มสายชูได้ ดังนั้นจึงควรเก็บข้าวหมากไว้ในตู้เย็นเมื่อหมักได้ที่แล้ว
ตามตลาดร้อยปีหรือตลาดโบราณต่างๆ น่าจะยังพอหาข้าวหมากห่อใบบัวกินได้ ในตลาดติดแอร์นั้นมักเป็นข้าวหมากใส่ภาชนะพลาสติกวางขาย ซึ่งมักไม่ค่อยอร่อย เพราะบางครั้งวางอยู่นานก็ไม่มีคนซื้อ จนต้องเลหลังซึ่งก็มักเป็นข้าวหมักที่ใกล้จะเป็นข้าวเน่าแทนแล้ว
ความจริงแล้วการนำข้าวเหนียวมาเปลี่ยนเป็นข้าวหมากนั้น เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านในการทำขนมหวานที่กินแล้วก่อให้เกิดความครึกครื้นได้พอประมาณ อีกทั้งในการหมักข้าวนั้น จุลชีพที่อยู่ในกระบวนการหมักจะประกอบด้วย “โปรไบโอติก (Probiotics)” จึงน่าจะทำให้ข้าวหมากมีลักษณะเป็นอาหารเสริมที่มีจุลินทรีย์มีชีวิต สามารถก่อประโยชน์ต่อร่างกายของผู้บริโภค ซึ่งดีกว่าการไปซื้อโปรไบโอติกผสมนมบรรจุขวดมากินเสริมของผู้รักสุขภาพ เพราะเป็นการแลกด้วยราคาที่แพงเกินสมควรสำหรับผู้บริโภคกระเป๋าเบา แต่ก็ยังดีกว่าผู้ที่ไม่กินเสียเลย
ที่สำคัญในข้าวหมากนั้นมีทั้งแอลกอฮอล์และน้ำตาลอยู่ด้วยกัน ดังนั้นความเมาจากข้าวหมากจึงอาจเมานานกว่าการดื่มเหล้าตามปรกติบ้างสำหรับคนคออ่อน
คงมีหลายท่านสงสัยว่าการกินเหล้าที่มีน้ำตาลหวานๆ ผสมไปด้วย เช่น การดื่มน้ำอัดลมผสมเหล้าทำไมจึงเมาได้เร็วและนาน คำอธิบายไม่ยากคือ ร่างกายมัวหันไปใช้พลังงานจากน้ำตาลก่อนเป็นอันดับแรก จนเมื่อน้ำตาลหมดจึงหันมาใช้แอลกอฮอล์เป็นสารให้พลังงาน ดังนั้นช่วงเวลาที่แอลกอฮอล์ออกฤทธิ์ให้ผู้ดื่มเมาจึงเร็วขึ้นและนานขึ้น ซึ่งพอใช้อธิบายได้เช่นกันว่า ทำไมกินข้าวหมากมากไปจึงเมาค้างได้นาน
เหตุนี้บรรจุภัณฑ์ใส่ข้าวหมากจึงน่าจะมีคำเตือนว่า “ควรบริโภคไม่เกินวันละสองห่อ เด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรบริโภค”
รบกวนผู้รู้หน่อยนะคะ
ขอบพระคุณ ค่ะ
สุราปานะ หรือ สุรา ในพระวินัยหมายถึง น้ำเมาที่มักดองเชื้อ มีแป้ง เป็นต้นชื่อว่าเป็นสุรา ถ้ามักดองด้วยดอกไม้ชื่อว่าเมรัย หากส่วนพืชอื่นก็เช่นกันถือว่าอยู่ในข่าย พระภิกษุบริโภคแม้ปลายหญาคา เปนปาจิตตีย ผิดพระวินัย
ส่วนการที่เป็นยาได้ ต้องผสมด้วยอย่างอื่น เช่นน้ำอ้อยงบ น้ำมัน มะขามป้อมเป็นต้น จนไม่มีสี ไม่มีกลิ่นและไม่มีรสสุรา
กรรมเกิดจากเจตนาครับ อยู่ที่เราว่าทานเพื่ออะไร ผมหวังว่าอ่านข้างต้นแล้วคงเข้าใจเรื่องสุรามากขึ้น ^^
เอ๊ะ! แต่ว่า จุลินทรีย์โปรไบโอติกส์ มันมีในนมเปรี้ยว ในโยเกิร์ตนี่ครับ หาง่ายกว่าข้าวหมากอีก ไม่ต้องเสี่ยงผิดศีลด้วย
แหล่งที่มา: http://variety.thaiza.com/มหัศจรรย์-ข้าวหมาก-/250232/
http://www.greenworld.or.th/columnist/goodlife/1707
http://pantip.com/topic/31717683
ภาพประกอบจากเพจ Viratt-chanee Pirinanan